ทำความรู้จัก อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด
– สุไหงปาดี สมัยก่อนเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี
เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกาลาคีรีที่แบ่งเขตแดนไทย-มาเลเซีย
เคยเป็นที่ซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย จึงไม่ค่อยมีผู้ใดเข้ามาสัมผัสความมหัศจรรย์ของผืนป่าดงดิบแห่งนี้
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้จึงจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกปาโจ
และกลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 294 ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของนราธิวาส ยะลา และปัตตานีเทือกเขาบูโดนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของป่าดิบร้อนแบบอินโด-มาลายัน
ป่าดิบชื้นเขตร้อนซึ่งมีความชื้นสูงเพราะมีน้ำฝนตกตลอดปี
และเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด
เมื่อเทียบกับป่าประเภทอื่นในพื้นที่เท่าๆ กัน
ป่าเขตร้อนนี้จะพบเฉพาะแนวเส้นศูนย์สูตร คือ
พื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ที่ 23 [1/2] องศาเหนือและใต้
ในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงคอคอดกระจังหวัดระนองลงไป
นักพฤกษศาสตร์แบ่งป่าเขตร้อนทั่วโลกออกเป็นสามเขตใหญ่ คือ ป่าฝนเขตร้อนทวีปอเมริกา
ป่าฝนเขตร้อนแถบอินโด-มาลายัน และป่าเขตร้อนแถบทวีปแอฟริกา
พันธุ์ไม้เด่นของที่นี่คือ
ใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ เมื่อปี พ.ศ. 2531
พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย
มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก
มีขอบหยักเว้าเข้าทั้งที่โคนใบ และปลายใบ ลักษณะคล้ายวงรีสองอันอยู่ติดกัน
ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม
มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์
สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล
หากขึ้นในที่ที่มีความชื้นสูงลักษณะของใบจะยิ่งนุ่มหนาตามไปด้วย เมื่อใบใหญ่เต็มที่
จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีบรอนซ์เงิน หรือเขียวในที่สุด
ช่อดอกสีขาวของย่านดาโอ๊ะก็เตะตาไม่แพ้กัน ใกล้ๆ สำนักงานอุทยานฯ
ก็มีอยู่ต้นหนึ่งให้ชื่นชม และยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ หายาก มีราคาแพง
และกำลังจะสูญพันธุ์ คือ หวายตะค้าทอง
สัตว์ป่าหายากที่เคยพบในบริเวณนี้คือ แรด ชะนีมือดำ
สมเสร็จ และเลียงผา และที่สำคัญ คือ ค่างแว่นถิ่นใต้
มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ของพม่า ภาคใต้ของประเทศไทย
ไปจนถึงมาเลเซียและหมู่เกาะใกล้เคียง มักอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงชันและป่าดงดิบ
อยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 30-40 ตัว มีตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดเป็นจ่าฝูง
ปกตินิสัยขี้อาย กลัวคน ไม่ก้าวร้าวดังเช่นลิง (นอกจากค่างแว่นถิ่นใต้แล้ว
ในประเทศไทยยังพบค่างอีกสามชนิด ได้แก่ ค่างดำ ค่างหงอก และค่างแว่นถิ่นเหนือ
ในปัจจุบันค่างทั้งสี่ชนิดถูกจัดให้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสถานภาพถูกคุกคาม)
ในอุทยานฯมีน้ำตกอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกภูแว น้ำตกปาโจ และน้ำตกปากอ
แต่ที่รู้จักกันทั่วไป นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้สะดวก คือ น้ำตกปาโจ
เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงกว้าง คำว่า
ปาโจเป็นภาษามลายูท้องถิ่นมีความหมายว่า น้ำตก ที่น้ำตกปาโจนี้มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆ
รวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและสวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้
แต่เนื่องจากสภาพป่าโดยรอบไม่สมบูรณ์นัก ในหน้าแล้งน้ำจึงค่อนข้างน้อย
นอกจากน้ำตกยังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ ศาลาธารทัศน์
ซึ่งเคยเป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวเสด็จประพาสจังหวัดนราธิวาส
และยังมีก้อนหินสลักพระปรมาภิไธยตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกปาโจด้วย
ฤดูท่องเที่ยวที่นี่ตลอดทั้งปี
การเดินทาง
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาส 26 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 42
ไปยังอำเภอบาเจาะถึงบริเวณสี่แยกเข้าตัวอำเภอ ให้เลี้ยวเข้าไปตามถนนอีกประมาณ 2
กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
ติดต่อสอบถาม: ททท. สำนักงานนราธิวาส 0 7352 2411
http://www.tourismthailand.org/narathiwat
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น