วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านกาลูปัง สร้างอาชีพเสริมให้ชาวสวนยางในพื้นที




      บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ที่เป็นนาร้าง รกร้างว่างเปล่า บริเวณ หมู่ที่ 1 ตำบลกาลูปัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านกาลูปัง ซึ่งมีการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยนายอาเซ็ง สะมะอิ กำนันตำบลกาลูปัง และนางพาตีเม๊าะ สะมะอิ เจ้าของแปลง ซึ่งมีเนื้อที่ ที่เป็นที่นาร้างว่างเปล่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ มีแนวคิด ที่จะนำชาวบ้านในหมู่บ้าน ที่ไม่มีที่ดินทำกินแต่มีความขยัน เข้ามาร่วมกันปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ โดยไม่มีการคิดค่าเช่าใด ๆ เมื่อมีผลผลิตก็สามารถนำเงินทั้งหมดไปเป็นรายได้ของครอบครัว โดยนายอาเซ็ง สะมะอิ ได้นำเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการขุดดินมายกร่องปรับพื้นที่ พร้อมสร้างโรงเรือนเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ให้ชาวบ้าน ใช้เวลากว่า 1 ปี จากเดิมพื้นที่ว่างเปล่า ปัจจุบันกลับกลายมาเป็นที่ดินทำมาหากินให้กับชาวบ้าน ในพื้นที่กว่า 10 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา ได้เข้ามาปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ขาย มีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว

       โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ ขายเนื้อ ชาวบ้านที่เข้าร่วมในกลุ่ม บอกว่า มีอาชีพตัดยาง รายได้ไม่ค่อยพอ และที่บ้านไม่มีที่เลี้ยงไก่ ก็ได้มาเลี้ยงไก่ที่นี่ เลี้ยงมา 2 รุ่น แล้ว รุ่น ละ 400 ตัว สามารถจับไก่ขายได้แล้ว มีรายได้ รุ่นละ 5,000-6,000 บาท ช่วยเหลือครอบครัว สำหรับการรวมกลุ่มแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีพื้นที่ ที่อยากจะหารายได้เสริมยามว่างให้กับครอบครัว

       ขณะที่ นายมะลาเซ็ง เจ๊ะอุเซ็ง ประธานกลุ่ม ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านกาลูปัง บอกว่า สถานที่แห่งนี้เป็น ศูนย์ ศพก.บ้านกาลูปัง ซึ่งกำนันเป็นเจ้าของแปลง มีพื้นที่กว้าง เกือบ 100 ไร่ เมื่อก่อนเดิมเป็นที่นาร้าง ทำนาได้บางส่วน ทำอะไรไม่ได้ ทางกำนันมีรถแบคโฮ รถขุด พร้อมอุปกรณ์ ก็ได้มาปรับเปลี่ยนสถานที่ให้ สร้างโรงเรือนต่าง ๆ พร้อมกับแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านที่อาสา ขยัน ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยจะมีทั้งการปลูกพืชผักต่าง ๆ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงโค เลี้ยงแพะ แล้วแต่ว่าชาวบ้านอยากจะปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์อะไร ไม่จำกัดเนื้อที่ แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน ใครขยันก็ได้มาก นอกจากนี้ ก็ยังพัฒนาพื้นที่ ที่บึงซะดือบอง เพื่อให้เป็นมุนอนุรักษ์แหล่งน้ำ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน สำหรับให้ชาวบ้านรวมทั้งนักเรียนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้ โดยจะจัดสรรพื้นที่มีทั้งห้องประชุม ศาลาริมน้ำ ขณะนี้ ก็อยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยมีเกษตรจังหวัดยะลา เกษตรอำเภอรามัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล จัดโซนแบ่งพื้นที่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมาให้ความรู้ อบรมชาวบ้านในด้านต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านให้ความสนใจกันมากขึ้น

สำหรับชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนา ตัดยาง บางคนทำนาไม่คุ้มก็ปล่อยให้ร้าง ก็ได้หันมาปลูกผัก มีรายได้ดีกว่า จากที่นาร้างทำอะไรไม่ได้ พอยกร่องขึ้นมาก็ปลูกผักขาย มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายในครอบครัว โดยการทำงานก็จะทำกันแบบครอบครัว ใครขยันก็มาทำได้เลย ปุ๋ยไม่ต้องซื้อมีให้หมดซึ่งมาจากโครงการต่าง ๆ รวมทั้งโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" โดยแต่ละเดือนก็จะมีการประชุมกลุ่ม ชาวบ้านก็จะเก็บพืช ผัก ปลามาร่วมรับประทานกัน ช่วยเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

     ส่วนตลาดในการขายผลผลิตนั้น ชุมชนบ้านกาลูปัง จะมีตลาดนัดเป็นประจำ มีร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้ง สถานที่ราชการ รองรับในการรับซื้อผลผลิต ซึ่งจะเป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมด รับประทานได้อย่างปลอดภัย ทั้งพืชผักสวนครัว พริก มะเขือ ผักบุ้ง กล้วย และอื่น ๆ โดยชาวบ้านจะหมุนเวียนเก็บผลผลิตไปขายเพื่อเป็นรายได้



-------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น