วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"สวนพฤกษศาสตร์" ชายแดนภาคใต้


          เมื่อวันที่  21  ตุลาคม  2542  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้มีพระราชดำริ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์  ตำบลกะลุวอเหนือ  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส  สรุปได้ว่า "ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสวนพฤกษศาสตร์สำหรับรวบรวมพันธุ์ไม้ประจำถิ่น เพื่อการศึกษา  การนันทนาการ และการท่องเที่ยวของประชาชน  อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่มีสวนพฤกษศาสตร์ที่อำเภอแม่ริม"
          เมื่อวันที่  27  ตุลาคม  2542  ผอ.ศอ.บต. และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานที่จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์  ซึ่งในเบื้องต้นเห็นว่าควรจัดสร้าง ณ บริเวณป่าเขาตันหยงและบริเวณป่าเขาสำนัก  อำเภอเมืองนราธิวาส  จังหวัดนราธิวาส  และได้มีพระราชดำริว่าสถานที่ดังกล่าวน่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมเพราะอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเมืองนราธิวาส  มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมสายหลัก  จึงเป็นการสะดวกต่อผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะมาเยี่ยมชม  อย่างไรก็ตามทรงรับสั่งว่าอย่าทำให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน  และหากจำเป็นต้องใช้ที่ดินที่ราษฎรครอบครองอยู่ควรจะจ่ายชดเชยด้วยความเป็นธรรมและเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งไม่ควรก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างมากเกินไปหรือขัดกับสภาพแวดล้อม
          เมื่อวันที่  23  สิงหาคม  2543  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินบริเวณอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการสวนพฤกษศาสตร์ชายแดนภาคใต้  สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ให้เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหายาก
2. ให้ดำเนินงานโครงการเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด
          ต่อมาเมื่อวันที่ 10  เมษายน  2546  ณ เรือนที่ประทับโป่งแดง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นด้วยที่จะให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การสวนพฤกษศาสตร์  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ     ได้เข้าร่วมดำเนินการแบบบูรณาการเพื่อให้การดำเนินการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  และทรงรับที่จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดสวนพฤกษศาสตร์ที่จังหวัดนราธิวาสในปี พ.ศ. 2547



การบริหารจัดการ
          โครงการสวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในเขตตำบลกะลุวอ และตำบลกะลุวอเหนือ  อำเภอเมืองนราธิวาส  จังหวัดนราธิวาส  ครอบคลุมพื้นที่ 3  ส่วน ได้แก่  พื้นที่อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน  พื้นที่สวนยางเขาสำนัก  และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสำนัก  เนื้อที่รวม  2,710  ไร่  ดังนี้
1.  พื้นที่อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน วัตถุประสงค์หลักของอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน  คือ  เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และหมู่บ้านใกล้เคียง ปัจจุบันบริเวณอ่างเก็บน้ำใกล้บ้านได้มีการปลูกรวบรวมพันธุ์บัวชนิดต่าง ๆ  เพื่อความสวยงามและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  และพระบรมวงศานุวงศ์  ได้เสด็จฯ  ทอดพระเนตรพันธุ์บัวในอ่างเก็บน้ำใกล้บ้านเป็นประจำทุกปี  ซึ่งในบริเวณดังกล่าวสามารถพัฒนาเพื่อจัดทำแปลงรวบรวมพรรณไม้น้ำประจำถิ่นภาคใต้ได้อย่างสมบูรณ์  นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่โดยรอบขอบอ่าง  225 ไร่  สามารถพัฒนาให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้  จำพวกไม้เศรษฐกิจ  ไม้หายากใกล้ศูนย์พันธุ์  และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม  เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา  การวิจัย  และนันทนาการของประชาชนโดยทั่วไป


2.  พื้นที่สวนยางเขาสำนัก วัตถุประสงค์หลักของพื้นที่สวนยางเขาสำนัก  คือ  เป็นแหล่งศึกษาทดสอบการปลูกยางพารา  การปลูกพืชแซมยาง  และมีการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว  ดังนั้น  การดำเนินงานในพื้นที่แห่งนี้จะสามารถดำเนินการปลูกเสริมพันธุ์ไม้สวยงามของท้องถิ่น  จำพวกหวาย  ดาหลา  วนิลา  ปาล์มบังสูรย์  และหมากแดง ฯลฯ  เพื่อการอนุรักษ์  การสาธิตและเกิดประโยชน์ทางการศึกษา  วิจัย  และนันทนาการของประชาชนทั่วไปได้


3.  พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสำนัก บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสำนัก  เป็นภูเขาที่มีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่น  บริเวณยอดเขามีลานหิน  ซึ่งมีพรรณไม้ขึ้นอยู่สวยงาม  เช่น  ว่านไก่แดง  ข้าหลวงหลังลาย  เป็นต้น  นอกจากนี้พบว่า  มีกลุ่มไม้แอ็กขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณภาคใต้ของประเทศ  และพรรณไม้อื่นตามธรรมชาติ  ประมาณ  44  ชนิด  ดังนั้น  พื้นที่แห่งนี้จะจัดเป็นสถานที่ดำเนินการรวบรวมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัย  การสันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชน
สำหรับในส่วนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดำเนินการ มีรายละเอียดดังนี้
 (1.) ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน
- ขุดลอกขอบอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ลึกจากเดิม  1.25  ม.  กว้าง  50.00 ม.  รวมยาว 2.500  กม.
- วางท่อ คสล.  Ø 1.00  ม. ทางรับน้ำลงอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน    8 แห่ง
- ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบ  รวมยาว  5.000  กม.  (โดยใช้รั้วเดิม  2.500  กม.  รั้วใหม่  2.500  กม.)
- ราดยางถนนรอบอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน  จาก กม.1+920 ถึง กม.4+035  รวมยาว 2.115 กม.
- ราดยางถนนบนทำนบดินอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ยาว 0.517 กม.
(2.) กิจกรรมจัดหาน้ำสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานในพื้นที่สวนยางเขาสำนัก
- วางท่อส่งน้ำแยกจากท่อส่งน้ำของสถานีสูบน้ำบ้านกำแพง ขนาด  Ø 200  มม.  ความยาว  1.450 กม.
-  ถังกรองน้ำ - ถังเก็บน้ำใส  ขนาด 50  ม.3 1 แห่ง
(3.) กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน
- ปรับพื้นที่รอบขอบอ่างฯ ตบแต่ง ปลูกหญ้า 1 แห่ง
- ปรับปรุงศาลาที่ประทับทรงงาน 1 หลัง
- ทางเดินแบบที่ 1 แบบที่ 2 รวมยาว 170 ม.

- บ่อบัว คสล. และงานปูพื้นโดยรอบ 1 แห่ง ลานพักผ่อน 1 แห่ง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น