สุดยอดความคิดสร้างสรรค์
ที่นำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง ร.9 โดย “เจมส์ - อภิสิทธิ์” ผู้เดินทางไปยัง
“ที่ที่พ่อไป” แล้วใช้เทคนิคภาพซ้อนทับ
บอกเล่าวันวานที่ส่งผลลัพธ์สุดมหัศจรรย์มาจนวันนี้ และวันต่อๆ ไป
สำหรับพสกนิกรชาวไทย
คงประจักษ์แก่ใจและรับรู้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น
เคยทรงเสด็จไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และทุกๆ การเสด็จ
ล้วนนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
เป็นที่ซาบซึ้งและสัมผัสได้ผ่านหัวใจคนไทยทุกดวง
เฉกเช่น
“เจมส์ - อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ” ช่างภาพสมัครเล่น
และอาจารย์พิเศษ ผู้ใช้ภาพถ่ายสถานที่ที่ในหลวง ร.9 เคยเสด็จไป
แล้วติดตามไปยังที่แห่งนั้น และถ่ายภาพปัจจุบันเพื่อเทียบเคียงกับภาพในอดีต
และนี่ก็คือความมหัศจรรย์ที่เขาได้ค้นพบในโปรเจกต์ที่เขาใช้ชื่อว่า “ที่ที่พ่อไป”...
• อยากให้คุณช่วยเล่าถึงจุดเริ่มของโปรเจกต์นี้หน่อยครับเริ่มมาจากการที่เราอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเผยแพร่สิ่งที่ในหลวง
ร.9 ทรงเคยทำในอดีต ซึ่งตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร
แต่มีความรู้สึกว่าอยากไปในที่ที่พระองค์ท่านเคยไป อยากไปเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ทำไปแล้ว
ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็เคยไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เราก็ขับรถไปคนเดียว
ก็ขับรถวนเข้าไปดูข้างใน เราก็ได้ไปเห็นเรื่องที่ทำเกี่ยวกับหญ้าแฝก
ที่ปลูกแล้วช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น เราไปเห็นแล้วก็อยากเรียนรู้เพิ่มเติม
ก็เริ่มได้ความคิดว่าอยากจะทำอะไรประมาณนี้
จนกระทั่งมาถึงวันที่พระองค์เสด็จสวรรคต
ก็ทำให้ความรู้สึกอยากทำมากขึ้นไปอีก
พอดีเราได้เห็นภาพที่พระองค์ทรงปลูกต้นยูงทองในแฟนเพจของ ม.ธรรมศาสตร์
ทำให้เรานึกถึงไอเดียการถ่ายภาพ Dear Photograph ที่เอาภาพอดีตไปซ้อนกับภาพในปัจจุบัน
เราเลยรู้สึกว่า ลองเอาเทคนิคนี้มาใช้ดีกว่า เราก็ไปดูที่ที่ในหลวงเคยเสด็จไป
พอทำเสร็จ เราก็เอามาให้เพื่อนๆ ดู
ซึ่งความตั้งใจแรกก็มีอยู่แค่นั้นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงไปยังไง
หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะสามารถไปหาที่ไหนได้อีก ในบริเวณใกล้ๆ
จนได้เจอภาพตอนที่พระองค์ท่านเสด็จไปทุ่งมะขามหย่อง
ที่อยุธยา แล้วก็เสด็จหลายครั้ง เราก็ไปค้นดูว่ามีรูปอะไรบ้าง ก็ได้มา 3 - 4 รูป วันนั้นก็เลยไปที่ทั้ง ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต และขับรถเลยไปถึงอยุธยา
เราก็ไปซ้อนภาพมา ซึ่งที่แรกก็ง่ายหน่อย เพราะต้นไม้กับตึกยังเหมือนเดิม แต่ที่ๆ
ยากคือที่อยุธยา
มีภาพที่พระองค์ท่านทรงอยู่ในพลับพลาที่ประทับพร้อมกับสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระเทพฯ
แต่ว่าภาพที่ยากคือจะมีภาพหนึ่งที่พระองค์ทรงไปเปิดประตูระบายน้ำ
ซึ่งช่วงที่เราไปถึง สภาพรอบข้างมันเปลี่ยนไปจากในรูปหมดแล้ว ไม่คิดว่ามันใช่
แต่มันก็ใช่
• เจอสถานการณ์แบบนั้น เราแก้ปัญหาอย่างไร
วันแรกที่ไปถ่ายคือวันที่
24 ตุลาคม ปีที่แล้ว แล้ก็เอารูปมาโพสในวันต่อมา ก็โพสเล่นๆ นี่แหละ
แล้วก็หาข้อมูลมาประกอบด้วยว่าว่าพระองค์ท่านเสด็จเมื่อไหร่ วันไหน ไปทำอะไร ก็โพสไป
จนมีรุ่นน้องมหา'ลัยมาแชร์รูปของเราต่อ
แต่ตอนที่เราทำอัลบั้ม เราทำแบบให้เพื่อนเห็นเท่านั้น
เราไม่ได้คิดว่าจะให้ใครดูหรอกนะ กะว่าเดินทางสนุกๆ แล้วให้แค่เพื่อนๆ ดู
แต่เพื่อนๆ ก็มาขอหลายคนมากเลย แบบขอรูปไปใช้นะ เราก็...เอาไปเลยๆ ไม่มีปัญหาหรอก
จนเราก็เริ่มลงไป 4 - 5 ภาพ ก็มีคนมาแนะนำว่า
เปิดแบบเห็นโดยทั่วไปเถอะ คือจะได้แชร์ไปเลย ไม่ต้องมามัวเซฟรูป
เราก็คิดอยู่หลายวันเหมือนกันว่าจะเปิดดีมั้ย
สุดท้ายก็ตัดสินใจเปิด พอเปิดไปได้ 2-3 วัน ตอนแรกก็ประมาณ 10
กว่า แต่พอผ่านไป 3 วัน มันก็กลายเป็นร้อยแชร์
จนกระทั่งกลายเป็นหมื่นแชร์ หลังจากนั้นก็มีคนมาขอสัมภาษณ์อยากให้เล่าให้ฟัง
จนไปถึง 50,000 แชร์ ซึ่งมันก็มีภาพเซ็ทแรกๆ
ที่อยู่ในอัลบั้มส่วนตัว ตอนที่ยังไม่ได้เป็นเพจ หลังจากวันนั้น เราก็หารูป
หาเรื่องราว เดินทางไปในที่ต่างๆ เรียบเรียงข้อมูล และโพส ก็ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์
และวันหยุดยาว ก็ทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้โพสรูปที่ 90 แล้ว
• แน่นอนว่า พอจะทำโปรเจกต์นี้แล้ว มีการวางแผนพอสมควร
อยากให้ช่วยเล่าในส่วนนี้หน่อยครับ
ก่อนอื่นต้องเตรียมข้อมูลให้ได้ก่อน
ทั้งรูปภาพ สำคัญมากเลยว่าภาพนี้อยู่ที่ไหนก่อน แล้วสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ มันอยู่ที่พิกัดไหน
จุดที่ไม่เกิน 2-3 ตารางเมตรหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของวันเวลาที่ภาพนี้ถูกถ่าย
หรือถ้ามีข้อมูลที่เราพอจะหาได้บ้าง หรืออาจจะเป็นการติดต่อหน่วยงานนั้นไปเลย
เพราะว่าเราจะเน้นในส่วนของโครงการพระราชดำริก่อน หรือโครงการใหญ่ๆ ของพระองค์
ซึ่งถ้าเป็นโครงการในพระราชดำริทั้งหลาย เราก็พยายามที่จะติดต่อหน่วยงานนั้นๆ
อย่างเช่นที่ห้วยทราย
ดอยอินทนนท์ ก็จะพยายามติดต่อเพื่อให้เขาพาไป ซึ่งพอมีการประสานงานกัน เขาก็ยินดี
หลายๆ ที่ก็นัดเจอ และพาไปชี้จุดว่าภาพนี้จะอยู่ประมาณตรงนี้ เราก็ถ่ายรูปไป
พอถ่ายรูปเสร็จ เราก็กลับมาเรียบเรียงข้อมูล ตอนไปถ่าย
เราก็พยายามที่จะให้ภาพที่เราไปถ่าย มีรู้สึกว่ามีความเป็นภาพเดียวกัน
ระหว่างภาพอดีตกับปัจจุบัน การทำภาพแบบนี้
เราต้องไปซ้อนภาพอดีตกับปัจจุบันให้มันแนบกันที่สุด
• ฟังว่า นอกจากประเทศไทย คุณยังไปถ่ายและทำภาพลักษณะนี้ที่ต่างประเทศด้วย
สำหรับประเทศไทย
เราไปมา 17 จังหวัด ส่วนต่างประเทศ ไปมา 2 ประเทศ คือญี่ปุ่น
ไป 2 รอบ และมาเลเซีย สำหรับญี่ปุ่น เมื่อปี 2506 พระองค์ท่านเสด็จไปพร้อมกับสมเด็จพระราชินี
พระองค์ท่านไปทั้งกรุงโตเกียวและเมืองเกียวโต คือเราก็มีความตั้งใจที่จะไปที่นั่นอยู่แล้ว
คือไปเที่ยวตามปกติ แต่พอทำโปรเจกต์นี้ เราก็เลยนำภาพของในหลวงไปด้วย
เราเจอภาพที่พระองค์ท่านเสด็จไปในสวนพร้อมกับพระราชินี เราก็หาข้อมูล
แล้วโชคดีมากที่มีรุ่นน้องทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ
เราก็เลยขอเขาว่า ช่วยติดต่อสถานทูตไทยที่นั่นหน่อย
ว่าอยากจะไปถ่ายรูปตามรอยที่สวนแห่งนี้ รุ่นน้องก็ช่วยจัดการให้
นัดแนะวันกันเรียบร้อย พอวันเดินทางไปถึง
เราก็โชคดีมากที่ท่านทูตเข้าใจจุดประสงค์ของเรา ท่านทูตก็พาเข้าไปเดินดู
พาไปเดินเล็งมุมของภาพว่าอยู่ตรงไหน จนเราได้ภาพกลับมา นั่นคือที่โตเกียว
ส่วนที่เกียวโต พระองค์ก็เสด็จไปที่วัดต่างๆ เราก็ไปตามรอยที่ๆ ท่านเสด็จ
ส่วนที่มาเลเซีย
เราก็หาข้อมูล จนพบว่า พระองค์ก็เคยเสด็จมาที่นี่เหมือนกัน เราก็โอเค หารูปไปทำ
จนเราพบว่า พระองค์เสด็จไปที่วัดไทยเกือบทั้งประเทศเลยนะ
หลังจากนั้นก็จะมีภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่นั่นว่าพระองค์เสด็จไปที่วัดไทยเชตะวัน
ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ แล้วมีภาพ 2-3 ภาพ เราก็คิดว่าโอเคแหละ
เป็นภาพนี้ ก็ปริ๊นต์รูปจากที่ไทยไปแล้วไปถ่ายที่นั่น
พอไปถึงที่วัด
ปรากฏว่าภาพที่เราเตรียมมา มันเป็นวัดไทยที่ปีนัง เราก็เลยไปถามเจ้าอาวาสวัดที่นั่น
หลวงพ่อก็บอกว่าเป็นภาพที่วัดที่ปีนัง เราจึงขอรบกวนหลวงพ่ออีกครั้งว่า
พอจะมีภาพของที่นี่หรือเปล่า ท่านก็ไปหามาจากหนังสือให้
ในที่สุดเราก็ได้ภาพมาจากหนังสือเล่มนั้น เราก็ถ่ายภาพจากมือถือ
แล้วไปปริ๊นท์ให้เป็นขนาด 4
X 6 แล้วก็กลับมาถ่ายใหม่ ก็เป็นภาพที่พระองค์ท่านกำลังถวายสังฆทานให้กับพระในอุโบสถที่วัดแห่งนั้น
• คิดว่า การตามรอยเสด็จของพระองค์ท่าน ให้อะไรยังไงแก่เราบ้าง
มากเลยล่ะครับ
ก่อนหน้านี้ เราก็เคยอ่านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทมาเหมือนกัน แต่มันไม่ลึกซึ้ง
มันไม่เข้าไปอยู่ในสมองเรา เรียกว่าไม่ได้ซึมซับเต็มที่
มันไม่เหมือนกับที่เราไปพบเห็นเอง แล้วกลับมาอ่านเอง เราก็จะจินตนาการตามได้ว่า
ในหลวงไปแล้วทำอะไร มันมีความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พระองค์ทำกับพื้นที่นั้นยังไง
การที่ไปเห็นด้วยตนเอง
มันเห็นชัดว่าท่านมาทำอะไรเพื่ออะไร และหลายที่ก็มีแนวคิดหลายเรื่อง อย่างเช่น
ตอนช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จไปยังภาคเหนือบ่อยๆ แล้วให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น
เห็นได้เลยว่าพระองค์ท่านคิดไว้ดีแล้วว่าจะไปให้เขาเลิกปลูกฝิ่นเลยก็ไม่ได้
ฉะนั้นต้องหาพืชทดแทนให้กับเขาปลูก แล้วบอกว่าพืชทดแทนนี้ มันทำกำไรได้ดีกว่านะ
เช่นไปผาหมี ก็ให้ชาวเขาปลูกกาแฟแทนปลูกฝิ่น แล้วจะได้ราคาดีกว่านะ
หรือไปที่ดอยปู่หมื่นก็ไปให้ชาวเขาปลูกชาอัสสัม เพื่อที่จะบอกว่า
ชาจะได้เงินมากกว่าปลูกฝิ่นนะ
พอไปดูเอง
มันเกิดการเรียนรู้ ซึมซับเข้าไป
ทำให้เราได้รู้ว่าพระองค์ทรงคิดอย่างรอบคอบมากว่าอะไรเหมาะสมกับตรงไหน
อันนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดมากเลย
อย่างสถานีเกษตรหลวงที่พระองค์ท่านทรงไปสร้างไว้เยอะๆ แถวภาคเหนือ
ก็คือไปเพื่อที่จะไปสร้างเป็นแปลงทดลอง พระองค์ท่านทรงไปทดลองปลูกถั่วแมคคาเดเมีย
ปลูกบ๊วย และพืชชนิดอื่นๆ แล้วพอไปปลูกทดลองแล้วมันดี ก็ให้เกษตรกรมาเรียนรู้
พอเรียนรู้เสร็จ ก็ไปทำของตัวเอง หรืออย่างสตรอว์เบอร์รีพระราชทาน 80 ก็มาจากสถานีเกษตรหลวงทั้งนั้น
หรืออย่างศูนย์วิจัยและพัฒนาแหลมผักเบี้ย
เป็นจุดที่พระองค์ท่านทำขึ้นมาเพื่อบำบัดน้ำเสียที่มาจากเมืองเพชรบุรี
ซึ่งปกติถ้าน้ำเสียออกจากเมืองไปก็จะไหลลงทะเลแล้วมันสกปรกใช่มั้ยครับ แต่พระองค์ท่านก็มาปรับเปลี่ยนโดยวิธีการธรรมชาติ
ก็คือเอาน้ำมาผึ่งอากาศแล้วกลับไปมา 3-4 บ่อ
แล้วปล่อยลงสู่บ่อชายเลน พอลงทะเลก็กลายเป็นน้ำสะอาด
คือเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นวิธีที่ง่ายมากเลย แล้วมันก็เหมาะกับพื้นที่ด้วย
มันก็กลับมาทำให้เราได้คิดด้วยว่า เวลาที่เราคิดจะทำอะไร เราก็ควรจะมองบริบทกว้างๆ
เพื่อดูที่อะไรก็ได้ที่มันง่ายและมันเหมาะสมกับพื้นที่ แล้วนำมาใช้กับชีวิตเราได้
อย่างนี้ครับ
• คุณคิดว่าภาพไหนคือความเป็นที่สุดสำหรับตนเองครับ
(นิ่งคิด) ถ้าเป็นภาพที่ให้ความรู้กับเราที่สุดนะ จะเป็นภาพที่ในหลวงทรงเจิมก้อนหินที่หาดเตยงาม
จังหวัดชลบุรี ซึ่งภาพนั้นให้แง่คิดที่มากที่สุดภาพหนึ่งเลย เพราะตอนที่เราไปถ่าย
ก็ไม่ได้ค้นข้อมูลแบบละเอียดนะ
แต่ว่าพอเรามาค้นข้อมูลถึงพระราชดำรัสหนึ่งที่ตรัสว่า เวลาที่เราแล่นเรือใบ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องคิดเองทำเอง เวลาที่เราแล่นเรือใบ
จะไม่มีใครมาช่วยเราได้
แล้วเวลาที่เราแล่นเรือว่าเราจะแล่นอย่างไรให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย
เราก็ต้องคิดเองทำเอง เราต้องรู้ว่า ถ้าเกิดมีลม เราจะหันกางใบไปทางไหน
ถ้าลมมันหยุด เราจะหยุดอยู่ยังไงเพื่อให้เราปลอดภัย ซึ่งพอเราได้มาอ่านแล้ว
มันจริงนะ มันเป็นหลักคิดง่ายๆ เลยว่าควรจะมาปรับใช้กับชีวิตของเราทุกคนเลย
คือถ้าราทำแบบนี้ได้ เราก็ไม่ต้องไปรอพึ่งพิงคนอื่น
เราก็ต้องพยายามเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเราเองให้เต็มที่ที่สุด
• จากการที่ไปสัมผัสกับสถานที่จริง มันส่งผลต่อตัวคุณอย่างไรบ้าง
ถ้าในเชิงกายภาพ
เรารู้สึกว่าเราได้เห็นความยิ่งใหญ่ในพระมหากรุณาธิคุณ
ในพระเมตตาที่ท่านทรงตรากตรำพระวรกายของพระองค์เพื่อคนไทย
นี่ขนาดที่เราไปมาแค่นิดเดียวเองนะ เรายังรู้สึกได้ถึงความลำบากมาก
อย่างเช่นตอนไปผาหมี พระองค์ท่านก็เสด็จไปด้วยเฮลิคอปเตอร์
หรือจะขึ้นดอยแต่ละครั้ง ชาวบ้านก็ให้ขี่ม้า ขี่ลาขึ้นไป
คือเรารู้สึกว่าท่านไม่ต้องลำบากก็ได้ ไม่ต้องขับรถลุยน้ำไปก็ได้
แต่พระองค์ท่านก็ยังทำ อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นด้วยตาของเราจริงๆ
นี่คือความยิ่งใหญ่ของพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์จริงๆ
ส่วนทางด้านจิตใจหรือทางหลักคิด
เราได้เห็นถึงหลักคิดหนึ่งเลย คือเรื่องของการทำประโยชน์เพื่อสังคม
เรารู้สึกว่าถ้าเห็นท่านทรงงานเพื่อสังคมเป็นหลักเลย
ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราคนไทย เริ่มจากตัวเองหรือครอบครัวเล็กๆ ก่อนก็ได้
ในการที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมจริงๆ คนละนิดละหน่อย คือทำตัวเองให้ดีก่อน
แล้วก็ขยับมาทำอะไรเพื่อสังคม
มันก็จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้สังคมเราเดินไปในทางที่ถูก และดีขึ้นแบบยั่งยืน
• สำหรับโครงการนี้ คุณมีแพลนที่จะทำอย่างไรต่อไปบ้าง
ถ้าเป็นเป้าหมายจริงๆ
เราอยากจะทำเป็นแอพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่รวบรวมจุดที่ในหลวง ร.9 เคยเสด็จไป หรือทำเป็นแอพลิเคชั่นให้คนดาวน์โหลด
สมมุติว่าคนดาวน์โหลดแอพฯนี้ขึ้นมา คุณจะเห็นว่า อีก 30
กิโลเมตร จะพบกับจุดที่พระองค์เคยเสด็จนะ ก็สามารถนำทางได้เลย เราอยากจะทำแบบนี้
ให้ได้ทั่วประเทศเลย เพื่อที่จะให้คนไทยได้รู้ว่า ท่านเสด็จทุกที่ และทุกที่นั้นอยู่ตรงไหนบ้าง
แม้ว่ามันอาจจะครบในจุดที่พระองค์ท่านเคยเสด็จได้ แต่ก็พยายามเพิ่มไปเรื่อยๆ
ก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นจริงๆ
ซึ่งการถ่ายรูปในลักษณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ ก็ยังมีอีกหลายที่เช่นกัน
ที่ยังไม่ได้ไปหรือไปน้อยมาก ก็จะพยายามไปให้ครบทุกจังหวัดที่พระองค์ท่านเสด็จครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น