วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เสน่ห์ของจังหวัดชายแดนใต้ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่



       เสน่ห์ของจังหวัดชายแดนใต้ ก็คือ ความงดงามทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ และอยู่ร่วมกันมาช้านาน จนเกิดการผสมผสานกันทางศิลปะ โดยมีประจักษ์พยานที่เด่นชัดอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  ได้แก่ มัสยิดเก่าแก่อายุร่วมสามร้อยปีที่มีสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันระหว่างศิลปะไทยพุทธ และไทยมุสลิม มีชื่อว่า มัสยิดนัจมุดดีน หรือ บาโยลางา ตั้งอยู่ที่บ้านควนลังกา หมู่ที่ 4 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สุเหร่าแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับศาลาการเปรียญ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 2177


มัสยิดนัจมุดดีน จุดเริ่มเรื่องราวแห่งความผูกพัน
           ตำนานเล่าขานว่า ในสมัยนั้นมีการทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน เป็นที่มาของวีรกรรมผู้กล้าหาญ โต๊ะหยางหยิง แห่งบ้านบาโยลางา  ขณะนั้น โต๊ะหยางหยิงได้หนีภัยสงคราม และตกลงไปในเหวเป็นเวลาหลายวัน ภายหลังเมื่อเหตุการณ์สงบโต๊ะหยางหยิงได้รับการช่วยเหลือขึ้นจากเหว และต้องตกตะลึงเมื่อเห็นสิ่งที่โต๊ะหยางหยิงกอดไว้กับตัวโดยตลอด นั่นคือ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านที่จารึกด้วยลายมือเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งพระมหาคัมภีร์เล่มนี้ได้ประดิษฐานในมัสยิดแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนังสือคัมภีร์ที่เข้าเล่มแบบโบราณ ปกเป็นผ้าทอมือ และหุ้มด้วยหนังแกะ ชาวบ้านทรายขาวซึ่งพื้นเพเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากไทรบุรี มีทั้งไทยพุทธ และมุสลิมอยู่ร่วมกันมาช้านาน หลังจากสงครามในครั้งนั้นสงบลง ชาวบ้านทรายขาวทั้งไทยพุทธ และมุสลิมได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้น  โดยใช้ไม้แค และไม้ตะเคียนที่ใช้เชือกหวายลากลงมาจากภูเขา การสร้างมัสยิดแห่งนี้ไม่ได้ใช้ตะปูเลยแม้แต่ตัวเดียว โดยรูปแบบมีการออกแบบร่วมกันของชาวบ้านทั้งสองศาสนา ทำให้ออกมามีลักษณะคล้ายศาลาการเปรียญ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่า เจ้าอาวาสวัดทรายขาวก็มาร่วมออกแบบสร้างมัสยิด ทำให้มีการนำศิลปะแบบไทยมาใช้ด้วย นอกจากอาคารสิ่งก่อสร้างที่เป็นประจักษ์พยานแล้ว ยังมีถาดใส่อาหารของวัดอยู่ที่มัสยิดด้วย แสดงถึงในอดีตมีการหยิบยืมร่วมกันใช้ ช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน มัสยิดนัจมุดดีน จึงเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัวของศิลปะสองศาสนา แสดงให้เห็นความเป็นอยู่เชิงพหุวัฒนธรรมระหว่างชุมชนสองวิถีที่อยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี และให้เกียรติซึ่งกันและกันของประชาชนทั้งสองศาสนิก การสร้างมัสยิดแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากราชอาณาจักรลังกาสุกะ  เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีการละหมาด มีแต่รูปแบบอาคารคล้ายโบสถ์ในศาสนาพุทธ มีบ่อน้ำโบราณ และมีการใช้กลองตีเรียกคนมาละหมาดร่วมกัน แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้เป็นอย่างดี และในปัจจุบันได้มีการสร้างต่อเติมโดยใช้ศิลปะรูปแบบมลายู

แตกต่างแต่ไม่แบ่งแยก
        ในพื้นที่ตำบลทรายขาวมีประชาชนที่นับถือพุทธ และอิสลามอาศัยอยู่ร่วมกัน ความผูกพันของชาวทรายขาวมีมาตั้งแต่ครั้งอดีต และไม่เคยลดน้อยลงเลย เวลามีการจัดงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประชาชนทั้งสองศาสนิกจะมาร่วมงานซึ่งกัน และกัน เป็นการแสดงความแน่นแฟ้นไม่แบ่งแยกศาสนา ศาสนสถานที่สำคัญของชาวทรายขาวทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ล้วนเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ จะเห็นได้จากเวลามีกิจกรรมงานประเพณีการกวนขนมอาซูรอของชาวไทยมุสลิม ซึ่งต้องใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันกวนขนมคนละไม้คนละมือ ซึ่งก็มีทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิมมาร่วมด้วยช่วยกัน บางปีก็จัดที่มัสยิดนัจมุดดีน บางปีก็จัดที่วัดทรายขาว สลับกันไป ไม่เพียงแต่การกวนอาซูรอเท่านั้น แต่หากมีกิจกรรม และงานประเพณีต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาชาวบ้านทรายขาวก็จะทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักศาสนา และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในทุกๆ เดือน เช่น ในประเพณีชักพระของไทยพุทธ ชาวมุสลิมก็จะเอาข้าวปลาอาหารมาให้ชาวพุทธที่กำลังทำเรือชักพระ เด็กนักเรียนในชุมชนก็จะมาบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดบริเวณสถานที่ทั้งที่วัดทรายขาวและที่มัสยิดนัจมุดดีนสลับกันไป ไม่เพียงแต่กิจกรรมทางศาสนาหรือในวิถีชีวิต แม้แต่การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิก อบต. หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในแต่ละสมัยก็จะมีการผลัดเปลี่ยนกันของทั้งสองศาสนา ถ้าเป็นวาระที่เป็นของผู้นำที่นับถือศาสนาพุทธ พี่น้องมุสลิมจะไม่ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเลย แต่หากวาระนั้นเป็นของผู้นำที่นับถือศาสนาอิสลาม พี่น้องไทยพุทธก็จะไม่ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งเลยเช่นกัน ถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกัน และกันตามฉันทามติร่วมกันของชาวชุมชนทรายขาว


ชุมชนสองวิถี สันติสุขด้วยพหุวัฒนธรรม
นอกจากจะมีมัสยิดนัจมุดดีน และวัดทรายขาวที่เป็นสัญลักษณ์ของวิถีพหุวัฒนธรรม มีภาพวิถีชีวิตชุมชนสองวิถีที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นตามร้านน้ำชา สภากาแฟจะมีชาวบ้านสองศาสนามานั่งดื่มชากาแฟ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในตอนเช้า มีตลาดนัดชุมชนในยามเช้าที่คึกคักเต็มไปด้วยแม่ค้า และชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของกัน แสดงให้เห็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนทรายขาวได้เป็นอย่างดี และยังมีความสวยงามทางธรรมชาติที่สมบูรณ์งดงามจนขึ้นชื่อ รอผู้มาเยี่ยมเยียน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติของขุนเขาป่าไม้ที่สวยงาม เสียงน้ำตกกระทบแก่งหิน  สร้างบรรยากาศที่น่าหลงใหล ความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากจะเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน ยังช่วยเป็นเกราะกำบังให้กับชุมชนบ้านทรายขาวได้ห่างไกลยาเสพติด และไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดี  ความเป็นอยู่ของชาวทรายขาวแม้มีความต่าง แต่ทั้งสองศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี และอยู่อย่างไม่เบียดเบียนกัน คนมุสลิมภูมิใจในมัสยิด ชาวพุทธภูมิใจในวัด แต่ความต่างจะทำให้คนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้เกียรติซึ่งกัน และกัน สร้างความรักให้เกิดขึ้นในหัวใจ และอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม ความงดงามทางวัฒนธรรมยังได้ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังจากรุ่นสู่รุ่น พ่อแม่ปู่ย่าตายายล้วนปลูกฝังถึงความผูกพันที่มีร่วมกันมาแต่โบราณ สั่งสอนลูกหลานว่า  พุทธและอิสลามอย่าทิ้งกัน เพราะเราคือคนทรายขาวด้วยกัน ที่สำคัญเรายังมีองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงแน่ใจได้ว่า สันติสุขจะยังอยู่คู่กับชุมชนสองวิถีแห่งนี้อีกนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น