วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ขุนจรรยาวิธาน (ยูโซะ มะโรหบุตร) ผู้บุกเบิกการเรียนภาษาไทยให้กับเด็กไทยมุสลิม


ขุนจรรยาวิธาน มีนามเดิมว่า ยูโซะ มะโรหบุตร เกิดเมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2442 ที่บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นบุตรนายหวัน อับดุลลาห์ กับนางฟ้อ อับดุลลาห์ ปู่ของขุนจรรยาวิธาน เป็นบุตรบุญธรรมของตนกูบอซู เจ้าเมืองปัตตานี ดังนั้นขุนจรรยาวิธานจึงมีศักดิ์เป็นหลานบุญธรรมของเจ้าเมืองปัตตานีด้วย
เด็กชายยูโซะ มะโรหบุตร เป็นหนึ่งในสามคนไทยมุสลิมชุดแรกที่เรียนหนังสือไทยในโรงเรียนไทยพุทธ ที่วัดตานีนรสโมสร พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน คือเด็กชายเจ๊ะมุ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนจารุวิเศษศึกษากร) และเด็กชายนิมา (ต่อมามีอาชีพเป็นครู คนทั่วไปเรียกว่า ครูนิมา)
นายยูโซะ มะโรหบุตร เรียนจบครูมูลโรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) แล้วไปเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ได้เดินทางกลับปัตตานีเมื่อจบการศึกษาใน พ.ศ. 2461 เข้ารับราชการที่โรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) ในตำแหน่งครู
ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดสายบุรี และที่นี่เองครูยูโซะ มะโรหบุตร เป็นผู้กระตุ้นจูงใจให้เด็กทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมเข้าเรียนหนังสือไทยมากขึ้น จนทางราชการต้องสร้างโรงเรียนเพิ่มเพื่อให้พอกับจำนวนนักเรียน ในการสร้างโรงเรียนครั้งนี้ต้องอาศัยแรงงานจากนักโทษ และใช้ชื่อโรงเรียนที่สร้างใหม่ว่า "โรงเรียนแจ้งประชาคาร" (โดยได้ชื่อมาจากนามของนายแจ้ง สุวรรณจินดา ปลัดจังหวัดปัตตานีสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนภักดี และได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในสมัยต่อมา)
ครูยูโซะ มะโรหบุตร ได้รับการเจาะจงตัวจากทางราชการให้ไปเป็นศึกษาธิการอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งสอนหนังสือนักเรียน ทั้งทำบัญชีเงินฝากและอื่นๆ อีกมากมายหลายหน้าที่ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนจรรยาวิธาน"
หลังจากรับราชการอยู่ที่เบตงนาน 3 ปี จึงได้ย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดสตูล ต่อมาย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดหลังสวน (จังหวัดชุมพร ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นย้ายเข้าประจำกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และต่อมาได้มาเป็นศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส แล้วจึงได้โอนไปประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
หลังจากลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่ดี ก็ยังถูกเรียกตัวกลับไปช่วยราชการอีกครั้งที่กระทรวงมหาดไทย ให้ทำหน้าที่สอนภาษามลายูและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของคนไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก่ข้าราชการที่จะต้องไปทำงานใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปิดอบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คราวละ 4 เดือน ขุนจรรยาวิธานทำหน้าที่นี้ได้อย่างดียิ่งตลอดระยะเวลา 4 ปี
ภรรยาของขุนจรรยาวิธาน ชื่อนางขนิษฐ์ เป็นอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอาชีวศึกษาปัตตานี มีบุตรธิดาด้วยกัน 8 คน ดังนี้
1.  นางตีเยาะ เอี่ยมอิทธิพล
2.  นายวชิระ มะโรหบุตร
3.  นางแอเซาะ อาลีอิสหาด
4.  นายปรีชา มะโรหบุตร
5.  นางณัฐา มะโรหบุตร
6.  นายเจษฎา มะโรหบุตร
7.  ทันตแพทย์หญิงนัยนา แพร่ศรีสกุล
8.  นายเกษม มะโรหบุตร
ผลงานทางด้านงานเขียนที่สำคัญของขุนจรรยาวิธานได้แก่ หนังสือคู่มือสนทนาภาษามลายู ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงที่ทำงานประจำกรมวิชาการ ตามความประสงค์ของพระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ได้ด้วยตนเอง
และอีกเล่มก่อนเกษียณอายุราชการของท่าน คือหนังสือชื่อ "ปลีตาบาจาอัน" ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษามลายูเล่มแรกสำหรับใช้สอนในโรงเรียน ตามนโยบายของทางราชการในสมัยนั้นที่ต้องการให้โรงเรียนประชาบาลสอนภาษาพื้นเมือง (ภาษามลายูปัตตานี) ด้วย
ขุนจรรยาวิธานเป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเป็นแรงจูงใจให้เด็กไทยมุสลิมนิยมเรียนหนังสือไทยมากขึ้น เพราะท่านเป็นนักเรียนไทยมุสลิมรุ่นแรกของมณฑลปัตตานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น