วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วัดพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล(วัดเขากง)


ในจังหวัดนราธิวาส มีวัดที่น่าเที่ยวอยู่หลายแห่ง อย่างวัดชลธาราสิงเห อ.ตากใบ ก็มีโบราณวัตถุมากมาย อุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่สวยงาม  อีกทั้งยังเป็นวัดสำคัญที่ช่วยพิทักษ์ดินแดนไทยไว้ด้วย ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น เอาไว้เล่าตอนไปเที่ยววัดชลฯ ในคราวหน้า เพราะครั้งนี้ผมจะพาไป ‘วัดเขากง’ ณ ‘พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส’
กล่าวสำหรับพุทธมณฑล นอกจากส่วนกลาง คือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้ว ในประเทศไทยมีพุทธมณฑลภูมิภาคอีก 9 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสพุทธมณฑล อีก 8 แห่ง คือ ได้แก่ พิษณุโลก, นครสวรรค์, สมุทรสาคร, ลำปาง, พะเยา, นครพนม, ขอนแก่น และเพชรบุรีพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส สร้างขึ้นในปีงบประมาณ 2549 เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เพื่อสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรม แสดงธรรม และประชุมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตั้งอยู่ ต.ลำภู อ.เมือง

อาจมีคนสงสัยว่า ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แล้วไยพุทธมณฑล จึงมาตั้งอยู่นราธิวาส เหตุผลนี้ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ แต่ถ้าย้อนประวัติความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาแล้ว ก็ไม่นึกแปลกอะไรอย่างที่เรารู้กันดีว่า ปัตตานีซึ่งอยู่บนคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองท่าสำคัญเมื่อครั้งอดีต แต่กว่าจะเจริญรุ่งเรือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องเคยเป็นที่รกพง และมีชาวป่า (โอรังอัสลี หรือซาไก) อาศัยมาก่อน ที่สำคัญมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดพ่อค้าจากจีน และอินเดีย ล่องเรือมาเจอ ยังอุทานออกมาว่า โอ้! ‘แผ่นดินทอง’…นานวันผ่าน พ่อค้าอินเดียได้นำศาสนาฮินดู และวัฒนธรรมเข้ามาเผยแผ่ ชนพื้นเมืองที่เคยนับถือผี จึงหันมานับถือศาสนา และคำสอนตามคติ พราหมณ์ หลังจากนั้นอินเดียได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีหลักฐานเกี่ยวกับการสร้างวัด พระพุทธรูป มากมายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ในถ้ำคูหามุข จ. ยะลา หรือพระพิมพ์ดินดิบ ที่ชุมชนโบราณยะรัง จ.ปัตตานี เป็นต้น ด้วยแรงศรัทธาของศาสนา หลังจากศาสนาพุทธรุ่งเรือง พ่อค้าชาวอาหรับ ก็ได้นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาเผยแผ่ และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
วัดเขากง ถือเป็นใจกลางพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธมากว่าพันปี ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง นาม ‘พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล’พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งประทานพรที่สวยงาม และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างตามแบบพุทธศิลป์สกุลช่างอินเดียใต้ (แบบขนมต้ม) หน้าตักกว้าง 17 เมตร มีความสูงจากใต้พระเพลา ถึงพระเกศบัวตูม  23 เมตร ประดับด้วยโมเสดสีทองทั้งองค์ เริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2509 แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมบรรจุดินจากสังเวชนียสถาน คือ ดินจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระอุระเบื้องซ้ายพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2513 สาเหตุที่ชื่อวัดเขากง ก็เพราะตั้งอยู่บนเขากง และสาเหตุที่ไปตั้งวัดบนเขากง ก็เพราะว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพุทธสถานมาก่อน มีหลักฐานที่เป็นซากโบราณสถานอันเป็นส่วนประกอบของเจดีย์พร้อมทั้งเศียรพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายาน รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย จากหลักฐานเหล่านี้ ผู้รู้สันนิษฐานว่า พุทธสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 ผ่านมาพันกว่าปี กระทั่ง พ.ศ.2542 พุทธสถานแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นเป็นวัดเขากง โดยหลวงพ่อปอเลาะห์ ซึ่งก็เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด กระทั่งถึง พ.ศ.2435 วัดเขากงก็ต้องกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากหลวงพ่อปอเลาะห์ได้ออกธุดงค์และมรณภาพที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทำให้ขาดพระสงฆ์อยู่จำพรรษา ก็ร้างอยู่ราว 60 ปี วัดเขากงจึงได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2495 และกลายเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนจวบจนทุกวันนี้มีเรื่องเล่าอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับเขากง สาเหตุที่เรียกว่า เขากง นั้น เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นภูเขาตั้งเรียงกัน 3 ลูก มองไกลๆ คล้ายคางคกภูเขา (ขนาดใหญ่กว่าคางคกปกติมาก แถมดุด้วย ดุชนิดที่กินงูเป็นอาหารเลยละ) คางคกประเภทนี้ คนใต้เรียก ‘กง’ยังไม่จบเรื่องกง เจ้าคางคกยักษ์นี่ ภาษาถิ่นนราธิวาส หรือเจ๊ะเห เรียกว่า ‘กงกง’ ถือเป็นสัตว์มงคล หากเข้าบ้านใคร เขาจะไม่ไล่ แต่จะเลี้ยงดูอย่างดีเลย หากนึกไม่ออกว่าตัวมันเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึง อุทัยเทวี
เชื่อว่า ผู้อ่านคงเกิดคำถามว่า เอ! เจ้าอาวาสองค์แรกชื่อท่านคล้ายจะเป็นอิสลามิกชนนา ไหง๋มาบวชเป็นพระได้ ใช่แล้วครับ เดิมท่านนับถือศาสนาอิสลาม! มีประวัติเล่าหลายสำนวนแต่ก็คล้ายๆ กัน จึงขอนำมาเล่าให้อ่านเพียงสำนวนเดียว ดังนี้

“ท่านเป็นคนนราธิวาส วันหนึ่งได้เดินไปในป่า พบเสือเบงกอลใหญ่จะเข้ามากัด ด้วยตกใจ ท่านซึ่งตอนนั้นเป็นมุสลิม จึงร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นึกได้ทั้งหมด ทั้งพระเจ้า ทั้งเทวดา กระทั่งหลุดปากออกมาว่า ถ้าเสือไม่กินท่าน ท่านจะบวชเป็นพระ เท่านั้นแหละ เสือก็เลยหายไป พอกลับบ้าน ท่านก็ฝันว่า เสือมาถามว่า เมื่อไหร่จะบวช ท่านก็เลยไปบวช”
การนำประวัติหลวงพ่อปอเลาะห์มาเล่า ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากเล่าให้ครบกระบวนความเท่านั้น และประวัติก็นำมาจากแหล่งข้อมูลที่พอหาได้ ซึ่งผมได้มาจากเว็บไซต์ของประเทศมาเลเซีย ที่เพื่อนส่งต่อมาให้


ประวัติหลวงพ่อปอเลาะห์
ภายในวัดเขากง นอกจากพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเขาลูกที่ 1 แล้ว ยังมีปูชนียวัตถุ-สิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ
1. พระอุโบสถ รูปทรงศิลปะไทย สวยงามแปลกจากแบบอื่นที่เห็นในที่ทั่วไป ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกที่ 2โดยมีรูปช้างถวายดอกบัวปรากฏอยู่ด้วยอย่างงดงาม
2. พระเจดีย์สิริมหามายา ประดิษฐานอยู่เหนือยอดเขาลูกที่ 3 พระเจดีย์องค์นี้สร้างให้มีสารพัดประโยชน์ ภายในองค์เจดีย์มีห้องกว้างขวางสำหรับผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปสักการบูชา และพักผ่อนอย่างสะดวกสบาย

3.รูปหล่อหลวงพ่อปอเลาะห์ อดีตเจ้าอาวาสของวัดในสมัยโบราณ ซึ่งทรงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาเคารพสักการะของมหาชน

4. วิหารหลวงพ่อทวด เป็นวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นสวยงาม ด้านหน้าวิหารมีองค์พระหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประดิษฐานอยู่อย่างโดดเด่น

บริเวณสังฆาวาส
พื้นที่บริเวณสังฆาวาส ที่อยู่จำพรรษาของพระสงฆ์ สามเณร ตั้งอยู่อย่างสงัดสงบ ณ มุมหนึ่งต่างห่างด้านทิศเหนือ มีกุฏิสงฆ์ หอฉัน ธรรมศาลา โรงเรียนปริยัติธรรม รวมจำนวน 9 หลัง มีพระภิกษุ สามเณร อยู่ประจำประมาณ 20 – 30  รูป ทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น