ผมได้มีโอกาสมาเยือนอำเภอตากใบ
จ.นราธิวาสอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าทุกท่านคงทราบว่า
ตากใบเป็นอำเภอสุดชายแดนด้านทิศตะวันออกระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย
โดยมีแม่น้ำตากใบและแม่น้ำโกลก เป็นแนวเขตแดนน่ะครับ
วันนี้ผมจะไปท่านผู้อ่านเข้าชมวัดชลธาราสิงเห ซึ่งได้สมญานามว่า
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย มีความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
อำเภอตากใบเป็นหนึ่งใน
13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส
มีพื้นที่ประมาณ 253.457 ตารางกิโลเมตร
อยู่ห่างจากตัวจังหวัดออกไปทางทิศใต้ประมาณ 33 กิโลเมตร
แบ่งการปกครองเป็น 8 ตำบล 49 หมู่บ้าน
เมื่อปี พ.ศ.2540 มีประชากร 59,381 คน
นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 60 ศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 40 (ทราบว่า ปัจจุบันมีคนไทยพุทธน้อยลง)
คนท้องถิ่นพูดภาษาถิ่นโบราณซึ่งมาคำไทยภาคเหนือปนอยู่
เนื่องจากชุมชนโบราณอพยพมาจากภาคเหนือ เรียกว่า ภาษาเจ๊ะเห
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า
ตากใบ เป็นชุมชนโบราณของไทย นับถือศาสนาพุทธ มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต
ปรากฏหลักฐานอยู่แล้วที่โคกอิฐ ตำบลพร่อน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองตากใบประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นฐานโบราณสถาน
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ ( พุทธศตวรรษที่ 11-15)
จนถึง ราชวงศ์หมิง ( พุทธศตวรรษที่ 19-20) แสดงถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชน
คำว่า “ตากใบ” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ “ตาบา” ซึ่งเป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานจึงเรียกหมู่บ้านดังกล่าวว่า บ้านตาบา อยู่ในเขตตำบลเจ๊ะเห เดิมขึ้นอยู่กับรัฐกลันตัน ในปีพ.ศ. 2452
รัฐบาลไทยได้ประกาศแต่งตั้งตำบลเจ๊ะเหขึ้นเป็นอำเภอตากใบ ในปี พ.ศ.2458 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเจ๊ะเห หลังจากนั้น เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑
ได้กลับมาเรียกว่า”อำเภอตากใบเหมือนเดิม” และขึ้นกับจังหวัดนราธิวาสจนถึงปัจจุบัน
สภาพภูมิอากาศของอำเภอตากใบส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม
มีป่าละเมาะปกคลุมอยู่ทั่วไป เนื่องจากอำเภอตากใบอยู่ติดฝั่งทะเล
อากาศจึงอบอุ่นสบาย มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน
และฤดูร้อน ฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม อาชีพสำคัญมี การเกษตร
การประมง การค้าชายแดน และอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่การทำไม้ไผ่ จักสาน
การทำเสื่อกระจูด และการทำผ้าบาติก
ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตากใบมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธ
ศาสนาอิสลามและคตินิยมพื้นบ้านดั้งเดิมเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดชลธาราสิงเห
หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย วัดพระพุทธและโคกอิฐที่ตำบลพร่อน สถานที่ท่องเที่ยว
ได้แก่ท่าเรือ และตลาดตาบา เกาะยาวและหาดเสด็จซึ่งเป็นที่หาดทรายสะอาด สวยงาม
ประวัติการสร้างวัดชลธาราสิงเห
ตามที่ได้สืบสวนค้นคว้า
และเล่าต่อเนื่องกันได้ความว่า ผู้ที่ได้สร้างวัดนี้ เดิมชื่อ ท่านพุด
หรือพระครูโอภาสพุทธคุณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2403
บริเวณป่าช้องแมวและป่าจากระหว่างพรุบางน้อยกับแม่น้ำตากใบ
จึงเรียกว่า วัดท่าพรุหรือวัดเจ๊ะเห
ในครั้งนั้นท่านพุดได้เดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าว เห็นว่า
พื้นที่เป็นป่ากว้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย ที่ดินติดริมแม่น้ำตากใบมีทิวทัศน์สวยงาม
อากาศดี ต่อมาท่านก็เดินทางไปขอที่ดินต่อพระยาเดชานุชิต
ผู้ปกครองรัฐกลันตัน
เพราะในสมัยนั้นอำเภอตากใบตกอยู่ในความปกครองของรัฐกลันตัน มลายู
โดยมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองโกตาบารู
และพระยารัฐกลันตันได้อนุญาตให้ท่านสร้างวัด แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อวัด
เพียงแต่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า วัดเจ๊ะเห หรือวัดท่าพรุ
เพราะเดิมก่อนที่สร้างวัดมีท่าเรืออยู่ก่อนแล้ว
ชาวบ้านเล่ากันว่าเมื่อมาจากบ้านจะไปท่าเรือ ต้องข้ามพรุนาก่อนถึงท่าเรือ
จึงเรียกว่าท่าพรุ บางพวกเรียกว่า วัดเจ๊ะเห ก็เพราะว่าแม่น้ำหน้าวัดต่อเนื่องมาจากหน้าหมู่บ้านเจ๊ะเห
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
การสร้างวัดในระยะแรกเข้าใจว่า มีอาคารสร้างด้วยไม้ เช่น กุฏิ ศาลา
และอุโบสถ ต่อมาปี พ.ศ.2416 ท่านได้สร้างอุโบสถใหม่
โดยได้มอบหมายให้พระชัย วัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างและพระวินัยธรรมกับทิดมี
ร่วมเขียนภาพในอุโบสถ พร้อมกับสร้างพระประทานและกำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ
ศาลาริมน้ำตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
เป็นศาลาโถงทรงมณฑปที่มีลักษณะงดงาม เมื่อวันที่ 6
มิถุนายน พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถึงอำเภอตากใบ
แล้วเสด็จขึ้นประทับ ณ ศาลาริมน้ำหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันเรือและถวายปัตตุปัจจัยบำรุงวัด
พระอุโบสถ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2416 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด
หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
หลังคามุงกระเบื้องดินเผา หลังคาเป็นชั้นซ้อนทางด้านหน้าและหลังคาของอุโบสถ
มีชายคาปีกนกลดหลั่นกันลงมา 3 ชั้น
มีเสานางเรียงทรงสี่เหลี่ยมรองรับเชิงชาย เครื่องบน ประดับช่อฟ้า ใบระกา
และหางหงส์
หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประตูและหน้าต่างก่อเป็นซุ้มมงกุฎ
มีกำแพงแก้วและใบเสมาล้อมรอบจำนวน 8 ซุ้ม
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นรูปปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้ว
นอกจากนี้ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องไตรภูมิ พุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น
เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และพระพุทธเจ้าโปรดพระพุทธบิดา
เป็นต้น ภาพเทพชุมนุมและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนท้องถิ่นในอำเภอตากใบ
ภาพสุดประทับใจชาวบ้านในพื้นที่ตากใบช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทยแสดงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ
ภาพประทับใจ
ชาวบ้านไทยมุสลิม ช่วยกันตั้งเสาธงชาติไทย ที่ปลายสุดด้ามขวาน ที่เกาะยาว อ.ตากใบ
จ.นราธิวาส อีกหนึ่งความประทับใจ
ปลายสุดด้ามขวานทองที่ชาวบ้านรวมตัวกันยกเสาธงไตรรงค์ที่ทำจากไม้ต้นใหญ่
ถูกยกขึ้นพร้อมผืนธงชาติไทยเด่นสง่าบนชายหาด
สร้างสีสันให้กับพื้นที่และยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีที่ต่อประเทศชาติ
ที่เกิดขึ้นโดยลูกหลานชาวไทยปลายด้ามขวาน…
บทสรุป จะเห็นได้ว่า ดินแดนปลายสุดด้ามขวานของเราในเขต จ.นราธิวาส
มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีตอย่างน่าสนใจ จนเกือบจะต้องเสียดินแดน 4
อำเภอจากการปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามและนำมาสู่การลงนามในสนธิสัญญาเมื่อปี
พ.ศ.2451 แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราชในการเจรจาต่อรองด้วยการยกเหตุผลของความสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะความเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะอย่างประณีตของวัดชลธาราสิงเห
ซึ่งเคียงคู่กับชุมชนไทยที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน
จนทำให้อังกฤษยอมปักปันเขตแดนตามลำน้ำตากใบ-โกลกตั้งแต่นั้นมา
พวกเราในฐานะอนุชนรุ่นหลังที่ได้รับมรดกที่มีคุณค่าของปลายด้ามขวานแห่งนี้
จึงสมควรที่จะต้องปกป้องรักษาอธิปไตยดินแดนแห่งนี้ไปตลอดกาล…….
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น