“ชั่งหัวมัน” นับเป็นโครงการตามพระราชดำริโครงการหนึ่งซึ่งชื่อโครงการสามารถดึงดูดความสนใจแก่คนทั่วไปได้ดี
เพราะคำพ้องเสียงระว่างคำว่า “ชั่งหัวมัน” และ “ช่างหัวมัน” ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความสงสัยว่า
“ชั่งหัวมัน” คืออะไร
นายดิสธร
วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เคยเล่าถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมัน
ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการฯ
ได้ทำเป็นแผ่นผ้าใบและนำมาติดไว้เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมภายในโครงการได้ทราบถึงประวัติโดยสังเขปของโครงการนี้ว่า
“ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่วังไกลกังวล
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ
ทรงมีพระประสงค์ให้มันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมายังวังไกลกังวลอีกครั้ง จึงพบว่ามันเทศที่วางไว้บนตาชั่งมีใบงอกออกมา
พระองค์ทรงรับสั่งให้นำหัวมันต้นนั้นไปแยกกระถางปลูกไว้ในวังไกลกังวลแล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่ทดลองปลูกมันเทศ”
โครงการตามพระราชดำริ “ชั่งหัวมัน” ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองคอไก่
ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินบริเวณนี้จากราษฎร
เมื่อปี 2551 จำนวน 130 ไร่
ต่อมาในปี 2552 ทรงซื้อเพิ่มอีก 120
ไร่ รวมเนื้อที่ในโครงการจำนวน 250 ไร่
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งเคยแห้งแล้งให้กลายเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิดและเพื่อเป็นแนวทางการทำการเกษตรโดยยึดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ
เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ
นายชนินทร์
ทิพย์โภชนา ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันฯ เปิดเผยถึงสภาพพื้นที่ในอดีตของโครงการฯ
ภายในงานสื่อมวลชนสัญจร “กปร.กับงานของในหลวง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(สำนักงาน กปร.) ว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นแห้งแล้ง
เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ชาวบ้านจึงปลูกต้นยูคาลิปตัส
ซึ่งทำให้สภาพพื้นดินยิ่งเสื่อมโทรม นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ปลูกมะนาวแป้น
แต่เนื่องจากไม่น้ำจึงทำให้ได้ผลผลิตน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านจึงอยากขายที่ดิน
แต่ขายไม่ได้เนื่องจากเป็นพื้นที่รกร้างและไม่สามารถทำประโยชน์ได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการชั่งหัวมัน
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ความตอนหนึ่งว่า “คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า
เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว
ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั่นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้
เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า
ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก
หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี
ก้าวหน้าได้อย่างไรก็ด้วยการช่วยเหลือกัน
แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้วก็ทำให้ก้าวหน้า
แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง
มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ…” จากพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานนี้เอง
ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ภายในโครงการ หน่วยงานต่างๆ จำนวน 11 หน่วยงาน ได้แก่
ทางหลวงชนบทจังหวัดเพชรบุรี หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 13 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กองพันบริการ
กองบริการ ศูนย์การทหาราบ กระทรวงมหาดไทย และชาวเพชรบุรีได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาและพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ภายในระยะเวลาไม่นานนัก
ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันฯ
ย้อนอดีตโดยการเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินมายังพื้นที่โครงการให้ฟังว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาชมพื้นที่โครงการจำนวน 3 ครั้ง
ซึ่งการเสด็จฯ แต่ละครั้งเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์
เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการส่วนพระองค์ และจะทรงพระสำราญพระอิริยาบถและพระราชหฤทัยทุกครั้ง
ซึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดโครงการในวันที่ 1 สิงหาคม 2552
ในครั้งนั้นทรงขับรถจิ๊บด้วยพระองค์เอง โดยมีคุณทองแดงนั่งด้านหน้า
ส่วนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมุหราชองครักษ์นั่งด้านหลัง
แม้ทุกวันนี้พระองค์จะมิได้เสด็จฯ มา
แต่ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับโครงการอย่างต่อเนื่อง
ทรงแนะนำพันธุ์พืชที่ควรจะปลูกและทรงติดตามความคืบหน้าโครงการมาโดยตลอด
“ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาขึ้นเยอะมากๆ จากป่ายูคารกร้าง
สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางการเกษตรและทำให้ทันสมัยมากขึ้น
โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
และชาวบ้านเองก็รู้สึกภาคภูมิใจที่มีโครงการในลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขา
ซึ่งทุกวันพฤหัสบดีชาวบ้านจะเข้ามาช่วยกันทำงานผลัดเปลี่ยนไปทุกหมู่บ้านโดยไม่ได้รับค่าแรง
แสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำเพื่อถวายพระองค์ท่าน” นายชนินทร์ ทิพย์โภชนา กล่าว
ภายในโครงการชั่งหัวมันฯ
ไม่ได้มีการปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว แต่ยังปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ พริก
มะเขือเทศ มะเขือเปราะ ผักบุ้ง กะเพราะ โหระพา มะนาวแป้น และผักชี
ส่วนผลไม้ที่ปลูกนั้นเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ อาทิ
สับปะรดปัตตาเวีย แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่เพชรสายรุ่ง
กล้วยน้ำว้า และสับปะรดเพชรบุรี สำหรับพืชเศรษฐกิจนั้น
เป็นพืชที่อยู่ในความต้องการของตลาด สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง อาทิ อ้อยโรงงาน
มันเทศญี่ปุ่น มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ซิวแม่จัน
ข้าวเจ้าพันธุ์ลีซอ ยางพารา ยางนา เป็นต้น
สิ้นค้าการเกษตรจากโรงการชั่งหัวมันฯ
ส่วนหนึ่งจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหัว
อีกส่วนหนึ่งจะส่งไปจำหน่ายที่ร้าน “โกลเด้นเพลซ” ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทสุรรณชาติในพระบรมราชูถัมภ์ จำกัด
ร้านโกลเด้นเพลซจึงเป็นซูเปอร์มาเก็ตที่ยึดนโยบายพระราชทาน “เศรษฐกิจพอเพียง”
ขายของคุณภาพดี ราคาไม่แพง เป็นศูนย์รวมสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ
สินค้าเกษตรแปรรูป จากโครงการหลวงและชุมชนทั่วประเทศ
ผู้จัดการโครงการคนเดิมกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมะเขือหยกภูพาน
ซึ่งเราจะส่งไปถวายทุกสัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีข้าวสารที่ปลูกในโครงการที่ได้ได้ส่งไปถวายพระองค์ท่านด้วย
สำหรับการขายสินค้า บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเราไปแย่งตลาดของชาวบ้าน
แต่ความจริงแล้วเรามีตลาดของเราเองคือ ร้านโกลเด้นเพลซ
ดังนั้นจึงไม่มีการแย่งตลาดกับชาวบ้าน
แต่ชาวบ้านสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิตและศึกษาพืชเศรษฐกิจที่เขาสามารถนำไปปลูกจากเราได้
สำหรับการดำเนินงานต่อไปจะมีการจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้เฉพาะถิ่นสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายมาแล้ว
โดยเราจะดำเนินตามพระราชประสงค์ต่อไป
และหวังว่าศูนย์การเรียนรู้นี้จะเป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่สามารถสร้างความรู้ให้ชาวบ้านนำกลับไปปฏิบัติเพื่อความอยู่ดีมีสุขได้”
นายชนินทร์ ทิพย์โภชนา ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันฯ กล่าวในตอนท้าย
เนื่องจากบริเวณพื้นที่โครงมีลมแรง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้นำพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการชั่งหัวมันฯ
และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ศูนย์วิจัยพลังงามลมน้ำและแสงอาทิตย์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินการออกแบบและติดตั้ง
จำนวน 10 ตัว โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีน้อมเกล้าฯ ถวายอีก 1 ตัว
ต่อมามีการติดตั้งเพิ่มอีก 9 ตัว ขณะนี้จึงมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 20 ตัว
ต่อมามีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์
โดยพลังงานสะอาดเหล่านี้ ไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่
แต่ใช้วิธีการนับว่าผลิตได้เท่าไรแล้วนำไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ทุกเดือนภายในโครงการฯ
ซึ่งพลังงานที่เหลือจะนำไปขายให้แก่การไฟฟ้าฯ
นอกจากนี้มีการร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงาน
กปร. กรมชลประทาน และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ใน “โครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพระบบจัดหาน้ำเพิ่มเติมให้อ่างเก็บน้ำหนองเสือ
โดยระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานทดแทน
(ระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยผาก-อ่างเก็บน้ำบ้านหนองเสือ)” ต.เขากระปุก
อ.ท่ายาง เพื่อนำน้ำไปใช้ภายในโครงการชั่งหัวมันฯ
โครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบและติดตั้งระบบสูบน้ำ
โดยสูบน้ำจากแหล่งต้นน้ำเพื่อกักเก็บ ไว้ที่ถังพักน้ำชุดที่ 1
ด้วยระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์
โดยมีพลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานเสริมตามความเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์
จากนั้นจะสูบน้ำโดยระบบทั้งสองอีกครั้งขึ้นไปยังถังพักน้ำบนยอดเขา
(ใช้การสูบต่อแบบอนุกรม) โดยให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณน้ำที่ส่งขึ้นถังพักน้ำ
และปริมาณน้ำจากถังพักน้ำไปยังแหล่งรับน้ำ (อ่างเก็บน้ำบ้านหนองเสือ)
มีอัตราการสูบน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงสำหรับการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
และมีอัตราการสูบน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงสำหรับการสูบน้ำด้วยพลังงานทดแทน
หรือวันละ 960 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
โดยมีระบบควบคุมและแสดงผลระบบทางไกลผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม
โดยจะเริ่มทดสอบระบบในวันที่ 15 กันยายนนี้
หลังจากการติดตั้งและเดินระบบเสร็จแล้ว
จะมีการวิเคราะห์ศักยภาพทั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และระบบสูบน้ำด้วยพลังงานทดแทน
เพื่อหาความเหมาะสมของระบบโดยรวม
รวมทั้งจัดทำวิธีการบริหารจัดการน้ำผ่านระบบตรวจวัดและควบคุมทางไกลผ่านเครือข่าวโทรคมนาคม
เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบด้านการชลประทานต่อไปในอนาคต
จากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนส่งผลให้วันนี้
“โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรด้านวิถีพอเพียงแห่งใหม่สำหรับชาวเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น
“ครูแห่งแผ่นดิน” ในการทรงเป็นต้นแบบที่ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นในการพลิกฟื้นแผ่นดินที่เคยแห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ทรงแสดงให้เห็นว่า
แม้แต่แผ่นดินที่เสื่อมโทรมก็สามารถอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้หากคนชาติมีความร่วมใจในการพัฒนาไปด้วยกัน
และที่สำคัญคือ ตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้
จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติเพื่อความอยู่ดีมีสุขของตนเองและครอบครัวสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น