วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ที่นี่เทพา "โคโค่วันบีช" แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแห่งใหม่



"โคโค่วันบีช (coco-one Beach ) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหาดสะกอม บ้านปากบาง ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแห่งใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัวและหมู่คณะ เดินทางมาพักผ่อน เพื่อชื่นชมบรรยากาศแปลกใหม่"




"ชายทะเล ที่เจ้าของได้ออกแบบ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดูทันสมัย แปลกตากว่าสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงนับเป็นทางเลือกใหม่ ของธุรกิจท่องเที่ยวชายแดนใต้ เป็นทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงภาวะที่ราคายางพาราอยู่ในช่วงขาลง ที่สำคัญเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ให้คนในพื้นที่รู้สึก หวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลใกล้บ้านของตนเอง ที่มีส่วนสำคัญทำให้ได้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานรับจ้างต่างถิ่น "











เที่ยวชมธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา


          อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีเนื้อที่ประมาณ 132,500 ไร่ หรือ 212 ตารางกิโลเมต มีพื้นที่ครอบคลุมที่ดินป่าเขาแดน ป่าเขาน้ำค้าง ป่าควนสิเหรง ป่าควนสยา และป่าควนเขาไหม้ ในท้องที่ตำบลคลองทราย ตำบลเขากวาง ตำบลทับช้าง ตำบลประกอบ อำเภอนาทวี และตำบลปริก ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 65 ของประเทศ


ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวยาวจรดพรมแดนประเทศมาเลเซีย มีเขาควนสยา และควนเขาไหม้ เป็นยอดเขาสำคัญ โดยมียอดเขาน้ำค้าง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 648 เมตรจากระคับน้ำทะเล พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบชื้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายทั้งคลองนาทวี คลองปริก คลองทับช้าง คลองทรายขาว ฯลฯ 


ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อุทยานฯ แห่งนี้จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเสมอมา โดยสถานที่เที่ยวเด่นที่คุณไม่ควรพลาดชมเลย นั่นก็คือ อุโมงค์ค่ายพัก จคม. กรมที่ 8 ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ที่ครั้งหนึ่งเป็นฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดของโจรจีนคอมมิวนิสต์ มีความยาวประมาณ 1,500 เมตร ภายในแบ่งเป็น 3 ชั้นสามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ ปัจจุบันคงเหลือไว้เพียงร่องรอยการสกัดหินภายในถ้ำให้เป็นห้องประชุม คลังสะสมเสบียงอาหาร ไปจนถึงสนามบาสเกตบอล ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกัน


น้ำตกวังหลวงพรม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 150 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่โดดเด่นด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีดอกไม้ป่า และกล้วยไม้หลายชนิดให้ชม ถัดไปไม่ไกลจะถึง น้ำตกโตนลาด สายน้ำจะค่อยๆ ไหลตามลานหินที่ทอดตัวยาวลงมาเป็นม่านน้ำสวยงาม น้ำตกโตนดาดฟ้า อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกสูงที่มีหินยื่นออกมาคล้ายหลังคาดาดฟ้าสวยงามสมดั่งชื่อ น้ำตกพรุชิง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่สูงที่สุดในพื้นที่อุทยานฯ เขาน้ำค้าง สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงสวยงามมาก แต่การเที่ยวต้องมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยนำทางด้วย


ข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง สงขลา
ที่ตั้ง : ตำบลคลองกวาง ห่างจากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ประมาณ 27 กิโลเมตร
การเดินทาง : จากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 4113 ถนนสายนาทวี-บ้านประกอบ จนถึงบ้านสะท้อนจะมีทางแยกขวาไปตามถนนสายบ้านสะท้อน-สะเดา ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
ช่วงเวลาท่องเที่ยว : เดือนกุมภาพันธ์ เดือนเมษายน
สิ่งอำนวยความสะดวก : อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีบ้านพักเดี่ยวแยกหลังให้ครอบครัวเล็กได้ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นส่วนตัว บ้านพักแฝด ให้กลุ่มเพื่อนได้พักผ่อนร่วมกันอย่างสนุกสนาน และบ้านพักเรือนแถวที่เหมาะสำหรับชาวค่ายที่มากันเป็นหมู่คณะมากๆ และยังมีลานกางเต็นท์และเต็นท์หลากขนาดให้นักนิยมไพรได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วย

ติดต่อ-สอบถาม : อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง โทรศัพท์ 074-329-644-5

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มหัศจรรย์น้ำลอด...ถ้ำกระแชง

        


         ตั้งอยู่ ตำบลบันนังสตา ห่างจากจังหวัดยะลา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ประมาณ 52 กม. แล้วแยกเข้าไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ประมาณ 52 กม. แล้วแยกเข้าไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 3 กม. เป็นถ้ำที่สวยงามตามธรรมชาติ เพดานของถ้ำมีหินย้อยมากมาย ถ้ำที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำกระแชงอีก 3 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำลูกอม ถ้ำน้ำลอด และถ้ำพระ ลักษณะเด่นของถ้ำกระแชง คือ มีทัศนียภาพของภูเขา ธารน้ำและถ้ำลอดที่สวยงาม ในช่วงที่น้ำน้อยสามารถเดินเลาะเลียบตามลำธารลอดถ้ำไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่โล่ง โอบล้อมด้วยภูเขาและแมกไม้เขียวขจี มีทัศนียภาพสวยงาม  มีลำธารไหลผ่านลอดถ้ำปากถ้ำเป็นโพรงขนาดใหญ่มองออกไปภายนอกเห็นป่าไม้ร่มรื่น และทิวทัศน์งดงาม



        ถ้ำกระแชง วันเปิดทำการ: ทุกวัน เวลาเปิดทำการ: 08.00 – 16.00 ห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ 50 กิโลเมตร มีทัศนียภาพของภูเขา ธารน้ำและถ้ำลอดที่สวยงาม ในช่วงที่น้ำน้อยสามารถเดินเลาะเลียบตามลำธารลอดถ้ำไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่โล่ง โอบล้อมด้วยภูเขาและแมกไม้เขียวขจี มีทัศนียภาพสวยงาม 








พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต “ศูนย์ฯพิกุลทอง” จ.นราธิวาส


“...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษา ทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทดลองควรเป็นข้าว...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส วันที่ 16 กันยายน 2527


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
จากการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส พบว่าพื้นที่ส่วนมากมีสภาพเป็นดินพรุซึ่งเป็นพื้นดินที่มีสภาพน้ำขัง เป็นดินเปรี้ยวที่มีสภาพความเป็นกรดอย่างรุนแรง และเป็นดินที่มีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถทำการเกษตรได้
สำหรับการแก้ปัญหาสำคัญในเรื่องดินพรุ ดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรดนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระอัจฉริยะภาพคิดค้นวิธีการที่เรียกว่าแกล้งดินหรือ ทำให้ดินโกรธโดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัด
จากนั้นจึงใช้น้ำชะล้างดินควบคู่ไปกับปูน ซึ่งทรงเรียกว่า ระบบซักผ้าเมื่อใช้น้ำจืด ชะล้างกรดในดินไปเรื่อยๆ ความเป็นกรดจะค่อยๆจางลง จนสามารถใช้เพาะปลูก ทำการเกษตรได้
ทั้งนี้หนึ่งในความสำเร็จที่เด่นชัดในเรื่องการแก้ปัญหาดินพรุ ดินเปรี้ยว ก็คือโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ตั้งอยู่ที่ ต.ทะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการพระราชดำริแห่งนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2525


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้า วิจัยทดลอง และแก้ปัญหาเรื่องดินพรุ ดินเปรี้ยว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ภายใต้แนวคิด ป่าพรุเสื่อมโทรม สะสมดินเปรี้ยว แกล้งดินอย่างเดียว พัฒนาได้ยั่งยืนซึ่งผลสำเร็จจากการแกล้งดิน สามารถพลิกฟื้นเปลี่ยนพื้นดินจากที่เคยใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้กลับมาปลูกพืชผักและทำการเกษตรชนิดต่างๆได้เป็นอย่างดี
นับเป็นความมหัศจรรย์ใต้พระบารมีจากน้ำพระทัยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการแล้งดิน ได้ถูกต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆอีกหลากหลายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แห่งนี้


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อสนองแนวพระราชดำริ เน้นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และการขยายผลสู่ประชาชนภายนอกโครงการ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีพื้นที่กว่า 1,740 ไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆภายใต้แนวคิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่มีการจัดโซนพื้นที่อย่างเป็นระบบ และมีการจัดแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม


พร้อมกันนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ยังเปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาท่องเที่ยวเรียนรู้ดูงาน สัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจต่างๆภายในศูนย์ อาทิ
ศูนย์บริการข้อมูล ณ จุดเดียว เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านการศึกษาและงานขยายผลการพัฒนาพื้นที่ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และการให้บริการข้อมูลโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ศูนย์บริการวิเคราะห์ดิน ให้บริการวิเคราะห์ดิน น้ำ และคำแนะนำการปรับปรุงบำรุงดิน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของดิน ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
ฐานดิน เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดดิน ชั้นดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน การฟื้นฟูทรัพยากรดินโดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพจากกรมพัฒนาที่ดิน การปลูกหญ้าแฝกและการใช้ประโยชน์ การปลูกพืชปุ๋ยสดและการใช้ประโยชน์ การใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
โครงการแกล้งดิน ศึกษาการเกิด การพัฒนาของดินเปรี้ยวจัด และเทคนิคการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช


การปลูกข้าวพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด สาธิต การปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ที่เหมาะสมในพื้นที่ดินเปรี้ยว ตลอดจนการเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยอัตราต่างๆ ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวและให้ผลผลิตสูง
เกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงสาธิตการบริหารจัดการดินและน้ำ ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การเลี้ยงปลาเสริมรายได้ ศึกษาการเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ปลาที่ทนต่อน้ำเปรี้ยว และการเลี้ยงปลาสวยงามในพื้นพรุ การเลี้ยงกบในกระชัง รวมไปถึงการทำการเกษตรผสมผสานบริเวณของบ่อเลี้ยงปลา และแจกจ่ายพันธ์ปลา
พืชสวนครัวประดับ แบบเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้การจัดปลูกผักสวนครัวเชิงภูมิทัศน์ การนำภาชนะและวัสดุเหลือใช่มาประยุกต์ การปลูกพืชผักรูปแบบต่างๆ และเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ


ป่าพรุและป่าเสม็ดจำลอง การปลูกป่าในพื้นที่พรุ เพื่อการศึกษาระบบนิเวศน์ธรรมชาติของป่าพรุ และวิวัฒนาการการเกิดพรุ ศึกษาการนำไม้และใบไม้เสม็ด เพื่อการแปรรูป พร้อมทั้งการผลิตกล้าไม้ไว้สำหรับแจกจ่ายประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปปลูกที่บ้าน ชุมชน และสถานที่ต่างๆ
ไบโอดีเซล เรียนรู้เทคนิคและกระบวนการสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม และการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลแบบง่ายๆ ที่สามารถผลิตเองได้ในครัวเรือนจากน้ำมันพืช ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


นอกจากนี้ก็ยังมีสวนสวยต่างๆ ได้แก่
สวน 50 ปี ครองราชย์ รวบรวมพืชตระกูลปาล์มนานาชนิดทั้งในและต่างประเทศ,สวนพฤกษาศาสตร์พันธุ์ไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สวนเรียนรู้พันธุ์ไม้ม่วงกว่า 100 ชนิด,สวน 72 พรรษา สวนรวบรวมพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์และพืชสมุนไพร กว่า 400 ชนิด,สวนไม้มงคลเฉลิมพระชนม์ 76 พรรษา สวนพรรณไม้มงคลนานาชนิด,สวนสาธิตการเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สวนสาธิตการปลูกไม้ผล พืชผัก เลี้ยงปลา เป็นต้น,สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สวนพักผ่อนหย่อนใจที่ปลูกด้วยไม้โตเร็ว พันธุ์ไม้พื้นเมือง พันธุ์ไม้หอม และสระบัว


และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจอันหลากหลายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการแก้ปัญหาดินพรุ ดินเปรี้ยว ดินเป็นกรดจัด ด้วยวิธีการแกล้งดินตามแนวพระราชดำริแล้ว ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ภายในศูนย์ฯแห่งนี้มาปรับใช้เป็นแนวทางในการทำมาหากิน หรือมาประยุกต์ให้ในการดำรงชีวิต โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน


นับเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ใต้พระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลวงรัชกาลที่ ๙

...พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ที่ยังคงอยู่ในดวงใจของคนไทยตลอดไป

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“อำเภอหนองจิก สู่เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”


              จากสภาพปัญหาทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรม เนื่องจากการจับสัตว์น้ำอย่างผิดวิธีของชาวประมงในสมัยก่อน ที่มุ่งเน้นเพียงแต่เฉพาะเรื่องของธุรกิจ จนลืมตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม จนทำให้สัตว์น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด พี่น้องชาวประมงในหมู่บ้านตันหยงเปา ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มกัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถสร้างอาชีพให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้อีกครั้งเหมือนในสมัยอดีต นับเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันจากภาคประชาชนที่คอยขับเคลื่อนการสร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่นขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ตนเอง เพียงให้รู้ถึงคุณค่า และรู้จักหวงแหนทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเข้าใจ


             สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี เป็นการรวมกลุ่มกันของพี่น้องประชาชนในชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จำนวน 52 หมู่บ้าน มีเรือจำนวนกว่า 2,900 ลำ ซึ่งนอกเหนือจากภารกิจหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติแล้วนั้น ขณะนี้ ทางสมาคมได้มีความพร้อมในการทำธุรกิจชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการท้องถิ่นและภาครัฐ ในการยกระดับสินค้า เพิ่มมูลค่า รวมทั้งการสร้างมาตรฐานในการผลิตสินค้าชุมชน ซึ่งเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ปลากุเลาเค็ม ที่เป็นผลผลิตจากชุมชน ซึ่งเดิมนั้นชาวบ้านจะนิยมขายเป็นปลาสดให้กับจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขายได้เพียงกิโลกรัมละ 250 บาท แต่เมื่อมีการเพิ่มมูลค่าและสร้างเรื่องราวให้กับตัวสินค้าแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้นั่น คือ ผลิตภัณฑ์ปลากุเลาเค็มตากแห้งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และมีราคาสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 1,700 บาท



            ในอนาคตทางสมาคมได้มีตั้งมาตรฐานของกลุ่มไว้ คือ สินค้าจะต้องสะอาด ปลอดสารเคมีและปลอดภัยกับผู้บริโภค และยังวางเป้าหมายไว้ว่า ชุมชนแห่งนี้จะต้องเป็นธุรกิจชุมชนประมงต้นแบบ ที่สร้างความเข็มแข็งให้อำเภอหนองจิก และสามารถเป็นเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ด้วยความร่วมมือกันของคนในพื้นที่และการสนับสนุนจากภาครัฐอีกด้วย


พ่อของแผ่นดินกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม !!


#เสด็จลงพื้นที่สามจังหวัดหลายครั้ง - โดยจะเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งในการเสด็จแต่ละครั้ง จะมีประชาชนมายืนรอรับเสด็จท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวอย่างล้มหลาม


#ทรงเข้าใจภาษาของชาวไทยมุสลิม - ในขณะที่พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในสามจังหวัดชายแดนนั้น ทรงได้ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ แต่ไม่มีใครกล้าตอบคำถามของในหลวงเลย เพราะกลัวว่าจะใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้อง ในหลวงจึงรับสั่งให้ตอบเป็นภาษาท้องถิ่น และให้ล่ามแปลภาษาให้


#สนับสนุนให้มีการสร้างมัสยิด - ในปีพ.ศ. 2533 ในหลวงทรงแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยที่นั่นมีชุมชนมุสลิมเล็กๆ อยู่ แต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามได้เนื่องจากที่ดินไม่ใช่ที่ของมัสยิด ในหลวงได้พระราชทานตามคำกราบทูล และยังมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเพิ่มให้อีก 5 ไร่ พร้อมทั้งมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการให้เป็นของมัสยิดอย่างถูกต้องเรียบร้อยด้วย


#เป็นผู้ดำริให้มีการแปลอัลกุรอ่านเป็นภาษาไทย - ก่อนปีพ.ศ. 2505 จะเป็นปีใดไม่แน่ชัด ท่านกงสุลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าถวายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อในหลวงทอดพระเนตรและทรงศึกษาดู ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ให้ปรากฏเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ เมื่อจุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้นำผู้แทนองค์การ สมาคม และกรรมการอิสลามเข้าเฝ้าถวายพระพรในนามของชาวไทยมุสลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น ในหลวงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรี แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จากพระมหาคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศาสนาอิสลาม และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง



#จัดพิมพ์อัลกุรอ่านมอบให้ตามมัสยิด - ในปีพ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศต่างก็จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นในหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันเริ่มแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริและได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ


#สนับสนุนให้เด็กนักเรียนมุสลิมมีโอกาสเรียนวิชาสามัญ - ในปีพ.ศ. 2512 พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมเยาวชนไทยมุสลิมจะมีการศึกษาภาคสามัญอย่างสูง เพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นภาคบังคับแล้วจะเข้าเรียนภาคศาสนา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าลูกหลานของตนจะไม่รู้ศาสนา ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้  ในหลวงทรงเป็นห่วงใยในเรื่องนี้ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ หาหนทางส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนภาคสามัญให้ดีขึ้นทั้งยังจัดให้มีการดูงานการศึกษาในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงด้วย ปอเนาะต่างๆจึงเริ่มมีการพัฒนาปรังปรุงดีขึ้น ปอเนาะใดที่มีการพัฒนาปรับปรุงถึงเกณฑ์ ก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารการเรียนการสอนดีเด่นด้วย
#ส่งเสริมให้มุสลิมมีงานทำ - ในหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยมุสลิมด้านการส่งเสริมอาชีพ ทรงให้มีโครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฯที่ชาวไทยมุสลิมได้รับประโยชน์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ชาวไทยมุสลิมที่เคยยากจนเพราะไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจนสามารถยกระดับฐานะครอบครัวให้ดีขึ้นเหมือนกับชาวไทยภาคอื่นๆ
บทความพิเศษที่ทีมงาน Halalize ตั้งใจรวบรวมเขียนขึ้นมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อมุสลิมชาวไทยทั่วประเทศครับ * หากว่ามีจุดไหนที่ทีมงานใช้คำศัพท์ไม่เหมาะสม ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิมโดยท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เจดีย์ใหญ่ใต้สุดแดนสยาม...วัดพุทธาธิวาส


ประวัติ
          วัดพุทธาธิวาส ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีคณะผู้เริ่มดำเนินการ คือ พระพิทักษ์ธานี (เล็ก), นายอำเภอเบตงในสมัยนั้น, นายพุ่ม คชฤทธิ์, นายกิมซุ้ย ฟุ้งเสถียรและนายผล สุภาพ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ ได้ผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ วัดพุทธาธิวาส ตั้งอยู่เลขที่ ๖๕ ถนนรัฐกิจ หมู่ที่ ๑ ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินเขาสูงเอียงลาดลงไปทางทิศเหนือ จัดแบ่งพื้นที่วัดออกเป็นชั้นรวม ๕ ชั้น


          วัดพุทธาธิวาส ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขามีพระธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศตั้งโดดเด่นมองเห็นศิลปกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์สวยงามมาก โดยในองค์มหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นจากความคิดและการดำเนินการของอดีตประธานศาลฎีกา นายสวัสดิ์ โชติพานิช เพื่อเฉลิมฉลองและถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานนาม และเสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนยอดฉัตรเมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๓๖


          นอกจากนั้นยังมีพระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, วิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และวิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพุทธาธิวาสเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ ๒ เดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๖
          วัดพุทธาธิวาส เป็นวัดที่เงียบสงบ อยู่ในตัวเมืองเบตง การเดินทางสะดวก นอกจากพระพุทธธรรมกายมงคลแล้ว ยังมีพระพุทธรูปอื่นให้กราบไหว้อีก ลักษณะของวัดอยู่บนที่สูง ผู้ที่ไม่แข็งแรง อาจจะเดินไม่สะดวก
          จากด้านตัวเมืองหนาแน่น มองไปทางขวาเห็น พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศแห่งวัดพุทธาธิวาส ตั้งตระหง่านโดดเด่นท่ามกลางแบ็คกราวน์ภูเขาน้อยใหญ่


          “วัดพุทธาธิวาสเดิมชื่อวัดเบตงไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดมาเมื่อบ่ายวันวานในทันทีที่มาถึงเมืองนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะได้ยินถึงกิตติศัพท์ในความเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเบตงมาช้านาน
           ในวัดมีเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ที่หมายถึงการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งเด่นเป็นสง่าด้วยศิลปะศรีวิชัยอันสวยงามสมส่วน ภายในเจดีย์ชั้นบนสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และมีพระพุทธธรรมประกาศเป็นพระประทาน มีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่ที่ชั้นล่าง


เบื้องหลังภาพที่ไม่ต้องการคำอธิบาย!! พระราชอัธยาศัยอันงดงาม ไม่เหลือความเป็นสมมติเทพ ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎร!!

       


         ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อพระมหากษัตริย์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์ แต่ในสมัยโบราณที่การคมนาคมยังไม่สะดวก การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลเป็นการยากลำบาก จึงเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น
ในรัชกาลที่ ๙ แห่งจักรีวงศ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผ่านพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และเสด็จเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณีแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรักษาพระองค์อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อเสด็จกลับมาประทับในพระราชอาณาจักรอย่างถาวร และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว ได้มีหลายประเทศทูลเชิญให้เสด็จไปเยือน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคต่างๆก่อนจึงจะเสด็จไปต่างประเทศ
           การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคครั้งแรกนี้เมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชปณิธาน ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน ทรงห่วงใยทุกข์สุขและการทำมาหากินของประชาชน ทรงปรารถนาที่จะหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นแบบฉบับของกษัตริย์ประชาธิปไตย ทรงวางพระองค์เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นพระประมุขของประเทศ ไม่เหลือความเป็นสมมติเทพเช่นกษัตริย์ในอดีต ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎรตามธรรมเนียมไทย ไม่เหลือช่องว่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกต่อไป
เป็นที่ปลาบปลื้มของราษฎรที่เข้าเฝ้า และเป็นความประทับใจที่จดจำไว้เป็นความสุขชั่วชีวิต อันเป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเป็นที่รักเคารพ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าของชาวไทยตลอดไป
           ในการเสด็จเยี่ยมภาคอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ นั้น ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ได้เสด็จเยี่ยมจังหวัดนครพนม ซึ่งทรงสร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปสักการะพระธาตุพนมแล้ว ในวันนั้นยังเกิดภาพประทับใจที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์  เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จกลับที่ประทับแรม มีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้น ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ ลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี มาเฝ้า ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งห่างจากบ้าน ๗๐๐ เมตร และหาได้ดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่ามา ๓ ดอก พาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยว แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย ๑๐๒ ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง ๓ ดอกขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า โน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ในประวัติศาสตร์
           ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆทั้งสิ้นและบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้กับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายเป็นล้านคำ
หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก
พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชีวิตให้แม่เฒ่ามีอายุยืนยาวขึ้นอีก ๓ ปี แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ สิ้นอายุขัยด้วยความชราเมื่ออายุได้ ๑๐๕ ปี

          ความรักและความห่วงใยของพระองค์ต่อพสกนิกร ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความสุขของประชาชนอย่างทรงไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ จึงสะท้อนกลับเป็นความรักเคารพและเทิดทูล สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อม การแสดงออกของชาวไทยตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่เสด็จสวรรคตจนถึงวันนี้ จึงเหมือนพสกนิกรชาวไทยมีหัวใจเป็นดวงเดียวกัน แสดงออกถึงความจงรักภักดีให้ประจักษ์ไปทั่วโลก และมีความรู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้จากไปไหน แต่จะสถิตในดวงใจของคนไทยตลอดไปชั่วนิรันดร์

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เมืองใต้ที่คล้ายเหนือ ไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


       นอกจากในตัวเมืองแล้ว นอกเมืองเบตงก็มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางไต่เลาะขุนเขา วงรอบ โครงการไม้ดอกเมืองหนาว-อุโมงค์ปิยะมิตร-บ่อน้ำร้อน
       ในโครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยะลาจุดแรกที่เราไปเยือนนั้น ไม่น่าเชื่อว่าสภาพพื้นที่จะมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปีและมีบรรยากาศคล้ายสวนดอกไม้ในดอยสูงทางภาคเหนือ
       โครงการนี้สร้างตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยความร่วมมือของจังหวัดยะลากับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. เป็นผู้ผลักดันอีกแรง


   “โครงการไม้ดอกเมืองหนาว ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ามีเฉพาะในเขตภาคเหนือเท่านั้น แต่สำหรับอำเภอเบตง พื้นที่ใต้สุดของประเทศมีภูเขาล้อมรอบ อากาศเย็นตลอดทั้งปี เหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาวเป็นอย่างยิ่งคุณเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ สำนักงาน กปร.ให้ข้อมูลกับเรา
       สำหรับโครงการไม้ดอกเมืองหนาว เป็นการศึกษาทดลองปลูกไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ อาทิ เบญจมาศ กุหลาบ เยอบีรา หน้าวัว ไฮเดนเยีย ดาวเรือง ทานตะวัน ซัลเวีย นอกจากนี้ทางโครงการยังนำร่อง ขยายผล และเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านในพื้นที่เพาะปลูกพืชเมืองหนาวขาย นั่นจึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านปิยะมิตรจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มกันปลูกพืชเมืองหนาวส่งขายในพื้นที่ภาคใต้ สร้างรายได้เลี้ยงตัวแบบพอเพียงได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น


       ไม่เพียงเท่านั้นชาวบ้านกลุ่มนี้ยังเรียนรู้ นำต้นแบบจากโครงการไม้ดอกเมืองหนาวมาจัดสร้าง เป็นสวนไม้ดอกเมืองหนาวที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับโครงการไม้ดอกเมืองหนาวชนิดเดินไปมาหาสู่กันได้
       สวนไม้ดอกเมืองหนาว ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจของเบตง มีการจัดสวนตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ก้อนหิน สระน้ำ และองค์ประกอบอื่นๆอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารของชุมชนขายของที่ระลึก และขายอาหารเมนูเด็ดของเบตง ตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น นับเป็นการเดินตามรอยพ่อที่เห็นประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน


มากล้นด้วยเสน่ห์!!! สถานที่ท่องเที่ยวน่าประทับใจ...เมืองใต้



โอเค เบตง
       หลังภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อหลายปีที่แล้ว คนก็พูดกันติดปากถึงอำเภอเบตง จ.ยะลา ที่อยู่ใต้สุดของเมืองไทยว่า โอเค...เบตง ซึ่งหากใช้กับสภาพการณ์ในตอนนี้ที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ยังคงอยู่แต่ว่าลดกีกรีความร้อนแรงลงไปเยอะมาก เบตง เป็นพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถือว่าโอเค คือกลับมาอยู่ในความสงบปราศจากเหตุไม่ปลอดภัยได้เกือบ 3 ปีแล้ว
       ดังนั้นเมื่อโอกาสดีมาถึง ตะลอนเที่ยวจึงล่องใต้ไป 3 จังหวัดชายแดน ที่แม้ใครหลายคนจะหวั่นในสถานการณ์ และเสียงลือเล่าอ้างบวกข่าวที่โหมกระพือถึงความไม่ปลอดภัย แต่ในสภาพการณ์จริงชาวบ้านในพื้นที่เขาปรับตัวและใช้ชีวิตเหมือนปกติมานานแล้ว พวกเขารู้ว่าสถานที่ใดสมควรไป เวลาใดสมควรเดินทาง และจุดไหนควรหลีกเลี่ยง
       ทำให้ช่วงที่เราไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นปลอดภัยหายห่วง โดยในจังหวัดสุดท้ายที่ยะลานั้น จากตัวเมือง(ในเวลากลางวัน)เราเดินทางผ่านถนนแห่งขุนเขาสันการาคีรีไปตามทางหลวง 410 อันคดเคี้ยวเลี้ยวๆลด ขึ้นๆลงๆ ประมาณ 140 กม. สู่ อ.เบตงดินแดนที่มีคำขวัญว่า เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน


โอเค...เบตง
       เบตง เป็นเมืองในแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ ที่อยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตง-มาเลเซียเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น เบตงเป็นพื้นที่พิเศษ รถในเมืองนี้สามารถใช้ทะเบียนเบตงได้เลย โดยไม่ต้องใชทะเบียนจังหวัดยะลา
       ชื่อเบตงเป็นภาษามลายูหมายถึงไม้ไผ่ในอดีตเมืองนี้มีไม้ไผ่มาก แต่ปัจจุบันในตัวเมืองมองหาต้นไผ่ไม่เห็นแล้ว มีแต่ไผ่ยักษ์จำลองซึ่งทางเทศบาลเมืองเบตงได้จัดสร้างไว้ที่สวนสาธารณะของเทศบาล


       ไหนๆก็พูดถึงความใหญ่ยักษ์แล้ว เบตงโด่งดังมากในเรื่องของตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยตู้แรกต้นฉบับสุดคลาสสิคนั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มุมถนนสุขยางค์ บริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา
       ไปรษณีย์ยักษ์ตู้นี้ มีอายุกว่า 80 ปี สูง 3.2 เมตร เหตุที่ทางเมืองนี้ทำตู้ไปรษณีย์สีแดงยักย์ประดับเมืองไว้ เพราะในอดีตการเดินทางติดต่อสื่อสารจากเบตงไปยังเมืองอื่นๆเป็นไปด้วยความยากลำบาก การส่งจดหมายสื่อสารถึงกันนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้นายสงวน จิระจินดา นายกเทศมนตรีตำบลเบตงในขณะนั้น ที่มีความผูกพันกับตู้ไปรษณีย์ไม่น้อยเนื่องจากเคยเป็นนายไปรษณีย์มาก่อน ได้จัดสร้างตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการสื่อสารที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงไปโดยปริยาย
       และด้วยความโดดเด่นของตู้ไปรษณีย์แห่งนี้ ทำให้ทางเทศบาลเมืองเบตงนำไปขยายผลด้วยการสร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์จำลองขึ้นใหญ่กว่าเดิมถึง 3.5 เท่า(ราว 9 เมตร) ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่หน้าศาลาประชาคม
          อย่างไรก็ตามในเรื่องของความมีเสน่ห์และความคลาสสิคนั้น ตู้ไปรษณีย์ต้นฉบับกินขาด กลายเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาส่งจดหมาย โปสการ์ด หรือมายืนแอ๊คท่าถ่ายรูปคู่กับตู้ไปรษณีย์ยักษ์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี


       นอกจากตู้ไปรษณีย์ยักษ์สุดคลาสิคแล้ว ใกล้ๆกันยังมีอีกหนึ่งความคลาสสิคตั้งตระหง่าน เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองนั่นก็คือ หอนาฬิกาเบตงที่เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน หอนาฬิกาแห่งนี้ สร้างเป็นสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางของเมือง ณ บริเวณจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ ด้วยหินอ่อนขาวนวลดูสง่าน่ามอง
          รอบๆหอนาฬิกาดูระโยงระยางไปด้วยสายไฟ ซึ่งในช่วงหัวค่ำสายไฟเหล่านี้จะเต็มไปด้วย สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า นกนางแอ่นเกาะบนสายไฟเต็มพรืดไปหมด
       นกนางแอ่นเหล่านี้หนีหนาวมาจากไซบีเรียมาอยู่เบตงในช่วงเดือนกันยายนถึงมีนาคม ยามหัวรุ่งพวกมันจะบินไปหาอาหารตามป่าเขา และกลับมาเกาะที่สายไฟในช่วงหัวค่ำเป็นอย่างนี้ทุกวัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเบตง ซึ่งพวกเขาผูกพันและหวงแหนนกเหล่านี้ไม่น้อยเลย
       สาววัยรุ่นบางคนจากที่เราได้เห็นมา เธอมารอซื้อโรตีเจ้าอร่อยที่ข้างหอนาฬิกาใต้สายไฟในช่วงหัวค่ำ แล้วจู่อะไรก็หล่นปุ๊ลงมาให้เธออุทานว่า ยี้ ขี้นกตกใส่หัวก่อนจะหัวเราะขบขันไม่มีการสบถด่าทอหรือขับไล่นกเหล่านั้นแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวบ้านบางคนก็ยินดีที่จะบอกเล่าเรื่องราวของนกเหล่านี้เท่าที่เขารู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่างตะลอนเที่ยวซึ่งกับเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งการมีสายไฟระโยงระยางพาดผ่านสถาปัตยกรรมอันสวยงามดูจะเป็นการทำลายเสน่ห์ของเมือง แต่กับที่เบตงสายไฟเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนเสริมเสน่ห์ของเมืองให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น


จากบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา หากเดินขึ้นไปตามความชันเล็กน้อยของถนนก็จะพบกับ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มา
       อุโมงค์แห่งนี้ดูคลาสิคกว่าสมัยใหม่เพราะด้านหลังของอุโมงค์(เมื่อมองจาก 4 แยกหอนาฬิกาเข้าไป)ตะหง่านเงื้อมสวยงามไปด้วย พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงกับงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลังคาซ้อนหลายชั้น
    ในพิพิธภัณฑ์ชั้นหนึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ อาทิ ถ้วยชามเครื่องเคลือบ โต๊ะ ตู้ เตียง โบราณ ตะเกียงเก่า เรือสำเภาจำลอง กี่ทอผ้า อุปกรณ์ปั่นฝ้าย ส่วนชั้นสองจัดแสดงภาพเก่าเมืองเบตง และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในเมืองนี้


       พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นจุดชมวิวชั้นดีที่เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดมองลงมาจะเห็นตัวเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ลานดาดฟ้าตึกหลังหนึ่งข้างๆพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เต้นแอโรบิกยามเย็นที่คึกคักไปด้วยลีลายักย้านส่ายส่วนต่างๆของร่างกายจากผู้คนในพื้นที่ ซึ่งตะลอนเที่ยวเห็นแล้วอดขยับแข้งขยับขาตามมาไม่ได้


  เย็นในวันนั้น ตะลอนเที่ยวเดินตามบันไดวนขึ้นไปชมวิวเมืองเบตงยามโพล้เพล้บนพิพิธภัณฑ์ ก่อนกลับลงมาสัมผัสกับเบตงยามค่ำคืน

       หลังจากเราเห็นภูเขาของผีเสื้อราตรีแบบเตะตาอย่างไม่ตั้งใจในยามค่ำคืน เช้าวันรุ่งขึ้นตะลอนเที่ยวตื่นแต่เช้าตรู่ ขึ้นไปบนดาดฟ้าของที่พักโรงแรมแมนดาริน อาคารสูงที่สุดในเบตงเพื่อชมทิวทัศน์ของภูเขาของจริงที่ทอดตัวเรียงรายโอบล้อมตัวเมืองนี้ ท่ามกลางสายหมอกบางๆที่ลอยเอื่อยมาทักทาย