วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ข้าวหอมกระดังงา” ข้าวมหัศจรรย์อำเภอตากใบ



           แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตลองกองที่หอมหวาน อีกทั้งพื้นที่ส่วนมากแวดล้อมไปด้วยสวนยางพารา แต่เมื่อว่าด้วยการทำนาแล้ว จังหวัดนราธิวาสเองมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอันเลิศรสอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการไม่ด้อยกว่าที่ใดเช่นกัน เพราะชาวบ้านทำนา ปลูกข้าวมาช้านาน ดูได้จากชื่อบ้านนามเมืองอย่าง อำเภอสุไหงปาดี ซึ่งเป็นภาษามลายู โดย สุไหงแปลว่า แม่น้ำ ลำคลองทางด้าน ปาดีแปลว่า ข้าวเปลือกมีความหมายว่า แม่น้ำที่ลำเลียงข้าวเปลือกปัจจุบันหากใครมีโอกาสไปเยือนในช่วงพลับพลึง เป็นได้เห็นทุ่งนาเหลืองอร่ามงามตา แม้จะเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว แต่ อ.สุไหงปาดี มิใช่พื้นที่ที่ทำนามากที่สุด เพราะอันดับหนึ่ง คือ อ.ตากใบ อันเป็นแหล่งกำเนิดข้าวพื้นเมืองที่ใครได้ลิ้มรสแล้วเป็นติดใจ นามว่า ข้าวหอมกระดังงา


            เพราะมีกลิ่นหอมดุจดอกกระดังงา จึงทำให้ข้าวหอมพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของชาวอำเภอตากใบ อันมีผิวสีแดง เนื้อนุ่มนี้ ถูกขนานนามว่า ข้ามหอมกระดังงาด้วยลักษณะพิเศษอย่างที่ยกมา ชาวบ้านจึงนิยมปลูกไว้เพื่อหุงนำไปถวายพระสงฆ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังสงวนไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอีกด้วย
            ข้าวหอมกระดังงา ไม่เพียงมีรสนุ่มลิ้น กลิ่นหอมชวนตักเข้าปากเคี้ยว ในทางโภชนาการนั้น รายงานของสำนักงานเกษตรอำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาส ระบุว่า อุดมไปด้วยวิตามินอี, วิตามินบี 1 และมีสารกาบา (GABA) ถึง 27.25 ฉะนั้นการรับประทานข้าวหอมกระดังงาเป็นประจำ จึงช่วยให้แลดูอ่อนกว่าวัย, การทำงานของระบบประสาทและหัวใจมีประสิทธิภาพ, ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ และช่วยควบคุมน้ำหนัก ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้น่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจคนหนุ่มคนสาวในสมัยนี้ดีทีเดียว  นอกจากคุณค่าทางโภชนาการหลักๆ แล้ว พบว่าหากรับประทานในแบบข้าวกล้อง ข้าวหอมกระดังงาจะให้แคลเซียม และธาตุเหล็กที่สูงมาก โดยจะมีปริมาณสังกะสีมาก หากรับประทานในแบบข้าวกล้องงอก
             เพราะความโดดเด่นของข้าวหอมกระดังงา ที่ใครได้ลิ้มลองแล้วเป็นต้องร้องถามราคาเพื่อซื้อติดมือไปบริโภคต่อ หรือฝากคนรู้ใจ ส่งผลให้ชาว อ.ตากใบ ซึ่งเดิมทำนาปลูกข้าวเพื่อเน้นบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ต่อเมื่อมีเหลือจึงนำออกจำหน่าย ต้องขยายพื้นที่ และรวมกลุ่มกันผลิตข้าวหอมกระดังงาขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตลาด สิ่งนี้มิใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ได้ทำลายวัฒนธรรมความเป็นอยู่ แต่เป็นสิ่งดีที่ทำให้ชาวบ้านที่ยังคงยึดวิถีชาวนาได้รวมกลุ่มสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างมั่นคง อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผืนนากว่า 5,000 ไร่ ของ อ.ตากใบ ซึ่งถูกทิ้งร้างไปนาน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


            จากเรื่องราวทั้งหมด กล่าวได้เต็มคำว่า ข้าวหอมกระดังไม่เพียงใช้รส ใช้กลิ่น ดึงผู้คนให้หันมาบริโภคข้าวดีมีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังสร้างความสามัคคี นำพาวิถีชาวนาจังหวัดนราธิวาสให้กลับมายิ้มแย้มอีกครั้งด้วย เพราะเมื่อข้าวหอมกระดังงาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ชาวนาก็คิดหาทางลดต้นทุนการผลิต ด้วยการพึ่งพาเกษตรอินทรีย์ รวมกลุ่มการเกษตร รื้อฟื้นวัฒนธรรมดั้งเดิม อาทิ การสวดนา การลงแขกเกี่ยวข้าว การแห่กำข้าวใหญ่ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การปักทางมะพร้าวไว้เพื่อให้นกเค้าแมวมาเกาะช่วยในการกำจัดหนูนา หรือการใช้ต้นพาหมี (หางไหล) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นมาหมักเพื่อใช้ฉีดพ่นป้องกัน และกำจัดหนอนในนาข้าว เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมกระดังงานั้นแตกรวงออกมาเป็นชีวิตที่งดงามจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น