วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชาวอัสลี-โอรังอัสลี' ชีวิตคนไพร 'วิถีพอเพียง'


           "ชาวอัสลี-โอรังอัสลี" ชนกลุ่มดั้งเดิม ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ได้รับพระเมตตาจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน
ประชากรประเทศไทยนั้น ประกอบไปด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วย รวมถึง ชนกลุ่มดั้งเดิม ซึ่งต่างก็ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ได้รับพระเมตตา จากพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกิน ให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มดั้งเดิมกลุ่มต่าง ๆ นั้น ก็รวมถึง...
 “โอรังอัสลีหรือ อัสลีซึ่งมีถิ่นอาศัยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย        
ที่ผ่านมา แม้ผู้คนทั่วไปจะได้รับรู้เรื่องราวของชนกลุ่มนี้ ผ่านข้อเขียน วรรณกรรม และภาพยนตร์ แต่ก็เป็นการรับรู้ในภาพลักษณ์ของคนป่าผิวดำ ผมหยิกหยอง ทัดดอกชบาสีแดง สวมใส่ผ้าเตี่ยวสีระกำสด และมีป่าเป็นถิ่นฐาน ซึ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด แต่หากเปรียบเทียบเป็นดั่งหนังสือ เรื่องราวที่มีการรับรู้ทั่วไปเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่หน้าปกเท่านั้น เพราะวิถีชีวิต อัสลีหรือ โอรังอัสลีนี้ ยังมีเรื่องราวในมุม ต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งวันนี้ ทีมวิถีชีวิตก็มีแง่มุมบางส่วนมานำเสนอ...


ทั้งนี้ เรื่องราวของ อัสลี” นี้ ได้รับการบอกเล่าไว้ในงานเสวนา เรื่องเล่าโอรังอัสลี...วิถีคนไพร ตอน ...วิถีคนไพรในยุคปัจจุบันซึ่งได้มีการจัดขึ้นเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ณ ทีเค พาร์ค อุทยานการเรียนรู้ กรุงเทพฯ โดยผู้ที่นำเรื่องราวของชนกลุ่มนี้มาบอกเล่านั้น คือ มารีแย มิซายะลง เจ้าหน้าที่ประจำโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 อ.ธารโต จ.ยะลา และ ซูไฮมี มีนา ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา


ซูไฮมีเล่าว่า ตนเองผูกพันกับชาวอัสลีมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะอยู่ในพื้นที่ร่วมกับชาวอัสลีมาแล้วหลายรุ่น ซึ่งเนื่องจากปัจจุบันตนเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนประจำ อบต.อัยเยอร์เวง จึงพยายามที่จะเปิดให้ชาว อัสลีได้ออกมาอยู่ร่วมกับสังคมมากขึ้น เนื่องจากครั้งหนึ่งมีชาวอัสลีคนหนึ่งถูกไม้ไผ่บาดเป็นแผลกว้าง และตนได้ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาลเพื่อให้เย็บแผล แต่เมื่อโรงพยาบาลขอเอกสารประจำตัว คนเหล่านี้ก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้ตนจึงพยายามที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อให้ชาวอัสลีมีตัวตน โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเหล่านี้แต่อย่างใด



 “เราอยากให้อัสลีมีตัวตนมากขึ้น เพราะหากไม่มีหลักฐานอะไรเลย อนาคตเขาลำบากแน่ ๆ ซึ่งอัสลีนั้นไม่ใช่คนต่างด้าว แต่เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานแล้ว แต่ตอนที่ตั้งใจจะขึ้นทะเบียนชาวอัสลี กลับมีคนไปพูดกันปากต่อปากว่า หากไปขึ้นทะเบียนจะถูกเกณฑ์ทหารแน่ ๆ โครงการจึงยังไม่ประสบความสำเร็จนัก และชาวอัสลีเขาก็ยังไม่รู้ว่าหากขึ้นทะเบียนแล้วพวกเขาจะได้อะไร หรือหากไม่ขึ้นทะเบียนจะมีผลกระทบอะไรบ้าง
ด้าน มารีแย ที่ทำงานอยู่ภายในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 มาได้ราว 5 ปี เล่าว่า สาเหตุที่ได้รู้จักกับชาวอัสลีนั้น เพราะหน้าที่ของตนต้องไปหาพันธุ์ไม้ในป่า เพื่อมาเพาะปลูกในเรือนเพาะชำ และในการหาพันธุ์ไม้ก็จะต้องเข้าป่า จึงได้ว่าจ้างคนอัสลีซึ่งชำนาญเส้นทางในป่ามาเป็นผู้นำทาง โดยมีอาหารตอบแทนเป็นค่าจ้าง 
 “ระยะเวลา 5 ปีที่ทำงาน และร่วมเดินทางใช้ชีวิตในป่าอยู่ด้วยกัน ก็ค่อย ๆ สนิทสนมกันมากขึ้นค่ะ จนตอนนี้เราไม่ใช่คนแปลกหน้ากันแล้วมารีแยกล่าว
      


และมารีแยกับซูไฮมี ก็ยังได้ฉายภาพ ชาวโอรังอัสลีอีกว่า คนไทยมักจะรู้จักกลุ่มชนนี้ในชื่อ ซาไกโดยในประเทศไทยมีอยู่  2 กลุ่มหลัก คือ มานิซึ่งเป็น กลุ่มที่พูดภาษาไทยได้ มีถิ่นอาศัย อยู่ที่ จ.พัทลุง และบริเวณแถบเทือกเขาบรรทัด ส่วนอีกกลุ่มก็คือ อัสลีซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษายาวี และอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ฮาลาบาลา ที่มีรอยต่อติดต่อกันระหว่าง จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยตามเอกสารระบุว่า คนกลุ่มนี้อาจจะอพยพมาจากทวีปแอฟริกาเมื่อพันปีมาแล้ว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันก่อนมีการจัดตั้งชาติไทยขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะมีประชากรอัสลีที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ฮาลาบาลาประมาณกว่า 100 คน และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้น เพราะชาวอัสลีจะไม่มีการคุมกำเนิด
 “หากไปที่ทับ หรือที่อยู่ของเขาจะพบว่า มีเด็กเล็ก ๆ ที่อายุไล่เลี่ยกันเป็นจำนวนมากมารีแยให้ข้อมูลไว้


ด้านซูไฮมีก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอดีตมีชาวอัสลีอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่พักหลัง ๆ เริ่มหาย ไปบ้าง นับตั้งแต่ช่วงที่มีการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) ซึ่งชาวอัสลีถูกกับระเบิดจนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย จนภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว จึงมีคนรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีกลุ่มอัสลีมากขึ้น  ซึ่งโดยปกติใน 1 ทับ (หมู่บ้านชาวอัสลี) จะมีสมาชิกอาศัยอยู่ราว 30 คน และเมื่อมีสมาชิกมากขึ้นก็จะมีการขยับขยายแยกทับออกไป
ในแง่ อุปนิสัยนั้น มารีแยบอกว่า อัสลีเป็นกลุ่มที่น่าคบมาก เพราะเป็นคนซื่อ จริงใจ และมีชีวิตเรียบง่าย แต่มักจะไว้ใจคนยาก ทั้งนี้ เวลาที่ลงพื้นที่ทำงานนั้น จะมีชาวอัสลีที่สนิทมาเล่าถึงชีวิตประจำวันให้ฟังเสมอ ขณะที่ซูไฮมีกล่าวว่า ในสมัยก่อนพวกอัสลีก็จะติดต่อกับชาวบ้านอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงกับเปิดกว้างให้คนภายนอกเข้าไปในทับ โดยจะมีไม่กี่คนเท่านั้นที่คนกลุ่มนี้จะเปิดโอกาสให้เข้าไปดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งต้องเป็นคนที่เขาไว้ใจจริง ๆ และเมื่อเคยติดต่อกับคนไหนแล้วก็จะติดต่อกับคนนั้นไปตลอดจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ 
 “ชาวอัสลีจะตื่นเช้ามากเพื่อออกไปทำงานรับจ้าง หรือออกไปหากินในป่า พอถึงราว ๆ บ่ายสองโมง เขาก็จะกลับเข้าทับกันแล้ว เพราะหากกลับเย็นท้องฟ้าจะมืด ทำให้การเดินทางจะยิ่งลำบาก ซึ่งหากเป็นการออกไปล่าสัตว์ในป่า ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่คือเลี้ยงลูก และถักใบจากเพื่อใช้มุงหลังคาบ้าน รวมถึงถักจุกลูกดอกที่ใช้สำหรับล่าสัตว์ แต่หากเป็นกรณีที่ออกไปรับจ้างทำสวนนอกป่า ทุกคนก็จะช่วยกันทำงาน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ตลอดจนเด็กเล็กก็จะช่วยกันด้วย” ...เป็นภาพ การใช้ชีวิตของชนกลุ่มดั้งเดิมอีกกลุ่มของประเทศไทยกลุ่มนี้ที่มีการบอกเล่าไว้
ซูไฮมียังบอกต่อไปว่า สำหรับคนที่ชาวอัสลีไว้ใจ การไปหาหรือเยี่ยมเยืยนถึงที่ทับนั้นสามารถทำได้ แต่ถึงเวลาก็ต้องกลับ ห้ามค้างคืนเด็ดขาด และต่อให้สนิทกันแค่ไหนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นอนค้าง ซึ่งชาวอัสลีเป็นคนประเภทที่อยู่ในกฎและจะทำอะไรตามกรอบของตนเองอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่า การเปลี่ยนแปลงของเมืองจะส่งผลต่อวิถีชาวอัสลีหรือไม่ ชาวอัสลีจะอยู่ร่วมกับสังคมได้หรือไม่ เรื่องนี้ทางมารีแยกล่าวว่า ในแง่การมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะแต่ก่อนเวลาชาวอัสลีเจอชาวบ้านก็จะวิ่งหนีหายเข้าไปในป่า จึงไม่ค่อยได้พบกับผู้คนมากสักเท่าไร เพราะอัสลีรักสันโดษ และจะอยู่แต่กับพวกพ้องเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในสายตาคนภายนอกจึงมองชีวิตอัสลีเป็นของแปลก ซึ่งในปัจจุบันนี้ถือว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก


 “ชาวอัสลีที่เป็นผู้ใหญ่จะไม่ค่อยกลัวชาวบ้าน แต่เด็ก ๆ       อัสลียังกลัวผู้คนอยู่” ...มารีแยระบุ
การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อก่อนชาวอัสลีจะขุดหัวมันกิน แต่ระยะหลังพอเริ่มติดต่อกับชาวบ้านมากขึ้น จึงเริ่มเปลี่ยนมากินข้าว หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็เนื่องจากการที่ในป่ามีแหล่งอาหารน้อยลง เพราะพื้นที่ป่าถูกบุกรุกมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของประชากรอัสลีที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาหารขาดแคลน
 “ระหว่างข้าวสารกับข้าวเหนียว คนอัสลีจะเลือกกินข้าวเหนียว เพราะกินแล้วอยู่ท้องมากกว่า และบางคนก็ชอบกินปลากระป๋องมาก” ...ซูไฮมีเสริมข้อมูลเรื่องนี้ ส่วน กับข้าว นั้น เดิมชาวอัสลีมักจะกินสัตว์ที่ขนาดไม่ใหญ่ เช่น กระรอก ค่าง นก หนู เพราะอาวุธที่ใช้ล่าสัตว์ หรือที่เรียกว่า บอเลาความเข้มของพิษจะไม่สามารถล้มสัตว์ตัวใหญ่ ๆ ได้
มารีแยให้ข้อมูลเพิ่มว่า ชาวอัสลีที่อยู่ใกล้กับโครงการจุฬาภรณ์ พัฒนา 7 เดิมจะบริโภคเนื้อกวาง แต่ปัจจุบันนี้ไม่แล้ว เพราะเขาบอกว่า หัวหน้าป่าไม้ไม่ให้กิน เพราะต้องการอนุรักษ์กวางไว้ ซึ่งตัวอย่างนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนได้อย่างดีว่า ชาวอัสลีเป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับทางการมาก และยังช่วยทางราชการดูแลป่าไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่า...ผืนป่า คือ บ้านของเขา
ทุกวันนี้ก็จะพยายามปลูกฝังเรื่องการรักษาป่าให้กับคนอัสลีอยู่เรื่อย ๆ เช่น หากจะหาลูกเนียงนก ก็หาได้ แต่อย่าโค่นต้นไม้ แต่ให้เลือกตัดเฉพาะกิ่งก็พอ หรือหัวหน้าป่าไม้บอกว่าอย่ากินสัตว์ อย่าล่ากวาง เขาก็เชื่อ และยังช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่อีกด้วย โดยจะคอยสอดส่องคนที่ลักลอบตัดต้นไม้” ...มารีแยเล่า
ในส่วนของซูไฮมี ก็ได้เน้นย้ำว่า ชาวอัสลีฝากมาบอกว่า ไม่อยากให้คนภายนอกรุกล้ำเข้าไปในโลกของเขา ที่หมายถึงไม่อยากให้คนบุกรุกเข้าไปตัดป่า เพราะป่าคือบ้านของเขา โดยเขาสัญญาว่าจะช่วยรักษาป่าให้ ซึ่งในฐานะคนที่คลุกคลีกับชีวิตของชาวอัสลี ก็อยากฝากถึงสังคมภายนอกว่า อยากให้คนภายนอกเปิดใจยอมรับชาวอัสลี หรือโอรังอัสลี ว่าก็เป็นคนเหมือนกับเรา และที่สำคัญ อย่าเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เงาะป่าเลย!!! เพราะเป็นคำเรียกที่เหมือนเป็นการดูถูกพวกเขา

ปิดท้ายกับ ความประทับใจที่ผู้ให้ข้อมูลทั้งสองคนมีต่อ ชาวอัสลีทั้งคู่ร่วมกันบอกไว้ว่า การใช้ชีวิตของคนอัสลีทำให้คนภายนอกผืนป่าอย่างเราได้เห็นว่า การที่พวกเขาอยู่ในป่านั้น ไม่มีเงิน เขาก็อยู่ได้ เพราะ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอเพียง คนอยู่ในเมือง หากไม่มีเงินก็คงจะอยู่ไม่ได้ และถึงแม้ ในปัจจุบันคนอัสลีจะเริ่มมีการรับวัฒนธรรมคนภายนอกเข้าไปปรับใช้บ้าง แต่ก็ยังรักษาวิถีประเพณีของตนเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง เช่น การใช้ชีวิตเป็นครอบครัว เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าชมเชยอย่างยิ่งของกลุ่มชนกลุ่มดั้งเดิมกลุ่มนี้ ที่เรื่องราววิถีของพวกเขาในวันนี้ก็ยังถือว่าลึกลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น