วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ตลาดขายปลาริมถนนยะลา ช่วงน้ำท่วมคึกคัก หลังชาวบ้านหันมาจับปลาขาย สร้างรายได้ แทนการกรีดยาง


        วันนี้ 30 พ.ย. 60 ในสถานการณ์ช่วงฝนตก ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดยะลา ชาวบ้านที่มีอาชีพกรีดยางต่างก็ไม่มีรายได้ที่จะใช้จ่ายในครอบครัว จึงหันมาจับปลาขายแทน บางคนถ้าจับปลาได้มากหน่อยก็จะมีรายได้วันละกว่าหนึ่งพันบาท


        โดยที่บริเวณริมคลองโครงการระบบระบายน้ำ ตำบลพร่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา (เส้นทางลัดลำใหม่-ยะลา) ชาวบ้านในพื้นที่บ้านควน ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงนับสิบคนต่างเดินทางมาจับจองที่นั่ง พร้อมนำยอมาดักปลา ใส่ถุง เพื่อนำขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่จะมารอรับซื้อปลากันถึงที่ริมคลอง พร้อมกับนำไปวางขายอยู่ที่ริมถนน โดยมีชาวบ้านที่สัญจรผ่านไปมาในเส้นทางลัดลำใหม่-ยะลา และชาวบ้านในพื้นที่มาซื้อปลากันอย่างคึกคัก



นางซารีย๊ะ สามะ ชาวบ้าน หมู่ที่ 5 บ้านควน กล่าวว่า มาจับปลาได้สัก 2-3 วันแล้ว ที่บ้านน้ำท่วมตัดยางไม่ได้ ก็เลยหันมาจับปลาขายแทน ช่วงที่ปลามากก็จะมีรายได้พันกว่าบาท ขายดี พอได้ปลาก็จะมีแม่ค้า มาซื้อเลยไม่ต้องไปขายที่ไหน ปลาที่จับได้ก็จะมีทั้งปลากระดี่ ปลาสลิด และปลาอื่นๆ ตัวเล็กๆ ก็จะขาย กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนตัวใหญ่หน่อยก็จะขาย กิโลกรัมละ 70-80 บาท นับเป็นรายได้ในช่วงน้ำท่วมที่ดี นอกจากนี้ก็ยังได้นำกลับไปไว้รับประทานในครอบครัวอีกด้วย








วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แม่ค้ายะลาพลิกวิฤตช่วงน้ำท่วมขายหัวข้าวเกรียบสร้างรายได้


       เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 60 แม่ค้าขายไก่ย่าง หัวข้าวเกรียบ ยาวๆ ใหญ่ๆ อันละ 1 บาท ยะลา ไม่รอช้า นำรถเข็นไปวางขายที่บริเวณถนนสิโรรส 14 เขตย่านตลาดเก่า เทศบาลนครยะลา หลังโรงเรียนเทศบาล 5 ถูกน้ำท่วม ทางโรงเรียนประกาศหยุดเรียน 1 วัน ทำให้เด็กๆ จำนวนมาก ต่างออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานที่บริเวณถนน และซอยหน้าโรงเรียน พอเล่นสนุกเสร็จ เด็กๆ ก็จะหิวและมาซื้อหัวข้าวเกรียบไปรับประทานเล่น ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่ถึง 2 ชั่วโมง มีรายได้ถึงหนึ่งพันบาท


        นางอาซีย๊ะ กาเจ แม่ค้าขายไก่ย่าง หัวข้าวเกรียบ กล่าวว่า ปกติจะขายอยู่ที่หลังประตูโรงเรียนธรรมวิทยายะลา ทุกวัน จะมีคอนเซ็ปต์ ที่นักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยา รู้จักกันดี คือ ยาวๆ ใหญ่ๆ ซึ่งเป็นหัวข้าวเกรียบทอดขาย อันละ 1 บาท นอกจากนี้ก็จะมีไก่ย่างไม้ละ 5 บาท และอื่นๆ ที่ขายดีมากก็จะเป็นหัวข้าวเกรียบ


        วันนี้โรงเรียนเทศบาล 5 ปิดเนื่องจากมีน้ำท่วม ก็เลยมาขายที่นี่ เห็นเด็กๆ ไม่ไปโรงเรียนมาเล่นน้ำกันจำนวนมาก ก็เป็นโอกาสที่ตนเองจะได้ขายของ พอเล่นสนุกเสร็จ เด็กๆ ก็จะหิว และมาซื้อรับประทาน บางคนมีเงินเพียง 1 บาท ตนเองก็จะแถมให้อีก 1 ชิ้น โดยเฉพาะหัวข้าวเกรียบ ยาวๆ ใหญ่ๆ จะขายดีมาก ไม่ได้ขายแพง ขายถูกๆ แค่มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น



          ไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น ก็จะมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชาวบ้านที่มาดูน้ำ ก็จะมาซื้อหาไปรับประทานด้วย มาขายไม่ถึง 2 ชั่วโมง มีรายได้ถึงหนึ่งพันบาท ซึ่งยังไม่หักทุนก็นับว่าเป็นรายได้ที่ดี

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทองม้วน ทองพับ ชาวชุมชน จ.ยะลา สดใหม่ ใช้กรรมวิธีโบราณ ต่างหันมายึดอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว



นางอำมร สุวรรณะ ประธานกลุ่มทองพับ ทองม้วนชุมชนเวฬุวัน ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พร้อมสมาชิกกว่า 10 คน ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทำทองพับ ทองม้วน เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยแต่ละวัน สามารถผลิตทองพับ ทองม้วนได้กว่า 50 กิโลกรัม


สำหรับขนมทองม้วน ทองพับ ของชุมชนเวฬุวัน จะมีหลากหลายรสชาติ เช่น กะทิ ทุเรียน ฟักทอง ใบเตย ช็อกโกแลต กล้วย นอกจากนี้ทางกลุ่มยังพัฒนาคิดค้นการทำทองพับ รสชาติเพิ่มเติมอีก 2 รสชาติ คือ ทองพับไก่หยอง ทองพับไก่กอและ ซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองของภาคใต้ ส่วนจุดเด่นของทองพับที่นี่ คือ มีการผลิตที่สดใหม่ทุกวัน และการใช้กรรมวิธีแบบโบราณทำให้ทองม้วนมีความกรอบ หอม อร่อย


นางอำมร สุวรรณะ ประธานกลุ่มทองพับ ทองม้วนชุมชนเวฬุวัน กล่าวว่า ตนเองเริ่มจากทำขนมทองม้วนขายก่อน ซึ่งขายได้ดี มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก ผลิตสินค้าไม่ทันต่อการสั่งซื้อ ทางชุมชนเวฬุวัน จึงได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และลดการว่างงานของประชาชนในชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ร่วมกันผลิตสินค้า โดยมีการสั่งซื้อจากประเทศประเทศมาเลเซียมานานกว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังมียอดการสั่งซื้อในพื้นที่อีกจำนวนมาก ทำให้สมาชิกแต่ละคนหันมายึดอาชีพการทำขนมทองม้วน ทองพับ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างงาม



ทั้งนี้หากท่านใดสนใจที่ศึกษาดูงาน หรือสั่งซื้อขนมทองม้วน ทองพับ สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มขนมทองพับ ทองม้วน ชุมชนเวฬุวัน หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 08-4859-2942

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

อ.ยะหา สร้างความสุข และรอยยิ้ม ให้กับประชาชนมาใช้บริการเป็นอย่างมากจังหวัดเคลื่อนที่ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข


         โรงเรียนบ้านกาลอ ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีประชาชน และนักเรียนในพื้นที่ตำบลยะหา และพื้นที่ใกล้เคียง มาใช้บริการโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของจังหวัดยะลา ซึ่งมีบริการของหน่วยงานต่างๆ มาให้บริการมากมาย เช่น การให้บริการด้านเกษตร บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ บริการตัดผม จำหน่ายสินค้าราคาถูก เล่นเกม แจกพันธุ์พืช อาหาร เครื่องดื่ม และอื่นๆ อีกมากมาย สร้างความสุข และรอยยิ้มให้กับประชาชนที่มาใช้บริการเป็นอย่างมาก โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธาน มีนายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสาโรจน์ กาญจนพงศ์ ปลัดจังหวัดยะลา นายชัยชนะ กฤตยานาถ นายอำเภอยะหา หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำศาสนา ร่วมด้วย


นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า โครงการจังหวัดเคลื่อนที่ เป็นโครงการที่จังหวัดได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำส่วนราชการต่างๆ ออกมาให้บริการพี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ร่วมถึงได้พบปะเยี่ยมเยียน สอบถามทุกข์สุข ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน 


เพื่อที่จะได้รับทราบปัญหา ความต้องการ ไปพิจารณาวางแผน และกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไปในภายหน้า ซึ่งการออกบริการครั้งนี้ ได้ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.จังหวัดยะลา จึงเป็นโอกาสดีของประชาชนชาวตำบลยะหา และตำบลข้างเคียง จะได้รับการตรวจรักษา และได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง


นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ยังได้เป็นประธานพิธีมอบทุน กองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี ที่ครอบครัวยากจน ด้อยโอกาส จำนวน 10 คน รวมทั้งมอบชุดนักเรียนให้เด็กนักเรียนทั้งชายและหญิง จำนวน 20 คน มอบอุปกรณ์กีฬา 1 ชุด แก่โรงเรียน มอบเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 1 ชุด มอบทุนช่วยเหลือคนยากจน และเด็กยากจน จำนวน 30 ทุน และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่คนพิการ จำนวน 20 ชุด คนชรา จำนวน 20 ชุด



จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้นั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง (ซาเล้ง) พบปะเยี่ยมเยียน สอบถามทุกข์สุข ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยติดเตียงภายในหมู่บ้าน พร้อมมอบสิ่งของ เพื่อเป็นกำลังใจกับผู้ป่วย และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และฟาร์มกวาง ตาม "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ" ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ก่อนเดินทางกลับอีกด้วย




เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เสนอโครงการ 2 โครงการ ที่สอดรับกับนโยบายสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


        นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ได้เสนอโครงการ ผ่านข้อเสนอแนวทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคราวที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางลงพื้นที่มาประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ชายแดน ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนเกษตรกร ในโอกาสการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2560 ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรชายแดนสุไหงโก-ลก ในรูปแบบอาคารทรงไทย แบ่งโซนจำหน่ายสินค้า เช่น ผัก ผลไม้ อาหาร ลานจอดรถ พร้อมจัดให้มีการค้าปลีก ค้าส่งสินค้าเกษตรจากในและนอกพื้นที่เต็มระบบ งบประมาณ 84,990,000บาท 


ในพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานรถไฟที่พร้อมให้ดำเนินการนำไปจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรวม ทั้งการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตร ที่เพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าขายให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าของอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอใกล้เคียงและประเทศมาเลเซีย


         อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดจากตลาดเดิมที่รุกล้ำพื้นที่ตลอดแนวถนนสายหลักหน้าสถานีรถไฟสุไหงโก-ลกที่เป็นประตูการค้าชายแดนของอำเภอสุไหงโก-ลก และโครงการพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก ให้เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ โดยดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ 25 ไร่ เป็นที่จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อน งบประมาณ 86,958,700 บาท 


ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการ สนองนโยบายการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามวิสัยทัศน์ พื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเป้าหมายการพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ที่สนองความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวในทุกกลุ่มวัย ตลอดจนเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ใจกลางเมืองให้มีความสวยงามมากขึ้น หลักจากพื้นที่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมานาน โดยทั้งสองโครงการยังสอดรับกับการเป็นเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย


นอกจากนี้ยังมีการเสนอโครงการขอรถดับเพลิงชนิดหอพร้อมบันได ตัวรถชนิดไม่น้อยกว่า 10 ล้อ พื้นกระเช้าไม่น้อยกว่า 45 เมตร ให้กับเทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลเมืองนราธิวาส เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และเทศบาลเมืองเบตง จำนวน 5 คัน งบประมาณรวม 30 ล้านบาท ที่เสนอในนามขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากในเขตเทศบาลใหญ่ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอาคารสูงอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดอัคคีภัยหรือภัยจากความมั่นคงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น


นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกโครงการเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล จึงมุ่งหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญและดำเนินการพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้ตามที่เสนอไป


วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เซลฟี่หมอกสีขาวโพลนหนาแน่นเต็มยอดเขาของทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จ.ยะลา


       นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เซลฟี่หมอกสีขาวโพลนหนาแน่นเต็มยอดเขาของทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อวดลงโซเชียลพร้อมไลฟ์สด บรรยายความงามสถานที่ท่องเที่ยว ชมทะเลหมอกชายแดนใต้ ที่มีความสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือและภาคอีสาน


           วันนี้ 23 พ.ย. 60 ที่จุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง บ้าน กม.32 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกยอดนิยมของภาคใต้ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างนำกล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน มาเซลฟี่ เก็บภาพความประทับใจ อวดลงโซเชียลพร้อมไลฟ์สด ผ่าน Facebook Live บรรยายความงามของทะเลหมอกอัยเยอร์เวง หมอกสีขาวโพลนหนาแน่นเต็มยอดเขา สถานที่ท่องเที่ยวชมทะเลหมอกชายแดนใต้ ที่มีความสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือและภาคอีสาน ให้กับเพื่อนๆ ในโซเชียลได้อิจฉากันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งบอกว่าไม่ผิดหวังที่มาเที่ยวในสถานที่แห่งนี้ เพราะนอกจากทิวทัศน์สวยงามแล้วยังมีอากาศดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย แม้จะต้องเดินทางไกลเพื่อมาถึงจุดชมวิว แต่เมื่อมาถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังคุ้มค่ากับการเดินทาง


นายสะอารี ยูโซ๊ะ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง กล่าวว่า ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อยู่บนยอดภูเขาไมโครเวฟ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 ฟุต ขณะนี้ภาครัฐกำลังจัดทำจุดชมวิวพื้นกระจก (Sky Walk) งบประมาณ 91 ล้านบาท เพื่อเป็น Land Mark จุดชมวิว 360 องศา ที่ใหญ่และสวยที่สุดในเอเชีย


ซึ่งขณะนี้ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อพัฒนา Sky Walk ยาว 60 เมตร ลักษณะยื่นออกไปในอากาศทางทิศตะวันออก และเป็นกระจกใสรอบทิศทาง ถือเป็นจุดไฮไลท์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม และเตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอันซีนกว่า 33 รายการ อาทิ น้ำตกเฉลิมพระเกียรติฯ ร.9 สะพานแตปูซู ข้ามแม่น้ำปัตตานี ยาว 100 เมตร ล่องแก่งเรือคายัค และล้อยางในแม่น้ำ ภายใต้วิสัยทัศน์ อเมซอนแห่งอาเซียนคือ ภายในปี 2562 ตำบลอัยเยอร์เวง จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ระดับอาเซียน และหากการก่อสร้างโครงการใหญ่แล้วเสร็จ เช่น สนามบินเบตง ถนนเขตที่ 54 A ทางหลวง 410 ยะลา-เบตง ก็จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวเบตง ภายใต้หนึ่งในเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"












วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชมรมขับรถรับ – ส่ง นักเรียน แนะคนขับต้องมีสติทุกครั้ง เพื่อป้องกันและลดการอุบัติเหตุ



          ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ บริเวณหน้าโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามมียะห์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ขนาดใหญ่ในพื้นที่นราธิวาส มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 รวมกว่า 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เดินทางมาจากต่างอำเภอและใช้รถโดยสารรับ ส่ง นักเรียนเป็นหลัก โดยหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับรถรับ-ส่ง นักเรียนในพื้นที่อื่นๆบ่อยครั้ง และทำให้เกิดความสูญเสียอย่างต่อเนื่องนั้น คนขับรถรับ ส่ง นักเรียนต่างพูดคุยถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมศึกษาเพื่อเป็นบทเรียน และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถรับ ส่ง ในพื้นที่


          ด้านนายมะกือตา อาแวกาแด อายุ 56 ปี เป็นคนขับรถรับ ส่ง นักเรียน ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมรถรับ-ส่งนักเรียนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ก็รับทราบทุกครั้ง และถือเป็นอุทาหรณ์แก่ตัวเองทุกครั้ง เพื่อเป็นการเตือนสติตัวเองในการขับรถรับ ส่ง นักเรียน ซึ่งส่วนตัวนั้นก็ย้ำกับตัวเองตลอดว่าในการขับรถทุกครั้งต้องนึกถึงความปลอดภัย



          นายมะกือตา อาแวกาแด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของชมรมรถรับ ส่งนักเรียนในพื้นที่นราธิวาสนั้น ที่ผ่านมามีการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้รถ ใช้ถนน ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และวิธีการตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงการตรวจสอบสภาพร่างกายของผู้ขับเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นเวลาขับรถรับ ส่ง นักเรียน


ย้อนอดีต...ประวัติเมืองโกตาบารู


          เมืองโกตาบารู พุทธศักราช 2465 รัฐบาลสยามได้จัดระบบการปกครองหัวเมืองมลายูใหม่ โดยแบ่งเป็น 7 หัวเมือง และขึ้นกับมณฑลปัตตานี มณฑลปัตตานีจึงแบ่งเป็นปัตตานี    หนองจิก   ยะหริ่ง   สายบุรี   ยะลา  ระแงะ และเมืองโกตาบารูหรือเมืองรามันห์ขึ้นกับจังหวัดยะลามี ต่วนกาลูแป เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอโกตาบารู ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอรรถสิทธิสมบูรณ์


          เมืองโกตาบารู เดิมเป็นเมืองที่เจริญอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีทั้งช้าง ป่าไม้ ทอง และแร่ทับทิม มีกองทหารที่กล้าหาญ องอาจ มีอาณาเขตขยายกว้างไปถึงเมืองเปอร์ลิสของมาเลเซีย มีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันหลายคนที่สำคัญ และเป็นที่นับถือชาวพุทธ มุสลิมและชาวจีนทั้งในถิ่นและนอกถิ่น คือ โต๊ะนิจาแว หรือเรียกสั้นๆว่า โต๊ะนิ มีเรื่องเล่ากันว่า เจ้าเมืองโกตาบารู โดยเฉพาะพระยารัตนภักดี (ต่วนมาลาแลยาวอ) มีฐานะร่ำรวยเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ท่านได้บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนบ้านโกตาบารู (รัตนผดุงวิทยา) ให้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของลูกห
ลานคนในท้องถิ่น


          วังโกตาบารู เป็นสถานที่ราชการพบปะผู้คน เป็นศูนย์รวมของคนในท้องถิ่น พระยารัตนภักดีเป็นที่รักของประชาชน ราษฎรที่ไม่มีที่อยู่อาศัยก็สามารถไปอาศัยในวังได้ โดยทำงานหรือทำนาเป็นการแลกเปลี่ยน วังโกตาบารูเป็นสถานที่พักพิงของผู้คนสัญจรไปมาหรือคนที่มาทำธุระที่เมืองที่ต้องการเดินทางไปเมืองยะลา สามารถมาพักค้างแรมที่วังโกตาบารูได้ เนื่องจากในเรือนครัวของวังโกตาบารูมีหม้อหุงข้างใบใหญ่ 2 ใบ จะหุงข้าวได้ตลอดเวลาเพื่อให้แขกที่มาพักแรมได้รับประทานอาหาร


          เจ้าเมืองโกตาบารูเป็นคนที่ชอบความสนุกสนาน ชอบการกีฬา โดยเฉพาะศิลปะการป้องกันตัว ที่เรียกว่า สิละเจ้าเมืองได้ฝึกชายหนุ่มในวังให้รำสิละเป็นทุกคน โดยหาครูฝึกมาจากเมืองโกตาบารูให้รัฐกลันตันของมาเลเซีย พอถึงวันสำคัญก็จะมีการแข่งขันรำสิละ ตกกลางคืนจะมีการแสดงลิเกฮูลู ลิเกฮูลูจึงถือกำเนิดที่เมืองโกตาบารูนี้เป็นครั้งแรก ต่อมาจึงขยายไปสู่เมืองอื่นๆ เมืองโกตาบารู จึงได้ชื่อว่า โกตารามัยแปลว่า เมืองแห่งความรื่นเริง ในยามที่มีงานสำคัญหรือต้อนรับอาคันตุกะจากแดนไกลก็จะมีการฉลองอย่างสนุกสนานและสมเกียรติ




          ปัจจุบันยังมีลูกหลานเจ้าเมืองหลงเหลืออยู่ โดยใช้นามว่าต่วนนำหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โกตาบารู เป็นอำเภอสังกัดจังหวัดยะลา จนถึงพ.ศ.2487 จึงเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นรามันตามเดิม

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จ.ยะลา จัดกิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิดฯ พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์และทาสีมัสยิดตะปอเยาะ


กิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิดร่วมใจพัฒนาชุมชนในพื้นที่ สำนักงานแรงงานยะลา ดึงบัณฑิตแรงงานให้มีส่วนร่วมสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ในการทำงานของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐ


          วันนี้ 21 พ.ย. 60 สำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา โดยบัณฑิตแรงงานอำเภอเมืองยะลา ได้จัดกิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิดร่วมใจพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นที่มัสยิดตะปอเยาะ บ้านปอเยาะ หมู่ที่ 4 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีนายก้องสกุล จันทราช นายอำเภอเมืองยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อให้บัณฑิตแรงงานมีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาในการทำงานของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ รวมถึงเพื่อต้องการให้บัณฑิตแรงงาน และประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อชุมชนในเชิงการพัฒนาสังคม และชุมชนในทุกมิติ


ซึ่งการจัดกิจกรรมพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์และทาสีมัสยิดตะปอเยาะ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 150 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดยะลา บัณฑิตแรงงานจังหวัดยะลา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่


            นายก้องสกุล จันทราช นายอำเภอเมืองยะลา กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และโครงการสำนึกรักบ้านเกิดร่วมใจพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ดำเนินการ ประจำปีงบประมาณ 2561 ในวันนี้ เป็นการดำเนินการในพื้นที่อำเภอเมืองยะลา เป็นครั้งที่ 1 และได้เลือกมัสยิดตะปอเยาะ บ้านปอเยาะ หมู่ที่ 4 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและเป็นที่ปฎิบัติศาสนกิจของคนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้บัณฑิตแรงงานมีส่วนร่วมช่วยในการสร้างความเชื่อมั่น