เคยสงสัย!! หรือไม่ว่าทำไมเราต้องลากพระหรือชักพระ ... วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่าประเพณีชักพระ
มีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร?
ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักประเพณีอันเก่าแก่กันก่อนดีกว่า…
ตามคำบอกเล่าของตำนานเล่ากันไว้ว่า...ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีสำคัญของชาวใต้ที่เก่าแก่มานมนาน
ประเพณีชักพระจะอยู่ในช่วงวันออกพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) มีความเชื่อว่า
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เพื่อโปรดพระมารดา พอถึงช่วงออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับโลกมนุษย์
ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส และรู้สึกปลาบปลื้มใจ
จึงเชิญพระพุทธเจ้าให้ประทับบนบุษบก และแห่ไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์
ในยุคต่อมาชาวบ้านจึงนำพระพุทธรูปมาแห่แทนพระพุทธองค์
ประเพณีชักพระหรือลากพระมีผู้สันนิษฐานว่า...เกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของศาสนาพราหมณ์
ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาชาวพุทธศาสนิกชน
ได้นำมาดัดแปลงให้ตรงกับศาสนาพุทธ ประเพณีชักพระหรือลากพระได้ถ่ายทอดมาถึงประเทศไทยในบริเวณภาคใต้ได้รับ
และมีการนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระ จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน
เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ประเพณีลากพระ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น
ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน
กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น
นอกจากนั้นประเพณีชักพระยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดี
ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมของหมู่คณะ นำความสุขสงบมาให้สังคม
สมัยก่อนประเพณีลากพระหรือชักพระส่วนใหญ่จะเป็นการลากพระทางน้ำ ชาวบ้านจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรนำมาประดิษฐานบนเรือพระ แล้วค่อย ๆ แห่ไปตามแม่น้ำลำคลอง แต่การลากพระทางน้ำ
เรือพายของชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าใกล้เรือพระได้ ชาวบ้านที่ต้องการจะทำบุญ
จะทำบุญด้วยขนมต้ม จึงใช้วิธีการปาต้มหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ซัดต้ม"
แต่บางตำนานก็มีการเล่าถึงพุทธประวัติ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี "ซัดต้ม"
มาจากการที่ประชาชนได้มารอรับเสด็จพระพุทธเจ้าจากพระโมคคัลลาน
มีประชาชนมากมายแออัดเนืองแน่น ประชาชนไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน
จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ
กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมากๆ จะส่งต่อๆ กันก็ไม่ทันใจ
จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง เข้าไปถวายเป็นที่โกลาหล
ถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์
ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุการณ์นี้จึงเกิดประเพณี
"ห่อต้ม" "ห่อปัด" ขึ้น
ครั้งหนึ่ง...พระภิกษุชาวจีนนามว่า "อี้จิง" ได้จารึกผ่านคาบสมุทรมลายู
เพื่อไปศึกษาศาสนาในประเทศอินเดียราวปี พ.ศ.1214 - 1238
ได้เห็นประเพณีการลากพระของชาวเมือง"โฮลิง"ชื่อเดิมของเมืองนครศรีธรรมราช พระอี้จิงได้บันทึกไว้ว่า
"มองเห็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง มีคนแห่แหนนำมาจากวัด
ประดิษฐานจากรถหรือบนแคร่ มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่รายล้อม มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่าง
ๆ มีการถวายข้าวตอกดอกไม้ และธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด"
จากหลักฐานในจดหมายเหตุของภิกษุอี้จิง
จึงทำให้นักวิชาการบางคนเชื่อว่าประเพณีลากพระในภาคใต้
มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยศรีวิชัย
ประเพณีชักพระในปัจจุบันนั้นได้แปรเปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งโบราณกาล
เรือพระทุกวันนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์ (กระบะ) ตกแต่งด้วยโฟม
แกะสลักเป็นลวดลายไทย สีสันสวยงาม แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ยังคงใช้รูปแบบโบราณ
ใช้คนลากเรือพระไปตามเส้นทาง ขณะที่ลากเรือพระไปใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระ
หรือร่วมลากตอนไหนก็ได้ เกือบทุกท้องถิ่นกำหนดให้มีจุดนัดหมาย
เพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียง
ไปชุมนุมรวมตัวในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส
"แขวนต้ม"
และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัดหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระ
การแข่งขันเรือพาย การเล่นเรือโต้แก้จำกัด การประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น
มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามที่สุด หรือตลกขบขัน หรือมีความคิดริเริ่มดี
มีการแข่ง การประกวดเรือพระสมัยก่อนมักให้รางวัลเป็นของที่จำเป็นสำหรับวัด เช่น
น้ำมันก๊าด กาน้ำ ถ้วยชาม สบง จีวร เสนาสนะสงฆ์
แต่ปัจจุบันรางวัลมักจะให้เป็นเงินสด...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น