วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“วัดถ้ำตลอด” ตำนานพระพันปี...สัมผัสความงามใต้ซอกหิน จ.สงขลา


วัดถ้ำตลอด” ตำนานพระพันปี...สัมผัสความงามใต้ซอกหิน จ.สงขลา

           วัดถ้ำตลอด สงขลา ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำตลอด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย ห่างจากที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อยประมาณ 25 กม. ตามถนนสาย รพช. (ต.สะบ้าย้อย-เขาแดง) วัดถ้ำตลอด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บริเวณวัดมีถ้ำสวยงามมาก เรียกว่า ” ถ้ำตลอด ” เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ผ่านทะลุออกไปอีกฟากหนึ่งของภูเขา บริเวณถ้ำมี 3 คูหา มีพระพุทธรูปเก่าแก่ สร้างด้วยไม้โบกปูนซีเมนต์ มีอายุหลายร้อยปีวัดแห่งนี้ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2219 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2275 เป็นที่เคารพนับถือของราษฎรโดยทั่วไป มีพระพุทธรูปปางสมาธิ ปางไสยาสน์ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ประมาณ 100 องค์ และปากถ้ำมีรูปยักษ์ขนาดใหญ่ สูง 6 เมตร สำหรับบริเวณถ้ำมีอากาศร่มรื่นเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ








พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดถ้ำตลอด สงขลา ประวัติความเป็นมา


ตามประวัติวัดได้บันทึกไว้ว่าวัดถ้ำตลอดนี้มีมาก่อน พ.ศ. 2219 ตามตำนานเล่าว่า วัดนี้ชาวไทยมุสลิมชื่อโต๊ะหยัง ซึ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นผู้สร้างขึ้น ในอดีตวัดนี้เคยมีโบราณสถานวัตถุศิลปวัตถุที่สำคัญภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานภายในถ้ำตลอด
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีวัฒนธรรม มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำ สิ่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียน
  1. โบสถ์หน้าถ้ำ
  2. พระพุทธรูปปางไสยาสน์, นั่ง
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ 25 กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

การเดินทางไปยัง วัดถ้ำตลอด สงขลา

  • สถานที่ตั้ง : เลขที่: 10/1 อำเภอบ่อยาง ตำบลเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รหัสไปรษณีย์: 90000
  • รถส่วนตัว : จาก อ.เทพา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4085 ไปทาง อ.สะบ้าย้อย ผ่านสี่แยกลำไพล ขับตรงไปจนถึงสี่แยกป้อมตำรวจ(สะบ้าย้อย) ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4095 ตรงไปเรื่อยๆ ผ่านบ้านคูหา บ้านไร่ ไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าวัดอยู่ซ้ายมือ
  • รถประจำทาง : ให้ขึ้นรถสายหาดใหญ่-ยะลา

น่าสนใจ น่าแวะภายใน วัดถ้ำตลอด สงขลา














              ถ้ำตลอด เป็นถ้ำหินปูน เมื่อขึ้นบันไดไปยังคูหาแรก จะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ เพราะบรรยากาศโดยรอบไม่มีการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ทางวัดมีธูปเทียนไว้สำหรับนมัสการพระพุทธไสยาสน์ด้วย
                หากเดินต่อไปจะถึงอีกคูหาหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยองค์ ตั้งเรียงรายตลอดทางเดนภายในถ้ำ แต่ละองค์มีขนาดและปางต่างกัน มีทั้งปางสมาธิ ปางไสยาสน์ ปางห้ามญาติ เป็นต้น หากเดินลึกเข้าไปอีกจะไปทะลุที่ทางออกอีกทางหนึ่ง


เครดิตภาพ:คุณต้อม รัตภูมิ

สวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “สวนแม่ สวนลูก”ปัตตานี


พระราชดำรัสในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 
นับเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แล้ว ที่ชาวปัตตานีได้อาศัยสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์แห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นศูนย์รวมความสุขของครอบครัว เป็นที่พบปะสังสรรค์ของมิตรสหาย และเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติ ที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก ณ ที่แห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของชาวปัตตานี บ้านที่ประกอบด้วย ความรัก ความอบอุ่น และความจงรักภักดี สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี เป็น 1 ใน 12 สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาส ที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา เมื่อปี พุทธศักราช 2523 เป็นสวนสาธารณะประจำเขตการศึกษา 2 และเป็นสวนแห่งเดียวที่อยู่ติดชายทะเล ที่มีทัศนียภาพงดงามแตกต่างไปจากสวนอื่น ๆ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี เป็นสวนที่ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง และพัฒนายาวนานกว่า 10 ปี


เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และความศรัทธาของชาวปัตตานี จึงทำให้สวนแห่งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นสวนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของพื้นที่เขตการศึกษา 2 ในปัจจุบัน สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี ได้ดำเนินการก่อสร้างด้วยความร่วมมือร่วมใจ ของภาคราชการ องค์กรภาคเอกชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวปัตตานี โดยมีเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินงานจัดสร้าง โดยเริ่มดำเนินการสร้างเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527 ณ บริเวณ หมู่ที่1 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ครอบคลุมพื้นที่ 155 ไร่ ทางด้านทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมทะเล หลากหลายด้วยพรรณไม้ และสัตว์น้ำนานา ชนิดต่าง ๆ เดิมมีพื้นที่ประมาณ 155 ไร่ แต่เนื่องจากแผ่นดินได้งอกไปสู่ทะเล ทำให้พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี มีมากขึ้นตามสภาพการเพิ่มของดิน


เมื่อการก่อสร้างสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี แล้วเสร็จ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2537 ต่อมาคณะกรรมการบริหารมูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี เห็นควรให้จัดสร้างพระราชานุสรณ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ประชาชนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี ที่ทรงเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำพระวรกาย อุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งมวลอย่างหนัก ตลอดพระชนมายุของพระองค์ เพื่อประโยชน์สุข และความร่มเย็นของเหล่าปวงประชาชาวไทย จังหวัดปัตตานีจึงได้อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาประดิษฐาน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี เพื่อให้ประชาชนชาวปัตตานี และผู้มาเยือน ได้สักการะสืบไป นับตั้งแต่มีการก่อสร้างสวนแห่งนี้ และได้มีพิธีเปิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีผู้คนต่างเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่พระราชทานไว้ทุกประการ


ปัจจุบัน สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี ได้รับความสนใจจากประชาชนในแต่ละวันเป็นจำนวนอย่างมาก สถานที่แห่งนี้ จะคราคร่ำไปด้วย ผู้คน ที่พากันมาหาความสุขทั้งทางกาย และทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายรับอากาศบริสุทธิ์ เพลิดเพลินกับแสงอาทิตย์ยามเช้า และ ยามเย็น หรือ รับประทานอาหารท่ามกลางธรรมชาติ ที่สวยงาม ภายใต้ความอบอุ่นของครอบครัว เด็ก ๆ ได้สนุกสนานกับสวนน้ำขนาดใหญ่ คุณแม่บ้าน ได้ออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ ทั้งแอร์โรบิก ไทเก๊ก คุณพ่อบ้านได้เพลิดเพลินกับต้นไม้หลากชนิด สวนสมเด็จฯ จึงเปรียบเสมือนบ้านที่ให้ความสุขแก่ทุกคนในครอบครัวอย่างครบวงจร ณ สถานที่แห่งนี้ ยังเป็น ที่หล่อหลอมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศาสนาเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ด้วยพระบารมีปกเกล้า ฯแห่งองค์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี จึงทำให้ ทุกชีวิตที่นี่ อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสวนสมเด็จ ฯ คือ นอกจากจะเป็นสวนสาธารณะที่อยู่ติดชายทะเลแล้ว ความร่มรื่นของพฤกษานานาพันธ์ ก็เป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้มาเยือนได้ไม่น้อย ต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี คือ ต้นสารภีทะเล นอกจากจะให้ร่มเงาแล้ว ต้นสารภีทะเล ยังเป็นสมุนไพร ที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี สวนบกที่ชาวปัตตานีภาคภูมิใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่เคียงข้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ที่ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนก สององค์คู่ฟ้า ประทับอยู่เคียงคู่กัน เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวปัตตานียิ่งนัก จากแม่สู่ลูก พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ยังคงเป็นที่ประจักษ์แก่ผองชนชาวไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอุทิศพระองค์ ตรากตรำพระวรกาย ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันอำนวยประโยชน์แก่ปวงชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชกิจต่าง ๆ ที่ทรงดำเนินการไว้ทั่วทุกภาคของประเทศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำเนินสืบสานต่อ อันเป็นที่ประจักษ์ยิ่ง


ต่อปวงชนชาวไทยตลอดมา เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคล ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 พสกนิกรชาวไทยต่างมีความชื่นชมโสมมนัสเป็นล้นพ้น และต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ฯ ร่วมกับจังหวัดปัตตานี เทศบาลเมืองปัตตานี จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้น เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้รับการพัฒนาทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับภูมิทัศน์ป่าชายเลน และเสริมสร้างจังหวัดปัตตานีให้ร่มรื่น เป็นการดำเนินงานตามแนวพระราชประสงค์แห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงห่วงใยในประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยอีกทางหนึ่ง โครงการก่อสร้างสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา โดยชาวปัตตานีทั้งมวลได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาความรู้ด้านพฤษศาสตร์ พันธ์ไม้ป่าชายเลน เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ร่มรื่นสวยงาม เป็นที่พบปะสังสรรค์ ในการจัดทำกิจกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีสถานทีท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เมื่อสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ฯ แห่งนี้แล้วเสร็จ ทำให้สภาพภูมิทัศน์ของพื้นที่บริเวณสวนสมเด็จฯมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม สมบูรณ์แบบ และ ทำให้จังหวัดปัตตานี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้ประชาชนทั่วไป มีจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อราชวงศ์จักรี และทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศยิ่งขึ้น สวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ฯ ก่อสร้างขึ้นในบริเวณสวนป่าชายเลน มีขนาดพื้นที่ 147 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา


บริเวณพื้นที่ติดกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ มูลนิธิสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ฯ จังหวัดปัตตานี และเทศบาลเมืองปัตตานี ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 31,982,000 บาท ซึ่งได้รับจาก เงินอุดหนุนเฉพาะกิจจังหวัดชายแดน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 14,217,000 บาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วงเงิน 12,123,000 บาท และเงินงบประมาณเทศบาลสมทบ วงเงิน 5,342,000 บาท และได้ดำเนินการก่อสร้างพลับพลาที่ประทับ ป้ายสวนสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ ในวงเงิน 1,000,000 บาท และปรับปรุงถนนราดยางแอสฟัลต์ติก คอนกรีต ด้านหน้าสวน ทางเข้า ซ้าย ขวา ในวงเงิน 2,000,000 บาท โดยมูลนิธิสวนสมเด็จฯ สบทบ 300,000 บาทระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 ภูมิทัศน์ภายในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ฯ นี้ประกอบด้วย พลับพลาที่ประทับ ป้ายสวน สระน้ำขนาดใหญ่รอบสวน ลานจอดรถอาคารบริการห้องน้ำชาย หญิง 2 หลัง ศาลาซุ้มทางเข้า 2 หลัง ศาลาซุ้มพักผ่อน 7 หลัง ศาลาหอคอยชมวิว 1 หลัง ท่าเรือ และศาลา 1 หลัง ลานอเนกประสงค์ 3 หลัง ทางเดินชมธรรมชาติรอบสวนและ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างความสวยงามและเสน่ห์ของสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ แห่งนี้คือความงามจากธรรมชาติ ที่ประกอบด้วยแมกไม้นานาพันธ์ ชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่กับป่าชายเลน พันธ์ไม้ในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ฯ มีมากมายเช่น ต้นโกงกาง ต้นจิกทะเล (มุจรินทร์ทะเล) ต้นสารภีทะเล ต้นโพธิ์ทะเล ต้นพญาสัตบรรณ และอื่น ๆ ส่วนสัตว์น้ำที่มีได้แก่ ปลานิลจิตรัชดา ปลาทับทิม ปลากะพง ปลานิลแดง ปูทะเล และกุ้งกุลาดำ บัดนี้

ขนมเหนียว/ตือปงปอลี ขนมที่มีแต่ในแถบ จ.ชายแดนใต้



ขนมเหนียว ถ้าเป็นแถบชายแดนใต้ จะเรียก ตือปงปอลี 
เป็นขนมประกอบด้วย แป้ง มะพร้าว น้ำตาล และข้าวคั่ววิธีการทำไม่ยุ่งยากใช้เวลาไม่นานก็ได้ทานเด็กๆสามารถช่วยทำได้(ช่วยปั้นหรือคลึงแป้ง)เนื่องจากขนมมีแป้ง และน้ำตาล ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหารมากนัก ดังนั้น เราจึงดัดแปลงเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ขนมด้วยการ ใช้ผัก หรือธัญพืชมาประกอบในการทำด้วย 


ที่โพสไว้นี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางในการทำไม่ใช่มาตรฐานสากลสามารถดัดแปลงเครื่องประกอบได้ตามชอบเราทำปริมาณเพียงพอสำหรับทาน ๑ - ๒ ที่ เหมาะสำหรับคนหัดทำ หากผิดพลาดจะได้ไม่เสียของมาก หากใครต้องการทำมากๆ เพิ่มสัดส่วนเอาเอง

"ขนมบูงอ"หรือ ขนมดอกไม้ ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม จ.ชายแดนภาคใต้


ขนมบูงอ เป็นขนมที่นิยมใช้รับประทานในเทศกาลถือศีลอดตอนเปิดปอซอของพี่น้องชาวไทยมุสลิม 
ส่วนผสม/สูตรอาหารประกอบด้วย 1. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม 2. น้ำ 1 ถ้วยตวง 3. มันเทศ 1/2 กิโลกรัม 4. ไข่ไก่ (สำหรับชุบนนม) 10ฟอง 5. น้ำตาลเหลว (น้ำจิ้ม) 1/2 กิโลกรัม 6. น้ำมันพืช (สำหรับทอด) 1 กิโลกรัม 4.ขั้นตอนวิธีทำ 1.นำแป้งข้าวเหนียว มันเทศ (ต้มแล้วปอกเปลือกมาตำให้ละเอียด) 2.นวดผสมรวมกันแล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ พอคำ บี้ให้แบนแล้วนำไปชุบไข่ (ซึ่งตึให้เข้ากันดีแล้ว) 3.ทอดในน้ำมันที่ร้อน จนสุกเหลือง ตักใส่ภาชนะให้สะเด็ดน้ำมัน เวลารับประทานจิ้มกับน้ำตาลเหลวสดที่จัดเตรียมไว้


"ขนมบูงอ" หรือเรียกง่ายๆ คือขนมดอกไม้ ส่วนผสมประกอบด้วยแป้งข้าวเหนียว มันเทศต้ม แล้วมาขยี้ผสมรวมกับแป้ง ใส่น้ำเกลือนิดหนึ่ง นำมานวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ นำไปชุบไข่แล้วทอดในน้ำมันร้อนๆ น้ำมันจะต้องท่วมตัวขนม ทอดจนกว่าจะลอยขึ้นแล้วตักมาสะเด็ดน้ำมัน รับประทานพร้อมกับน้ำเชื่อม ซึ่งก็หนีไม่พ้นน้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายแดงก็ได้) เป็นพระเอกหลัก และน้ำตาลแว่น เคี่ยวให้เหลว เวลารับประทานเอาขนมมาจิ้มกับน้ำตาล รสชาติหวานมันดีค่ะ



วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วัดพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล(วัดเขากง)


ในจังหวัดนราธิวาส มีวัดที่น่าเที่ยวอยู่หลายแห่ง อย่างวัดชลธาราสิงเห อ.ตากใบ ก็มีโบราณวัตถุมากมาย อุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่สวยงาม  อีกทั้งยังเป็นวัดสำคัญที่ช่วยพิทักษ์ดินแดนไทยไว้ด้วย ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น เอาไว้เล่าตอนไปเที่ยววัดชลฯ ในคราวหน้า เพราะครั้งนี้ผมจะพาไป ‘วัดเขากง’ ณ ‘พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส’
กล่าวสำหรับพุทธมณฑล นอกจากส่วนกลาง คือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้ว ในประเทศไทยมีพุทธมณฑลภูมิภาคอีก 9 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสพุทธมณฑล อีก 8 แห่ง คือ ได้แก่ พิษณุโลก, นครสวรรค์, สมุทรสาคร, ลำปาง, พะเยา, นครพนม, ขอนแก่น และเพชรบุรีพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส สร้างขึ้นในปีงบประมาณ 2549 เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เพื่อสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรม แสดงธรรม และประชุมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตั้งอยู่ ต.ลำภู อ.เมือง

อาจมีคนสงสัยว่า ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แล้วไยพุทธมณฑล จึงมาตั้งอยู่นราธิวาส เหตุผลนี้ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ แต่ถ้าย้อนประวัติความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาแล้ว ก็ไม่นึกแปลกอะไรอย่างที่เรารู้กันดีว่า ปัตตานีซึ่งอยู่บนคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองท่าสำคัญเมื่อครั้งอดีต แต่กว่าจะเจริญรุ่งเรือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องเคยเป็นที่รกพง และมีชาวป่า (โอรังอัสลี หรือซาไก) อาศัยมาก่อน ที่สำคัญมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดพ่อค้าจากจีน และอินเดีย ล่องเรือมาเจอ ยังอุทานออกมาว่า โอ้! ‘แผ่นดินทอง’…นานวันผ่าน พ่อค้าอินเดียได้นำศาสนาฮินดู และวัฒนธรรมเข้ามาเผยแผ่ ชนพื้นเมืองที่เคยนับถือผี จึงหันมานับถือศาสนา และคำสอนตามคติ พราหมณ์ หลังจากนั้นอินเดียได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีหลักฐานเกี่ยวกับการสร้างวัด พระพุทธรูป มากมายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ในถ้ำคูหามุข จ. ยะลา หรือพระพิมพ์ดินดิบ ที่ชุมชนโบราณยะรัง จ.ปัตตานี เป็นต้น ด้วยแรงศรัทธาของศาสนา หลังจากศาสนาพุทธรุ่งเรือง พ่อค้าชาวอาหรับ ก็ได้นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาเผยแผ่ และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
วัดเขากง ถือเป็นใจกลางพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธมากว่าพันปี ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง นาม ‘พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล’พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งประทานพรที่สวยงาม และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างตามแบบพุทธศิลป์สกุลช่างอินเดียใต้ (แบบขนมต้ม) หน้าตักกว้าง 17 เมตร มีความสูงจากใต้พระเพลา ถึงพระเกศบัวตูม  23 เมตร ประดับด้วยโมเสดสีทองทั้งองค์ เริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2509 แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมบรรจุดินจากสังเวชนียสถาน คือ ดินจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระอุระเบื้องซ้ายพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2513 สาเหตุที่ชื่อวัดเขากง ก็เพราะตั้งอยู่บนเขากง และสาเหตุที่ไปตั้งวัดบนเขากง ก็เพราะว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพุทธสถานมาก่อน มีหลักฐานที่เป็นซากโบราณสถานอันเป็นส่วนประกอบของเจดีย์พร้อมทั้งเศียรพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายาน รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย จากหลักฐานเหล่านี้ ผู้รู้สันนิษฐานว่า พุทธสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 ผ่านมาพันกว่าปี กระทั่ง พ.ศ.2542 พุทธสถานแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเป็นวัดเขากง โดยหลวงพ่อปอเลาะห์ ซึ่งก็เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด กระทั่งถึง พ.ศ.2435 วัดเขากงก็ต้องกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากหลวงพ่อปอเลาะห์ได้ออกธุดงค์และมรณภาพที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทำให้ขาดพระสงฆ์อยู่จำพรรษา ก็ร้างอยู่ราว 60 ปี วัดเขากงจึงได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2495 และกลายเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนจวบจนทุกวันนี้มีเรื่องเล่าอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับเขากง สาเหตุที่เรียกว่า เขากง นั้น เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นภูเขาตั้งเรียงกัน 3 ลูก มองไกลๆ คล้ายคางคกภูเขา (ขนาดใหญ่กว่าคางคกปกติมาก แถมดุด้วย ดุชนิดที่กินงูเป็นอาหารเลยละ) คางคกประเภทนี้ คนใต้เรียก ‘กง’ยังไม่จบเรื่องกง เจ้าคางคกยักษ์นี่ ภาษาถิ่นนราธิวาส หรือเจ๊ะเห เรียกว่า ‘กงกง’ ถือเป็นสัตว์มงคล หากเข้าบ้านใคร เขาจะไม่ไล่ แต่จะเลี้ยงดูอย่างดีเลย หากนึกไม่ออกว่าตัวมันเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึง อุทัยเทวี
เชื่อว่า ผู้อ่านคงเกิดคำถามว่า เอ! เจ้าอาวาสองค์แรกชื่อท่านคล้ายจะเป็นอิสลามิกชนนา ไหง๋มาบวชเป็นพระได้ ใช่แล้วครับ เดิมท่านนับถือศาสนาอิสลาม! มีประวัติเล่าหลายสำนวนแต่ก็คล้ายๆ กัน จึงขอนำมาเล่าให้อ่านเพียงสำนวนเดียว ดังนี้

“ท่านเป็นคนนราธิวาส วันหนึ่งได้เดินไปในป่า พบเสือเบงกอลใหญ่จะเข้ามากัด ด้วยตกใจ ท่านซึ่งตอนนั้นเป็นมุสลิม จึงร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นึกได้ทั้งหมด ทั้งพระเจ้า ทั้งเทวดา กระทั่งหลุดปากออกมาว่า ถ้าเสือไม่กินท่าน ท่านจะบวชเป็นพระ เท่านั้นแหละ เสือก็เลยหายไป พอกลับบ้าน ท่านก็ฝันว่า เสือมาถามว่า เมื่อไหร่จะบวช ท่านก็เลยไปบวช”
การนำประวัติหลวงพ่อปอเลาะห์มาเล่า ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากเล่าให้ครบกระบวนความเท่านั้น และประวัติก็นำมาจากแหล่งข้อมูลที่พอหาได้ ซึ่งผมได้มาจากเว็บไซต์ของประเทศมาเลเซีย ที่เพื่อนส่งต่อมาให้


ประวัติหลวงพ่อปอเลาะห์
ภายในวัดเขากง นอกจากพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเขาลูกที่ 1 แล้ว ยังมีปูชนียวัตถุ-สิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ
1. พระอุโบสถ รูปทรงศิลปะไทย สวยงามแปลกจากแบบอื่นที่เห็นในที่ทั่วไป ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกที่ 2โดยมีรูปช้างถวายดอกบัวปรากฏอยู่ด้วยอย่างงดงาม
2. พระเจดีย์สิริมหามายา ประดิษฐานอยู่เหนือยอดเขาลูกที่ 3 พระเจดีย์องค์นี้สร้างให้มีสารพัดประโยชน์ ภายในองค์เจดีย์มีห้องกว้างขวางสำหรับผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปสักการบูชา และพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย

3.รูปหล่อหลวงพ่อปอเลาะห์ อดีตเจ้าอาวาสของวัดในสมัยโบราณ ซึ่งทรงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาเคารพสักการะของมหาชน

4. วิหารหลวงพ่อทวด เป็นวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นสวยงาม ด้านหน้าวิหารมีองค์พระหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประดิษฐานอยู่อย่างโดดเด่น

บริเวณสังฆาวาส
พื้นที่บริเวณสังฆาวาส ที่อยู่จำพรรษาของพระสงฆ์ สามเณร ตั้งอยู่อย่างสงัดสงบ ณ มุมหนึ่งต่างห่างด้านทิศเหนือ มีกุฏิสงฆ์ หอฉัน ธรรมศาลา โรงเรียนปริยัติธรรม รวมจำนวน 9 หลัง มีพระภิกษุ สามเณร อยู่ประจำประมาณ 20 – 30  รูป ทุกปี

“ปลากะพง” ของดีเมืองยะหริ่ง! จ.ปัตตานี จัดงานส่งเสริมอนุรักษ์วิถีชีวิตผู้เลี้ยงปลา



ปัตตานี - ของดีเมืองยะหริ่ง ปัตตานี เปิดงาน วันปลากะพงสืบสานอนุรักษ์วิถีชีวิตของคนเลี้ยงปลาที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ให้คงอยู่คู่พื้นจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป


โดยเฉพาะการเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง ถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนที่อยู่บริเวณริมทะเล ที่ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงปลากะพงยาวนามกว่า 100 ปี จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จัก พร้อมทั้งได้ลิ้มลองอาหารที่ทำจากปลากะพง จากผู้เลี้ยงปลากะพงโดยตรง ที่สรรหามาให้ผู้เข้าร่วมงานได้จับจ่ายกันอย่างเต็มที่



ภายในงานมีพิธีเปิดด้วยการเดินขบวนพาเหรดอันสวยงามของประชาชนในพื้นที่ แสดงถึงสัญลักษณ์ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในขบวนแห่คือ การประดับประดาด้วยปลากะพง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่กว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มะไฟกา-ลังแข ผลไม้ใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์


มะไฟกา หรือมะไฟแดง
 เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่พบขึ้นอยู่ตามป่า ตามธรรมชาติ พบขึ้นอยู่มากในป่าดิบชื้นของภาคใต้โดยทั่วไป มะไฟกาพบเห็นได้ง่ายในผืนป่าภาคใต้ตอนล่าง เช่น จ.ยะลา นราธิวาส ฯลฯ รวมทั้งภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่ จ.พังงาและพื้นที่ใกล้เคียง นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นผลมะไฟกาวางขายตามเพิงข้างถนนในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกๆ ปี
ลักษณะเด่นของมะไฟกาคือ ออกดอกติดผลตั้งแต่โคนต้นจากพื้นดินไปจนถึงปลายกิ่งเลยทีเดียว ผลที่สุกนั้นมีสีแดงสด เด่นสะดุดตา ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกมะไฟกาเป็นไม้ประดับสวนในปัจจุบัน
ทั้งนี้ มะไฟกาบางต้นก็มีรสชาติหวาน และบางต้นมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ต้นมะไฟกาที่มีขนาดใหญ่อาจให้ผลผลิตสูง 800-1,000 กิโลกรัมทีเดียว
มะไฟกา หรือมะไฟแดง
มะไฟกาเป็นผลไม้ป่าที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในท้องถิ่นคือ มะไฟกาแดง ส้มไฟป่า ส้มไฟดิน มะไฟเต่า เป็นต้น ในทางพฤกษาศาสตร์ มะไฟกาเป็นไม้ยืนต้นในสกุล Baccaurea ตระกูลเดียวกับจำปูลิ่ง ลำต้นสูงประมาณ 6-10 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาอ่อนปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ บางๆ ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม ข้อต่อระหว่างโคนใบกับก้านใบบวมพอง ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ผลแก่มีสีแดง เปลือกหุ้มมีลักษณะเหนียวและหนา เมื่อแกะเปลือกจะเห็นผลแบ่งมี 3 ห้อง แต่ละห้องมี 1 เมล็ด ผลมีรูปร่างกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร (ซม.) เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีเหลืองอ่อน มะไฟกาขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
ด้านการใช้ประโยชน์ ชาวบ้านทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันมักนำยอด ใบอ่อน หรือผลอ่อนของมะไฟ ที่มีรสเปรี้ยวใช้กินเป็นผัก เช่น ใส่ในแกงคั่ว แกงเลียง แกงส้ม ทางภาคใต้นิยมกินเป็นผักเหนาะ เรียกกันว่า “ส้มไฟอ่อน”
นอกจากนี้ ยังนิยมนำเปลือกผลสุกที่เป็นสีแดงไปยำกับหนังหมูและกุ้งแห้ง ส่วนชาวบ้านแถบปัตตานีนิยมนำเปลือกของผลมะไฟกามาใส่แกงส้มแทนส้มแขก หรือมะขาม สำหรับผลสุกมักกินเป็นผลไม้สดหรือทำน้ำมะไฟ
มะไฟกานับเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากมีวิตามินซีสูง ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อต่างๆ แข็งแรง รวมทั้งสารโพแทสเซียมที่มีบทบาทในการควบคุมการเต้นของหัวใจและควบคุมความดันโลหิต รวมทั้งสารแมกนีเซียมที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และมะไฟยังมีแคลเซียมและคาร์โบไฮเดรตอีกเล็กน้อย
มะไฟกาเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเสมหะ รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รากแก้พิษตานซาง แก้วัณโรค ฝี ดับพิษร้อนและเริม ลดอาการอักเสบ ในบางท้องถิ่นชาวบ้านนิยมใช้มะไฟกาเป็นพืชสมุนไพรกลางบ้าน โดยนำ “รากต้นมะไฟกา” มาต้มน้ำดื่ม เพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อย หรืออาหารเป็นพิษ ท้องเสีย เป็นต้น


ลังแข หรือลำแข
ความจริง ในผืนป่าภาคใต้ของไทยสามารถพบเห็นพืชในสกุลมะไฟอีกหลายชนิด เช่น ละไม ลังแข จำไร มะไฟลี ฯลฯ ในพื้นที่ป่าดิบชื้น ตั้งแต่บริเวณที่ราบเชิงเขา หรือริมลำธาร พื้นค่อนข้างจะลาดชัน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าธรรมชาติในภาคใต้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตหากคนไทยไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ พืชในสกุลมะไฟอาจจะมีโอกาสสูญพันธุ์จากป่าเมืองไทยได้เช่นกัน
มองผ่านๆ อาจคิดว่าลังเเขคือกระท้อน เพราะมีสีสันเเละขนาดใกล้เคียงกัน
มองผ่านๆ อาจคิดว่าลังเเขคือกระท้อน เพราะมีสีสันเเละขนาดใกล้เคียงกัน
ชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า ลูกปุย ตามลักษณะเด่นของผลไม้ชนิดนี้ ที่ด้านในผลมีเนื้อสีขาวฟูๆ ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ ลังแขหรือลูกปุย เป็นผลไม้ป่าเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ของไทยที่เจริญเติบโตในดินร่วนซุยตามภูเขาและป่าพรุ ผลของลูกปุยจะติดเป็นพวง มีลักษณะกลมแบนคล้ายผลกระท้อน แต่ขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ ลังแขยังมีขนาดของผลใหญ่กว่ามะไฟมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-6 ซม.
ผลลังแขโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. ลังแขมีเปลือกหนา สีส้มหรือสีน้ำตาลแดง มีรสชาติเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อย คนใต้นิยมนำเปลือกลังแขไปปรุงอาหาร ส่วนเนื้อมีรสชาติหวาน นิยมกินเป็นผลไม้ ลังแขจะติดผลให้ได้กินกันปีละครั้ง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี