วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รัฐบาลเร่งสานต่อ​โครงการเศรษฐกิจ​และ​ความมั่นคงชายแดนใต้

       นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา รวมทั้งข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและติดตามการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

    โดยรองนายกรัฐมนตรีบอกกับทีมงานของเราว่า น่ายินดีที่​สถิติการก่อเหตุลดน้อยลงมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งกองทัพ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่ได้ร่วมกันทำงานจนทุกๆอย่างเริ่มดีขึ้น




      จากนี้ไปก็คงจะเป็นเรื่องของการเร่งพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณผ่านทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน เร่งสร้างงานและสานต่อโครงการใหญ่ๆ ทั้งการก่อสร้างถนน สนามบินเบตง ให้แล้วเสร็จ 



     รวมทั้งจะส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนด้วยการให้สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทั้งแปรรูปผลไม้ ยางพารา และผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เพื่อเป็นการยกราคาผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบทุนพระราชทาน แก่นักเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา


     เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุมศรียะลา อาคาร 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานมอบทุนพระราชทาน เพื่อการศึกษาสงเคราะห์ ประจำปี 2562 แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในพื้นที่ จำนวน 6 ราย โดยมี นางสุภาพร วุฒิศาสตร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ในฐานะกรรมการ งานสังคมสงเคราะห์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ มี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าราชการ และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมแสดงความยินดี



         ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อนุมัติทุนพระราชทาน เพื่อการศึกษาสงเคราะห์ แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา เป็นผู้แทนของมูลนิธิฯ ในการติดตามผลการเรียน และดูแลนักเรียนทุนฯ ตามหลักการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย ทุนนักเรียนเรียนดี ฐานะยากจน 1.นางสาวพาตีเม๊าะ มะแอ จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 2.นางสาวนูรอีมา กาเดร์ จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นปริญญาตรี ปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลา และเป็นทุนเด็กกำพร้า บิดาเสียชีวิตจากเหตุการณ์อุทกภัย ประกอบด้วย 1.นายอนัส วาเลาะ ปัจจุบันกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ อ.ยะหา จ.ยะลา 2. ด.ญ. อัสมา วาเลาะ ปัจจุบันกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเกล็ดแก้ว อ.ยะหา จ.ยะลา 3. ด.ญ.กัสนีย์ สะอิ ปัจจุบันกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโต๊ะปาแก๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา และ 4. ด.ช.อิรฟาน สะอิ ปัจจุบันกำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโต๊ะปาแก๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา



       โอกาสนี้ นักเรียนทุนพระราชทานการศึกษาสงเคราะห์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกล่าวปฏิญาณตน ความว่า " ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตน เป็นนักเรียนที่ดี ตั้งใจเรียน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน และเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะประกอบอาชีพสุจริตเป็นพลเมืองดีต่อไป "


จิตอาสาสภาแต - ออ ร่วมระดมแนวคิดเห็น ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ


         เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ ร้าน A- FA Sea Food สวนน้ำตลาดใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา พันโทนรบดี บัวสุสวรรณ รองผู้อำนวยการ กองภาคประชาสังคมศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธาน เปิดกิจกรรม จิตอาสาภาคประชาสังคม การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์และสังคมพหุวัฒนธรรมใต้ร่มธงไตรรงค์เพื่อทำความดีถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ จากนั้น นายรุสตาน อาลี นายกชมรมเยาว์ชนจิตอาสาสภาแต-ออ นายอัฟนันต์ ดารอ ร่วมขับร้องเพลงชาติสรรเสริญพระบารมี,เพลงชาติไทยม รักกันไว้เถิด ใต้ร่มธงไตรรงค์ เพื่อปลูกจิตสำนึกความรักชาติเป็นหนึ่งเดียว สร้างพื้นที่ปลอดเหตุ คนปลอดภัย ต้านการการยุงเกี่ยวกับยาเสพติดทุกรูประบบ สร้างมิตรทุกภาคส่วน ร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ให้กลมเกลียวสร้างสรรค์สันติสุข



            จากนั้น นายอามะ สนิ บัณฑิตอาสาได้เป็นแกนนำหลักนำเยาวชน ประมาณ 100 คน ระดมสมองเพื่อหาแนวทางสร้างสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบนโยบายของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เน้นหนักในเรื่องของพื้นที่ปลอดเหตุประชาชนปลอดภัย เน้นแก้ปัญหายาเสพติดทุกระบบ เป็นมิตรกับทุกภาคส่วน หรือการพูดคุยสันติสุขกับทุกกลุ่ม รวมใจไทยหนึ่งเดียว หรือ พหุวัฒนธรรมภายใต้ธงไตรรงค์ และ กลมเกลียวสร้างสรรค์สันติสุข ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ ชมรมเยาว์ชนจิตอาสาสภาแต-ออ ได้ร่วมกันแปลตัวอักษรคำว่า “Peace” ที่มีความหมายว่า สันติสุข



            
       กิจกรรมดังกล่าวทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยศูนย์สันติวิธีร่วมกับ ชมรมเยาว์ชนจิตอาสาสภาแต-ออ จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 



            
      พันโทนรบดี บัวสุวรรณ รองผู้อำนวยการ กองภาคประชาสังคมศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า เราจะสร้างความเข้าใจทุกองค์กร ภาคส่วน และผู้นำ ตามนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่จะสร้างพื้นที่ชายแดนใต้ให้ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย อนาคตไร้สิ่งเสพติดทุกชนิด รวมกันอยู่อย่างพหุวัฒนธรรมใต้ธงไตรรงค์ ให้มีความกลมเกลียวร่วมสร้างสรรค์สันติสุข โดยให้เกิดจากความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการนำเสนอปัญหาทุกอย่างพร้อมๆ กับการร่วมกันแก้ไขปัญหานั้นด้วยกัน 


   นางคอลีเยาะ หะหลี ตัวแทนเยาวชนกลุ่มจิตอาสาสภาแต-ออ กล่าวว่า ขอขอบคุณศูนย์สันติวิธี ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆเยาว์ชนได้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิดและร่วมทำกิจกรรมดีๆ ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เชื่อว่าการระดมแนวคิดจุดเล็กๆแบบนี้ จากรุ่นสู่รุ่นจะทำให้ขยายความคิดที่สร้างสรรค์ และจะเติบโตในความคิดบวกต่อประชาชนในอนาคตต่อไป

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ชมนกอินทรีย์ดูเรือประเพณี ที่ตำมะลัง สตูล


     วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล ซึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่ายานพาหนะที่ใช้กันอย่างเคยชินนอกจากรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์แล้ว เรือก็เป็นอีกหนึ่งพาหนะที่ชาวบ้านใช้เพื่อประกอบอาชีพประมงและเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน โดยเมื่อว่างเว้นจากการทำประมง ชาวบ้านจะรวมตัวกันแข่งขันเรือพายระหว่างชุมชน เพื่อประลองฝีพายและถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านจนกลายเป็นประเพณีการแข่งขันเรือพายประจำปีของตำบลตำมะลัง



      เพื่อเป็นส่งเสริมความสามัคคีของชาวบ้านและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลังจึงจัดให้มีการแข่งขันแข่งพายเรือประเพณีขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 10 ทีม ในแต่ละครั้ง นอกจากการแข่งขันเรือพาย 14 ฝีพายแล้ว ยังมีการละเล่นของเด็กๆ ในชุมชนที่ได้นำมาจัดเป็นการแข่งขันอีกหนึ่งประเภท คือ เรือพายเด็ก หรือ เปอราฮูตางัน ในภาษามาลายู ซึ่งเด็กๆจะนิยมเล่นกันโดยใช้อุปกรณ์พายมือและเรือประดิษฐ์ลำเล็กๆ ด้วยความมุ่งมั่นของเด็กที่ต้องการเอาชนะทำให้ฝีพายทั้ง 2 คน จะต้องเร่งฝีพายจนเรือหมุนอยู่กับที่ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการพาย เรือจึงจะแล่นไปข้างหน้า เรียกเสียงหัวเราะและสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมรอบๆ ตลอดริมฝั่งน้ำ



       นอกจากการแข่งขันเรือพายประเพณีแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ของการมาที่ตำมะลังก็คือการไปดูและให้อาหารนกอินทรีย์ โดยนายสุรินทร์ หลงกูนัน ประธานชุมชนท่องเที่ยวสุไหงตำมะลัง บอกกับทีมงานของเราว่า พื้นที่ตำบลตำมะลังมีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความงดงามตามธรรมชาติ เนื่องจากที่นี่ยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมถึงนกอินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในป่าบริเวณนี้ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารนกอินทรีย์ได้ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 - 13.00 น. ด้วยวิธีล่องเรือแล้วมัคคุเทศก์ในชุมชนจะส่งสัญญาณเรียกนกออกมาเพื่อให้อาหาร จากนั้นจะมีนกอินทรีย์นับ 100 ตัวบินตามเรือมาเพื่อกินอาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน  

ขนส่งฯ ยะลา เตรียมเปิดตัวรถมินิบัส ท่าอากาศยานเบตง

     ขนส่งฯ ยะลา เล็งเปิดวิ่งรถมินิบัส ท่าอากาศยานเบตง-เมืองเบตง-ด่านพรมแดนเบตง ค่าโดยสาร 100 บาท รองรับเปิดใช้สนามบินเบตงกลางปี 63 คาดนักท่องเที่ยวชาวไทย-มาเลเซียแห่เที่ยวเบตงคึกคัก


     นายจตุรงค์ แก้วกสิ ขนส่งจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำนักงานขนส่งฯ ยะลาได้จัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเปิดบริการท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ช่วงกลางปี 63 โดยมีแผนจะเปิดเดินรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ประจำทาง 20 ที่นั่ง เส้นทางท่าอากาศยานเบตง-เมืองเบตง-ด่านพรมแดนเบตง ระยะทาง 20 กิโลเมตร (กม.) ค่าโดยสาร 100 บาท ตลอดสายแต่หากนั่งจากท่าอากาศยานเบตง-เมืองเบตง 13 กม. ค่าโดยสาร 60 บาท ซึ่งน่าจะเป็นธรรมกับผู้โดยสารเพราะถือเป็นรถมินิบัสสายแรกของ อ. เบตง และคุ้มค่ากับการลงทุนของผู้ประกอบการ เบื้องต้นจะใช้รถ 2-10 คัน ให้บริการ 6 เที่ยวต่อวัน ขาไป 3 เที่ยว และ ขากลับ 3 เที่ยว


     นายจตุรงค์ กล่าวต่อว่า เตรียมนำเสนอเส้นทางให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้วจะสู่กระบวนการเปิดเชิญชวนหาผู้ประกอบการเดินรถและทดลองเดินรถต่อไป โดยแนวเส้นทางเริ่มจากสถานที่จอดรถโดยสารประจำทางท่าอากาศยานเบตงไปตามทางหลวงชนบทหมายเลข 3026 จนถึงหมวดทางหลวงยะรมแยกขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4326 ผ่านทางเข้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ยะรม ผ่านโรงพยาบาล (รพ.) เบตงตรงไปตามถนนสุขยางค์ ผ่านศาลจังหวัดเบตง วงเวียนหอนาฬิกาเบตง ผ่าน สภ.ภูธรเบตง ที่ว่าการอำเภอเบตงสิ้นสุดสถานที่จอดรถโดยสารประจำทางด่านพรมแดนเบตง


     นายจตุรงค์ กล่าวด้วยว่า จะหารือกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องจำนวนเที่ยวบินต่อวันหรือต่อสัปดาห์ที่จะมาใช้บริการในท่าอากาศยานเบตง เพื่อกำหนดจำนวนเที่ยววิ่งและเวลาให้บริการให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินและรองรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการได้อย่างเพียงพออีกครั้ง เส้นทางนี้จะรองรับผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียที่จะเข้ามาใช้ท่าอากาศยานเบตงและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.เบตง ต่างๆ อาทิ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง, อุโมงค์ปิยะมิตร และสวนดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งเบตงถือว่าเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบาย และมีอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออย่างไก่บตง และ ส้มโชกุนด้วย

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์ฯ ศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร


       ศูนย์ฯ ศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และ อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าพรุ รวมถึงมุ่งเสริมสร้างจิตสำนึก และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุ
      เนื่องจากปัจจุบันศูนย์ฯ ศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ต้องห้ามพลาดในอันดับต้นๆของจังหวัดนราธิวาส ที่นี่เป็นดังห้องเรียนธรรมชาติอันมากไปด้วยสิ่งน่าสนใจและเรื่องราวให้ชวนค้นหามากมาย

      สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติเที่ยวชมป่าพรุโต๊ะแดงนั้น มีทั้งทางน้ำและทางบก โดยทางน้ำได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติคลองโต๊ะแดง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติคลองควาย ส่วนทางบกนั้นจะอยู่บริเวณที่ทำการศูนย์ฯศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติสมุนไพรป่าพรุโต๊ะแดง ระยะทาง 550 เมตร เส้นทางศึกษาธรรมชาติพิพิธภัณฑ์สาคู ระยะทาง 920 เมตร และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดง มีระยะทาง 1,200 เมตร ซึ่งถือเป็นเส้นทางไฮไลท์และเส้นทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่


ประกวดทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองยะลา


​     ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ได้จัดการประกวดสุดยอดทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ที่มีลักษณะผลสวยงาม เนื้อสวยสีเหลืองทองอร่าม แห้ง และมีความอร่อย หอม หวาน มัน
     นายวิชิต ตรีพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา บอกกับทีมงานของเราว่า ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้รับการยอมรับในเรื่องของทุเรียนพันธุ์ ที่มีคุณภาพ รสชาติ อร่อย หอมหวาน ปลูกในภูมิประเทศ​ที่มีความสูง เช่นเนินเขาทำให้มีลักษณะ​เฉพาะ​และ​มีอยู่หลายสายพัน​ธุ์ ที่มีรสชาติ​อร่อยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค​ การจัดประกวดครั้งนี้จึงเป็นการคัดเลือกและอนุรักษ์​ทุเรียน​พันธุ์​พื้นเมืองของยะลาด้วย

       สำหรับ​ผลการประกวดปรากฏ​ว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจากอำเภอธารโตคว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยลักษณะเด่นทั้งสีเนื้อเหลืองงาม รสชาติดี เม็ดลีบเล็ก เนื้อเต็มพู และลักษณะของผลทุเรียนเมื่อผ่าออกมีลักษณะคล้ายกับรูปทรงหัวใจ

     นางวิลัยพร ไก่ยะฝ่าย เจ้าของสวนทุเรียนที่ได้รับรางวัล​ชนะเลิศ​บอกว่า​ ทุเรียนที่นำมาประกวดนี้เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าทุเรียนบ้าน ยังไม่ได้ตั้งชื่อเรียกเฉพาะแต่อย่างใด แต่ภายหลังการประกวด และได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็มีแนวคิดที่จะตั้งชื่อเรียกเพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายต่อไป

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จิบกาแฟกินข้าวบ้องไผ่​ ที่บ้านโตนปาหนัน


    ชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้​ วันนี้ทีมงานของเราจะพาไปชิมกาแฟโบราณ กินข้าวที่หุงด้วยกระบอกไม้ไผ่และอาหารพื้นบ้านรสเลิศที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านโตนปาหนัน อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูลค่ะ


     ชุมชนบ้านโตนปาหนัน หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เป็นหมู่บ้านที่อยู่ท่ามกลางป่าเขา มีลำธารสายเล็กๆไหลผ่าน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา หาของป่า ทำสวนผลไม้ และหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จนก่อให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนของที่นี่ก็คือกาแฟโบราณบ้านโตน ซึ่งชาวบ้านที่นี่จะเรียกว่าโกปี้ค่ะ

    
ในอดีตชาวบ้านบ้านโตนปาหนันจะปลูกกาแฟกันแทบทุกบ้าน คั่วกาแฟกินกันเองและรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน และหลังจากบ้านโตนปาหนันได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ทำให้กาแฟหรือโกปี้ของบ้านโตนปาหนัน เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคอกาแฟที่แวะเวียนมาเที่ยวชิมกาแฟของหมู่บ้านมากยิ่งขึ้น

     หลังจากจิบกาแฟโบราณบ้านโตนปาหนันแล้ว สิ่งที่จะพลาดไม่ได้คือการที่เราจะต้องชิมอาหารพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์การทำเฉพาะของที่นี่ นั่นคือการหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ โดยการนำข้าวใส่ในใบไม้ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่าใบยี่แหรด นำใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ หรือเรียกว่า ข้าวบ้องไผ่ก่อนที่จะนำไปหุงด้วยการเผาหรือหลามข้าว ซึ่งใช้เวลาในการหุงข้าว ประมาณ 1 ชั่วโมง ข้าวที่ได้จะมีกลิ่นหอมและรสชาติที่แตกต่างจากการหุงด้วยหม้อ โดยมีกลิ่นหอมของใบยี่แหรดและกระบอกไม้ไผ่ที่ถูกเผา ส่วนอาหารที่นิยมรับประทานคู่กับข้าวบ้องไผ่ก็คือ ยำผักกูด แกงไก่บ้านใส่หยวก และน้ำพริกกรือแซะ ผักสด ซึ่งหากใครได้ลองชิมอาหารพื้นบ้านเมนูนี้รับรองว่าจะไม่มีวันลืมรสชาติความอร่อยจนต้องกลับมาอีกครั้ง

      สำหรับท่านที่อยากรู้ว่าอาหารอร่อยแค่ไหน แม่น้ำลำธารสวยงามเพียงใด วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมุสลิมที่นี่น่ารักแบบใด ลองมาเที่ยวที่ชุมชนบ้านโตนปาหนัน หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาลง จังหวัดสตูลกันค่ะ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณยาหนี หมายเลขโทรศัพท์ 089-297 6702 ซึ่งชาวบ้านที่นี่ยินดีต้อนรับทุกฤดูกาลค่ะ

เบตงคึกนักท่องเที่ยวมาเลย์แห่เข้าเที่ยว ไม่หวั่นเหตุการณ์รุนแรง


      เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 62 บรรยากาศการท่องเที่ยวที่ อ.เบตง จ.ยะลา ที่ด่านพรมแดน อ.เบตง จ.ยะลา ตรงข้ามกับด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมากับรถบัสจัดทริปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของ อ.เบตง ชมสวนผลไม้ เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสีสันใหม่ด้านการท่องเที่ยวของ อ.เบตง และแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในด้านความปลอดภัย 

     แม้จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวยังมั่นใจในการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โดยภาพรวมในพื้นที่ จ.ยะลา ไม่มีการก่อเหตุรุนแรง หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่เสี่ยงทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 7 อำเภอที่มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ สะเดา อ.เมือง รวมทั้งในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดน จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เจ้าหน้าที่ยังคงคุมเข้มเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด


วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินงานในลักษณะผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนจากสภาพปัญหาต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์จากที่ทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางที่ได้รับพระราชทานพระราชดำริไว้ดังนี้
๑. การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย
    เพื่อศึกษา และพัฒนาดินในพื้นที่พรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่นๆ ตลอดจนการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเกษตรอุตสาหกรรม หาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เป็นแนวทางและตัวอย่างของผลสำเร็จให้แก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติและเกษตรกรมาผสมผสานทางวิชาการถ่ายทอดประสบการณ์
๒. การพัฒนาแบบผสมผสาน
    ผลสำเร็จที่ได้รับจากการศึกษาค้นคว้า ทดลอง ภายในศูนย์ฯ นำไปขยายผลเพื่อการพัฒนา โดยจัดทำในรูปแบบของการถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่พื้นที่ของเกษตรกรในลักษณะการพัฒนาแบบผสมผสานกันทั้งด้านความรู้ การดำเนินงาน และการบริหารอย่างเป็นระบบ
๓. ประสานงานระหว่างส่วนราชการ
    เป็นการประสานงาน ประสานแผนการบริหารจัดการระหว่างกรม กอง และส่วนราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยึดกรอบในการปฏิบัติงาน ตามแผนแม่บทโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยบางหน่วยงานดำเนินงานมาตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ บางหน่วยสิ้นสุดภารกิจไปแล้ว และบางหน่วยเพิ่งเข้ามาร่วมงานใหม่
๔. ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ
    เป็นศูนย์รวมของการศึกษา ทดลอง และสาธิตที่ได้รับผลสำเร็จในทุกๆ ด้าน ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการแกล้งดิน อันเป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด การเกษตรทฤษฎีใหม่ การปรับปรุงน้ำเปรี้ยว นิทรรศการป่าพรุ การเลี้ยงสัตว์แบบพื้นบ้าน เป็นต้น
     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ประกอบด้วยพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้
๑. พื้นที่บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เนื้อที่ ๑,๗๔๐ ไร่ เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน แปลงทดลองในที่ลุ่ม บนที่ดอนสวนยางเขาสำนัก และอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน
๒ .พื้นที่พรุในจังหวัด เนื้อที่ ๒๖๑,๘๖๐ ไร่ แบ่งป่าพรุ ๓ เขต คือ เขตสงวน , เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนา
๓. พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ มีทั้งหมด ๑๑ หมู่บ้าน ได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพให้สามารถ พึ่งตนเองได้
๔. ศูนย์สาขา ๔ สาขา คือ โครงการสวนยางตันหยง เนื้อที่ ๑๕.๘ ไร่ , โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดอ เนื้อที่ ๑๓๕ ไร่ , โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ เนื้อที่ ๑,๕๐๐ ไร่ , โครงการหมู่บ้านโคกอิฐ - โคกใน และบ้านยูโย เนื้อที่ ๓๐,๐๖๕ ไร่
๕. พื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ
ที่ตั้งแผนที่
     ที่ตั้งแผนที่
    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส โทรศัพท์ 0-7351-3562-3 โทรสาร 0-7351-3560

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ประตูสู่เพื่อนบ้านชายแดนใต้


       จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งแน่นอนว่าการไปมาหาสู่ของคนทั้งสองประเทศต้องผ่านจุดผ่านแดนหรือที่เรียกกันว่าด่านพรมแดน ซึ่งวันนี้ทีมงาน​#ชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้ จะพาทุกท่านไปดูว่าด่านตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกี่แห่ง และมีที่ไหน? เปิดปิดเวลาไหนบ้าง? ติดตามตามมากันเลยครับด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรนับว่ามีความสำคัญในการเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย การไปมาหาสู่ของพี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศ รวมทั้งการขนส่งสินค้าจะต้องผ่านด่านชายแดนเหล่านี้ ซึ่งเราจะไปดูว่าในแต่ละจังหวัดของชายแดนใต้มีด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรที่ไหนกันบ้างครับ เรามาเริ่มกันที่จังหวัดสงขลากันนะครับ สงขลามีจุดผ่านแดนถาวรจำนวน 3 แห่งคือ
1. ด่านสะเดา อ.สะเดา ติดต่อกับ ด่านบูกิตกายูฮิตัม รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันเปิดให้พี่น้องประชาชนผ่านเข้าออกได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2. ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ติดต่อกับด่านปาดังเบซาร์ รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย มีเวลาเปิด-ปิด ตั้งแต่ 05.00 - 21.00 น. ของทุกวัน
3. ด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี ติดต่อกับด่านบ้านดูเรียนบูรง เมืองปาดังเตอรับ รัฐเคดาห์
เปิดบริการตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น. ของทุกวัน
ต่อมาเราจะลงไปที่จังหวัดนราธิวาสกันบ้างครับ สำหรับนราธิวาสนั้นมีด่านชายแดนจำนวน 3 แห่งดังนี้
1. ด่านสุไหงโกลก อ.สุไหงโก-ลก ติดต่อกับด่านรันตูปันยัง รัฐกลันตัน เปิดตั้งแต่เวลา 05.00 - 21.00 น. ของทุกวัน
2. ด่านตากใบ ซึ่งเป็นด่านท่าเรือ ที่อำเภอตากใบ ติดต่อกับด่านเป็งกาลันกูโบ รัฐกลันตัน
เปิดเวลา 05.00 - 18.00 น. ของทุกวัน
3. ด่านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ติดต่อกับด่านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน
เปิดเวลา 05.00 - 18.00 น. ของทุกวัน
    ขณะที่จังหวัดยะลาซึ่งมีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาสูง แต่มีด่านชายแดนเพียงแห่งเดียวคือ ด่านเบตง อำเภอเบตง ติดต่อกับฝั่งมาเลเซียคือ ด่านบูกิตบือราปิต รัฐเคดาห์ เปิดให้พี่น้องประชาชนข้ามไปมาตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. ของทุกวัน
     นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดสตูล ก็มีด่านชายแดนจำนวน 2 แห่ง คือด่านวังประจัน อำเภอควนโดน ซึ่งติดต่อกับด่านวังเกลียน รัฐเปอร์ลิส เปิดตั้งแต่ 05.00 - 18.00 น. ของทุกวัน และสุดท้ายคือด่านสตูล หรือด่านท่าเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล ติดต่อกับท่าเรือกัวลาเปอร์ลิส รัฐเปอร์ลิส - ท่าเรือเจตตีกัว ลังกาวี รัฐเคดาห์ - ท่าเรือเทลก อีกวา ลังกาวี รัฐเคดาห์ เปิดตั้งแต่เวลา 05.00 - 18.00 น. ของทุกวัน    
        นี่คือด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรจำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประตู่สู่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่นำมาเสนอกันในวันนี้ และต่อไปหากต้องเดินทางผ่านด่านพรมแดนเหล่านี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ทีมงานของเราจะมาเล่าให้ฟังในตอนหน้าครับ

กรมการขนส่งทางบก เชิญชวน!!! ประมูลหมายเลขทะเบียนรถสวย

     กรมการขนส่งทางบก เชิญชวน!!! ประมูลหมายเลขทะเบียนรถสวย หมวดอักษร กคเบตง อำเภอเดียวในประเทศไทยที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นของตนเอง
     ในวันที่ 17 – 18 สิงหาคม นี้ ณ โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง รายได้ทั้งหมดสมทบเข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สนับสนุนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนของท้องถิ่นและประเทศ 
     วันที่ 23 กรกฎาคม 2562  ณ บริเวณ ควอเทียร์ อเวนิว ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานในการแถลงข่าวการประมูลหมายเลขทะเบียนรถสวย ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หนึ่งเดียว อำเภอเดียว เบตง ใต้สุ๊ดแดนสย๊ามหมวดอักษร กค กิจการก้าวหน้า การค้าร่ำรวย โดยมีกำหนดจัดการประมูลทะเบียนรถเลขสวยอำเภอเบตง ในวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง 
        นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่ได้รับอนุญาตให้สามารถรับจดทะเบียนรถได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา สาขาอำเภอเบตง โดยไม่ต้องเข้ามาจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา จึงเป็นผลให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอเดียวในประเทศไทยที่รถจดทะเบียนจะได้รับป้ายทะเบียนรถที่เป็นชื่ออำเภอ ดังนั้น การนำหมายเลขทะเบียนรถสวย หมวดอักษร กคเบตง จำนวน 301 หมายเลข ออกประมูลเป็นการทั่วไป จึงเป็นโอกาสดีสำหรับชาวอำเภอเบตงได้มีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนและช่วยเหลือท้องถิ่นของตนเอง เนื่องจากรายได้ทั้งหมดจากการประมูลหมายเลขทะเบียนรถเลขสวยนำเข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และนำมาใช้ในกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยเหลือผู้พิการจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน ด้วยการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการยังชีพแก่ผู้พิการที่ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน อาทิ รถนั่งไฟฟ้า รถนั่งธรรมดา ขาเทียมที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของผู้พิการ และสนับสนุนดำเนินโครงการเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เช่น โครงการ นักเรียนรุ่นใหม่ มีใบขับขี่ ให้ความรู้เยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย

       อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากผู้ร่วมประมูลจะได้หมายเลขทะเบียนรถตามที่ต้องการแล้ว และมีส่วนช่วยเหลือท้องถิ่นแล้ว แผ่นป้ายทะเบียนประมูลของเบตงยังมีความพิเศษ เป็นแผ่นป้ายกราฟิกที่มีลวดลายพื้นหลังเป็นเอกลักษณ์สถานที่สำคัญของเบตง ประกอบด้วย ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ทะเลหมอกที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในภาคใต้, วัดกวนอิมเบตง ทั้งชาวไทยและมาเลเซียเลื่อมใสศรัทธา, พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ และสวยงามที่สุดในภาคใต้, มัสยิดกลางเบตง ศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวมุสลิมในเบตงทุกคน, ป้ายใต้สุดแดนสยาม ป้ายสลักหินอ่อนที่เป็นสัญลักษณ์จุดสุดท้ายของผืนแผ่นดินไทยทางตอนใต้,ตู้ไปรษณีย์เบตง สัญลักษณ์การติดต่อสื่อสารของอำเภอเบตงมาแต่อดีตกาล และ ไก่เบตง ไก่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอเบตง นอกจากนี้ ความพิเศษของหมายเลขทะเบียนรถเลขสวยทุกหมวดทุกหมายเลข ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประมูลได้ สามารถใช้มอบเป็นของขวัญ โอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ เป็นมรดกส่งต่อให้บุคคลอันเป็นที่รัก
       ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลทะเบียนรถครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วยตนเองได้ ณ โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง หรือร่วมประมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ www.tabienrod.com และคลิกที่ Banner เบตง สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา โทร 0 7329 9339 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา สาขาอำเภอเบตง 09 2592 6688 หรือ Call Center 1584