วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ศอ.บต.และทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน 3 เมืองต้นแบบชายแดนใต้ เน้น เกษตร ท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นอาชีพให้ประชาชน



           พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมปาฐกถาพิเศษ แผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ในโครงการสัมมนาวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ที่ได้รับงบสนับสนุนตามโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศอ.บต. โดยมี ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนีและอดีตประธานรัฐสภา คณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เข้าร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษและกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้




พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า นักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วนตั้งคำถามว่า จบการศึกษาแล้วจะประกอบอาชีพอะไร แผ่นดินนี้มีที่ยืนให้หรือไม่ คำตอบคือ วันนี้เป็นครั้งแรกในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีทุกภาคส่วนช่วยสนับสนุน หนุนเสริม และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เศรษฐกิจในพื้นที่กำลังก้าวกระโดดไปข้างหน้า ประชากร 1.9 ล้านคน ต้องช่วยกันเพื่อให้พี่น้องในพื้นที่มีอาชีพและรายได้ โดยยกระดับการเกษตร การผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค การผลิตสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพ และการผลิตภาคบริการ วันนี้ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ แต่เหตุใดประชากรอายุ 18-60 ปี จำนวน 1.1 ล้านคน ที่เป็นวัยทำงานได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยถึง 4 แสนคน ซึ่งวันนี้เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนจำนวนนี้มีรายได้ที่มั่งคง





           ในส่วนเมืองต้นแบบจังหวัดยะลา ดำเนินการสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการช่วยเหลือให้พี่น้องจังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียงมีงานทำ เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวจากต่างพื้นที่และต่างประเทศเข้ามา จำเป็นต้องมีห้องพักรับรอง ซึ่งขณะนี้พี่น้องตำบลอัยเยอร์เวง จังหวัดยะลา เริ่มปรับปรุงบ้านพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากอาชีพการให้บริการด้านที่พักแล้ว สามารถทำอาชีพให้บริการด้านอาหาร ของใช้ และของที่ระลึก ซึ่งวงจรเหล่านี้สามารถทำเงินแก่พี่น้องในพื้นที่ได้ทั้งสิ้น ส่วนเมืองต้นแบบสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ดำเนินการปรับให้เป็นเมืองลำเลียงและส่งสินค้าที่มีคุณภาพไปยังต่างประเทศ ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าร่วมวงจรเป็นผู้ผลิต ผู้ค้าหรือผู้ส่ง จำหน่ายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ เป็นวงจรอาชีพอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมดยุคจัดโครงการมอบแพะให้ประชาชนเลี้ยง 2-3 ตัวแล้ว หลังจากนี้



ประชาชนจะปลูกพืชอะไร จะเลี้ยงสัตว์อะไร จะต้องมีตลาดรองรับ ต้องมีรายได้จากสิ่งที่ทำอย่างมั่นคง ซึ่งรัฐบาล และ ศอ.บต. ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่เร่งขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ 3 เหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญ และเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์ ได้รับอาชีพและรายได้ ทั้งนี้เมื่อจบการศึกษาและยังไม่มีงานทำ อาชีพการเกษตรพร้อมต้อนรับนักศึกษาทุกท่านที่พร้อมทำการเกษตรรูปแบบใหม่ สามารถสร้างรายได้และผืนแผ่นดินให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น