วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร” แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนของคนในพื้นที่



       พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ตั้งอยู่บ้านกาเด็ง หมู่ที่ 7 ตำบลละหาร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยนายรัศมินทร์ นิติธรรม (ผู้ใหญ่มิง) เป็นผู้ก่อตั้ง ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับเยาวชนรุ่นหลัง โดยมีกิจกรรมให้เด็กในชุมชนช่วงปิดเทอม เช่น เรียนรู้เรื่องศิลปะป้องกันตัวท้องถิ่น เรียกว่า ซีละ หรือ การรำตารีอีนา ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 6 ห้อง ได้แก่ 
        ห้องที่ 1 ห้องภูมิหลัง จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยลังกาสุกะ
        ห้องที่ 2 ห้องเครื่องใช้ไม้สอย จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ ของชาวมลายูในชายแดนใต้ เช่น เครื่องทองเหลือง และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
        ห้องที่ 3 ห้องพิธีกรรม จัดแสดงแบบประเพณี พิธีกรรมของชาวมลายูในชายแดนภาคใต้ เช่น การแห่นก มะโย่ง และแม่พิมพ์ขนม
        ห้องที่ 4 ห้องสายน้ำ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์ การประกอบอาชีพ ประมงน้ำจืด ประมงน้ำเค็ม
        ห้องที่ 5 ห้องศาสตราวุธ จัดแสดงศาสตราวุธชาวมลายูในอดีต เช่น กริช ดาบ
        ห้องที่ 6 ห้องนันทนาการ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับนันทนาการของชาวมลายูในอดีต เช่น ที่ดักนกคุ่ม กรงตั๊กแตนประชันเสียง
พิพิธภัณฑ์เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-16.00 น. สอบถามข้อมูล โทร. 073-591222, 08- 9656 9957
การเดินทาง  ริมทางหลวงหมายเลข 42 นราธิวาส-บาเจาะ-ปัตตานี





      พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอ่าน ตั้งอยู่ ณ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส อยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสไปประมาณ 11 กิโลเมตร  เป็นที่รวบรวมเอกสารโบราณมีการรวบรวมคัมภีร์ไว้มากกว่า 70 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คัมภีร์อัล-กุรอ่านที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นของประเทศอียิปต์ นอกจากนี้แล้วยังมีตำรายา ตำราดาราศาสตร์และตำราต่างๆ ที่มีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกัน แต่เดิมนั้นชาวบ้านจะจัดเก็บคัมภีร์อัล-กุรอ่านไว้ตามบ้าน ไม่ได้นำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ กระทั่งกรมศิลปากรเข้ามาดูแล จึงร่วมกันรวบรวมคัมภีร์ตำราที่สำคัญมาซ่อมแซม โดยคัมภีร์อัล-กุรอ่านที่ชำรุดและไม่สามารถซ่อมแซมเองได้นั้น จะมีการจัดส่งไปให้ช่างที่ชำนาญการในประเทศตุรกีทำการซ่อมแซม
      ส่วนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ถาวร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง แต่มีการจัดพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ซึ่งจะนำคัมภีร์อัล-กุรอ่านมาหมุนเวียนจัดแสดงทุก 3 เดือน เปิดให้ผู้นำศาสนา และบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งสาเหตุที่ต้องนำคัมภีร์อัล-กุรอ่านมาตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เนื่องจากกลัวว่าคัมภีร์     อัล-กุรอ่านจะชำรุด และเสียหาย โดยในห้องพิพิธภัณฑ์จะต้องมีเครื่องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อการดูแลรักษา รวมถึงมีกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น