“ไก่ฆอและ” หรือ “ไก่กอและ”
เป็นอาหารประจำถิ่นในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งภาษามลายูจะพูดว่า “อายัม ฆอและ” (Ayam
Golek) แปลว่า ไก่กลิ้ง หรือหมายถึงลักษณะการปิ้งที่ต้องพลิกไปมาเพื่อให้ไก่สุกอย่างทั่วถึง
ไก่กอและนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี
ดังจะเห็นได้จากที่เทศบาลเมืองปัตตานีร่วมกับหลายหน่วยงานจัดงานเทศกาลอาหารไก่กอและมาถึงครั้งที่
16 แล้วสำหรับปีนี้
จนทำให้ชื่อเสียงของไก่กอและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
ด้วยลักษณะของไก่กอและที่เป็นอาหารเปียกและมีส่วนผสมของกะทิทำให้อายุการเก็บรักษาไก่กอและค่อนข้างสั้น
การส่งอาหารชนิดนี้ออกไปจำหน่ายนอกพื้นที่หรือนำไปเป็นของฝากค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
จึงทำให้ไก่กอและยังจำกัดการบริโภคอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
ปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโจทย์วิจัย
เรื่อง
“ผลของสายพันธุ์ไก่กอและระดับการสเตอริไลส์ต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไก่กอและพร้อมบริโภคในรีทอร์ท
เพาช์” (เครื่องฆ่าเชื้อหรือหม้อต้มเชื้อภายใต้แรงดัน)
ที่ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี
2556
มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ภักดีฉนวน
อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ม.อ.ปัตตานีเป็นหัวหน้าโครงการ
การวิจัยดังกล่าวมีการศึกษาเปรียบเทียบชิ้นส่วนของไก่ที่เป็นเนื้ออกกับเนื้อสะโพกของไก่
2 ชนิด ได้แก่ ไก่พันธุ์เนื้อและไก่ตะนาวศรี
(ไก่พันธุ์พื้นเมือง) ผลการศึกษาพบว่า
การใช้เนื้ออกและเนื้อสะโพกของไก่พันธุ์เนื้อมีความเหมาะสมในการนำมาผลิตเป็นไก่กอและพร้อมบริโภคมากกว่าไก่พันธุ์พื้นเมือง
เนื่องจากไก่พันธุ์พื้นเมืองมีเนื้อที่ค่อนข้างแข็ง แถมยังมีราคาแพง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์
ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “ผลของสายพันธุ์ไก่กอและระดับการสเตอริไลส์ต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไก่กอและพร้อมบริโภคในรีทอร์ท
เพาช์” เมื่อปี 2557
จากงานวิจัยดังกล่าวเมื่อปี 2556 ทีมนักวิจัยของภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ม.อ.ปัตตานีได้นำผลการวิจัยมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไก่กอและพร้อมบริโภคภายใต้ยี่ห้อมอร์ตานี
(More Tanee) ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เริ่มประชาสัมพันธ์ไก่กอและยี่ห้อมอร์ตานีด้วยการนำมาจัดเป็นกระเช้าของฝากปีใหม่เพื่อมอบให้แก่สื่อมวลชนและผู้มีอุปการคุณของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในเชิงการตลาดมากขึ้น
“ที่ชื่อมอร์ตานีมาจากคำพูดติดปากของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มักเรียก
ม.อ.ปัตตานีว่ามอตานี จึงนำมาตั้งเป็นชื่อสินค้าไก่กอและ อีกอย่างคำว่ามอร์ (More)
มีความหมายว่าได้อะไรที่มากกว่า
ซึ่งเป็นความหมายที่ดี”ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.พัชรินทร์เล่าถึงที่มาของชื่อสินค้าไก่กอและที่ผลิตโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
พร้อมกับบอกว่า
การนำไก่กอและพร้อมบริโภค
ซึ่งผ่านกระบวนการสเตอริไลส์อาหาร หรือการฆ่าอาหารด้วยความร้อนที่สูงมากกว่า 100
องศาเซลเซียสจะทำให้รสชาติของไก่กอและแตกต่างไปจากไก่กอและที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดหรือไม่นั้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า รสชาติอาจจะเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
แต่จากการทดลองตลาดแล้วผู้บริโภคยอมรับได้
ก็แสดงว่ารสชาติค่อนใกล้เคียงกับรสชาติเดิม
“เคยส่งไปให้กับเพื่อนที่ต่างจังหวัดทดลองรับประทาน
ก็มีผลตอบรับที่ดี คือ เขาบอกว่าอร่อยและอยากจะรับประทานอีก หรือที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยนำไปเป็นกระเช้าปีใหม่เพื่อมอบให้แก่คณะหน่วยงานต่าง
ๆ ในมหาวิทยาลัย คณบดีบางท่านก็ชมว่าอร่อย
ต้องการซื้อเพื่อไปบริโภคเองบ้างหรือไม่ก็นำไปเป็นของฝาก”ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.พัชรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดสินค้าไก่กอและพร้อมบริโภคยี่ห้อมอร์ตานี
สามารถสอบถามได้ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ภักดีฉนวน
ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี
หมายเลขโทรศัพท์ 086 490 3821
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น