วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

พบหลักฐานพระราชวังเก่า อายุ 500 กว่าปีที่ไม้แก่น ปัตตานี ถูกทิ้งร้างขาดการบูรณะ


เปิดข้อมูลค้นพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพระราชวังเก่า อายุ 500 กว่าปี ถูกซุกซ่อนอยู่ในเขตอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี บนถนนเลียบชายทะเลอันสวยงามที่สุดในคาบสมุทรแห่งนี้แซมด้วยหมู่บ้านชาวประมงดั้งเดิม เช็คอินที่สุสานกษัตริย์ริมทะเลสายตระกูล ยัลลัลจากมินังกาเบา และชมฐานพลับพลาเก่า อดีตเป็นที่ตั้งพระราชวังเมืองสายยุคเดียวกับลังกาสุกะ

การจะรู้จักสายบุรีนั้น ต้องเข้าใจว่ายุคเริ่มแรกอยู่ในเขตอำเภอไม้แก่น ยุคใหม่อยู่ในเขตอำเภอสายบุรีในปัจจุบัน



หากย้อนไปในอดีตจะพบว่าบริเวณปากแม่น้ำนี้ก็คือจุดรับส่งสินค้า มีบรรดาช้างซึ่งเป็นพาหนะชั้นดีขนส่งสินค้ามาขึ้นเรือที่เมืองสายบุรีเดิม สายบุรี มีชื่อเดิมว่า เมืองสาย คำว่าเมืองสายนี้มาจากภาษามลายูว่า นครีซา ซึ่ง นครี แปลว่า เมือง ซา แปลว่า ปฏัก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ควาญช้างใช้บังคับช้าง ซา ที่บังคับช้างนี้เรียกว่า ซากาเยาะ ซึ่ง กาเยาะ แปลว่า ช้าง

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสบอกว่า หาดบางสายนั้นเรียกว่า ปันไตกัวลอซา ปัจจุบันอยู่ที่หมู่บ้านละเวง ตำบลดอนทราย อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี บริเวณนี้ในอดีตเป็นปากแม่น้ำสายบุรี เมื่อเราเรียนรู้ภูมิศาสตร์จะพบว่า ลุ่มน้ำสายบุรีนั้น เชื่อมต่อไปยังรือเสาะ สุคิริน ข้ามไปแม่น้ำเปรัค ในมาเลเซีย และไปออกปากอ่าวแม่น้ำปาหัง นี้คือเส้นทางซุปเปอร์ไฮเวย์แบบโบราณ และลุ่มน้ำสายบุรีก็เป็นแหล่งทองคำ




เส้นทางตรงนี้ก็คือ เส้นทางคมนาคมแต่โบราณ มีการใช้แพ เรือกันเชียง เรือพาย พัฒนาจนถึงเรือกลไฟเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว เป็นการเดินทางเพื่อมาออกปากแม่น้ำสายบุรี ดังนั้นที่นี้จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า กัวลอซา คือ หาดที่บรรดาควาญช้างใช้ปฏักปักหลังจากการบังคับช้าง บริเวณแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยช้าง เพราะสมัยนั้นช้างเป็นพาหนะชั้นดีของการคมนาคมขนส่งสินค้า” (อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์, 255k1)

เป็นเรื่องน่าเสียใจ สถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันถูกครอบครองโดยคนต่างถิ่น ที่ไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณในพื้นที่ และเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดในหมู่พวกเราชาวปัตตานีที่ไม่เอาใจใส่และขาดความมุ่งมั่นกับการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางประวัติศาสตร์ในอดีต ตลอดจนการขาดความจริงจังในการศึกษาและพัฒนาความรู้นั้นๆ ฯลฯ






-----------------


fb :Nirundorn Lokna

1 ความคิดเห็น: