วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ชายแดนใต้ได้อะไรจากโครงการก้าว (ก้าวคนละก้าว)
#ชายแดนใต้ได้อะไรจากโครงการก้าว
(ยาวหน่อยแต่ลองอ่านดูจะอิ่มเอมใจไปด้วยกัน)
#มากกว่าเงินบริจาคให้โรงพยาบาลยะลาคือความรักและสิ่งสวยงามในพื้นที่ที่สู่สาธารณะ
การเริ่มต้นวิ่งจากใต้สุดแดนสยาม อ.เบตง
จ.ยะลา ที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงถึงตาย ที่หลายคนหวาดกลัว นับเป็นความกล้าหาญ
และความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพื้นที่นี้ยิ่งนัก
หากมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางมุมที่ฉันได้เฝ้ามองมานั้น พอจะมีดังนี้
1)
สังคมภายนอกเห็นความงดงามของธรรมชาติในพื้นที่ : เส้นทางหลักที่พี่ตูนวิ่ง
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นวันแรก ไปยังจุดพักต่างๆ ได้ผ่านความงดงามตามธรรมชาติในพื้นที่ที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้
ยังไม่ค่อยปรากฎออกไปสู่สาธารณะมากนัก เช่น ความงามของภูเขา ทะเลหมอก แม่น้ำ
หรือน้ำตก ในพื้นที่อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา ซึ่งการวิ่งไปไลฟ์สดไปด้วย
ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารออกสู่ภายนอก จนฉันสังเกตเห็นคอมเมนท์หลายต่อหายคอมเมนท์
ที่อยากมาเที่ยว มาปั่นจักรยาน หรือมาเยือนพื้นที่นี้สักครั้ง
2)
สังคมภายนอกเห็นวิถีชีวิตและมีโอกาสเข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่นี้มากขึ้น :
การวิ่งนับเป็นเครื่องมือในการพบปะผู้คน อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฉันไม่รู้
แต่การวิ่งครั้งนี้พี่ตูนทำให้คนไทยทั้งประเทศ และผู้คนอีกหลายแห่งบนโลกใบนี้
เห็นว่าความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิม พี่น้องพุทธในพื้นที่
ยังมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพิงกัน
และพวกเราก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้น่ากลัวกว่าคนซีกอื่นของประเทศ และ “เราน่ารักกว่าที่หลายคนคิดนะ”
3) ผู้คนจากชายแดนใต้/ปาตานีมีรอยยิ้มแห่งความสุข
ที่สื่อสารให้ผู้คนในประเทศ และโลกใบนี้ : หลายคนหวาดกลัวที่จะมาเยือนชายแดนใต้
แค่บอกชื่อจังหวัดว่ามาจาก ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ให้คนข้างนอกฟัง
หลายครั้งเราก็ถูกหวาดกลัวโดยเราไม่รู้ตัวว่าทำอะไรผิด และหลายคนมองว่าเราคงมีทุกข์มากกว่าสุข
แต่ในมุมของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิ่งตลอด 5 วันที่ผ่านมา
พวกเราพร้อมเป็นผู้ส่งความสุขให้สังคมนี้ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่น
และเราเองต้องการความสุขที่ส่งจากภายนอกเข้ามาเช่นกัน
4) พวกเราเกิดปฏิสัมพันธ์กันเองภายใน
ที่ลดช่องว่างทางความไม่ไว้ใจ : จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรง
มันทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนจางหายไปมาก
หลายครั้งประชาชนก็จะหวาดระแวงเมื่ออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่
และพี่น้องพุทธจะทักทายพี่น้องมุสลิมน้อยลง แต่สิ่งที่ฉันได้เห็นระหว่างทางของการวิ่งคือ
ผู้คนในพื้นที่ต่างมีรอยยิ้ม และมีน้ำใจให้กัน ไม่แบ่งฉันแบ่งเธอ
ชาวบ้านกับทหาร/เจ้าหน้าที่รัฐ พูดคุยกันได้
เหมือนเราอยู่ด้วยกันมานานแต่แค่หวาดหวั่นที่จะใกล้กัน แต่ถ้าเราขยับเข้ามาใกล้กัน
มีเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ “เธอกับฉันก็อยู่ร่วมกันได้ดังเดิม”
5) การแบ่งปันและเป็นผู้ให้
มีมากมายอยู่ในพื้นที่นี้ : น้ำใจที่หลั่งไหลมาสู่การบริจาคให้พี่ตูนมีทุกวัน
และข้อมูลที่ปรากฏคือ ยอดบริจาคริมทางที่พี่ตูนผ่านในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้คือ
มียอดบริจาคประมาณวันละ 1 ล้านบาท ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนว่ามีคนในพื้นที่จำนวนมากที่พร้อมเป็นผู้แบ่งปันให้กับคนอื่น
แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่ปกติแบบส่วนอื่นของประเทศ
แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยทำให้เราแล้งน้ำใจเลย
ลองนั่งทบทวนแล้วเห็นผลกระทบคร่าวๆ
แบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะขอบคุณพี่ตูนอีกครั้ง และอยากจะบอกว่า
#อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ
อย่าไปคิดว่ามันเป็นวันสุดท้าย น้ำตาที่ไหลย่อมมีวันจางหาย หากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่รู้ถึง
#ความสุขใจ....เนื้อเพลง ฤดูที่แตกต่าง ของพี่บอย โกสิยพงษ์
ดังขึ้นในหัวใจฉัน ในวันนี้เพราะเรารู้ว่าระยะทางที่ยาวไกล อาจจะทำให้ใครหลายคนท้อ
และระยะเวลาที่นาน บวกกับอุปสรรคระหว่างทาง อาจจะทำให้ใครหวาดหวั่น
แต่ด้วยความมุ่งมั่นของพี่ตูนและทีมงานก้าว ที่แสดงออกมาสู่สังคม
ทำให้ฉันมั่นใจว่าทุกอย่างมันจะผ่านไปได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณพี่ตูนที่ทำให้รอยยิ้มย้อนกลับมา ขอบคุณพี่น้องชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธ ที่ร่วมเป็นกำลังใจให้กันและกัน.
ตอบลบ