ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ
เมื่อพระมหากษัตริย์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว
จะเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์
แต่ในสมัยโบราณที่การคมนาคมยังไม่สะดวก
การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลเป็นการยากลำบาก
จึงเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น
ในรัชกาลที่ ๙ แห่งจักรีวงศ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผ่านพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕
พฤษภาคม ๒๔๙๓ และเสด็จเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณีแล้ว
มีความจำเป็นที่จะต้องเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
เพื่อรักษาพระองค์อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อเสด็จกลับมาประทับในพระราชอาณาจักรอย่างถาวร
และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว ได้มีหลายประเทศทูลเชิญให้เสด็จไปเยือน
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคต่างๆก่อนจึงจะเสด็จไปต่างประเทศ
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔
ภาคครั้งแรกนี้เมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์
ซึ่งพระราชปณิธาน ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน
ทรงห่วงใยทุกข์สุขและการทำมาหากินของประชาชน
ทรงปรารถนาที่จะหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นแบบฉบับของกษัตริย์ประชาธิปไตย
ทรงวางพระองค์เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นพระประมุขของประเทศ
ไม่เหลือความเป็นสมมติเทพเช่นกษัตริย์ในอดีต
ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎรตามธรรมเนียมไทย
ไม่เหลือช่องว่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกต่อไป
เป็นที่ปลาบปลื้มของราษฎรที่เข้าเฝ้า
และเป็นความประทับใจที่จดจำไว้เป็นความสุขชั่วชีวิต
อันเป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเป็นที่รักเคารพ
เทิดทูนไว้เหนือเกล้าของชาวไทยตลอดไป
ในการเสด็จเยี่ยมภาคอีสานระหว่างวันที่
๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ นั้น ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ได้เสด็จเยี่ยมจังหวัดนครพนม
ซึ่งทรงสร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปสักการะพระธาตุพนมแล้ว
ในวันนั้นยังเกิดภาพประทับใจที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี
และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์
แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร
อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินี ได้เสด็จกลับที่ประทับแรม มีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ
ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง
เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้น ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร
มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ ลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์
วัย ๑๐๒ ปี มาเฝ้า ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งห่างจากบ้าน ๗๐๐ เมตร
และหาได้ดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่ามา ๓ ดอก
พาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ตั้งแต่เช้าจนบ่าย
แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยว
แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย ๑๐๒ ปีเหี่ยวเฉาไปได้
จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า
แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง ๓ ดอกขึ้นเหนือหัว
แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า
โน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา
พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนอาณัติ บุนนาค
หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ในประวัติศาสตร์
ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร
ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆทั้งสิ้นและบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้กับราษฎรของพระองค์
ได้มากกว่าคำอธิบายเป็นล้านคำ
หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังได้ส่งภาพนี้
พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม
ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก
พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้
อาจมีส่วนชุบชีวิตให้แม่เฒ่ามีอายุยืนยาวขึ้นอีก ๓ ปี แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์
สิ้นอายุขัยด้วยความชราเมื่ออายุได้ ๑๐๕ ปี
ความรักและความห่วงใยของพระองค์ต่อพสกนิกร
ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความสุขของประชาชนอย่างทรงไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์
จึงสะท้อนกลับเป็นความรักเคารพและเทิดทูล
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อม การแสดงออกของชาวไทยตั้งแต่วันที่
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่เสด็จสวรรคตจนถึงวันนี้ จึงเหมือนพสกนิกรชาวไทยมีหัวใจเป็นดวงเดียวกัน
แสดงออกถึงความจงรักภักดีให้ประจักษ์ไปทั่วโลก
และมีความรู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้จากไปไหน
แต่จะสถิตในดวงใจของคนไทยตลอดไปชั่วนิรันดร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น