ตลอดมาประวัติศาสตร์อันยาวนานของสังคมไทย
เยาวชนนักศึกษาเป็นดังพลังแห่งความหวังของสังคม ด้วยวัยที่มีความสดใส
ความใฝ่ฝันและกล้าหาญที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อสังคม เป็นเวลาย่างเข้าปีที่
9
แล้วที่เกิดภาพความร่วมมือระหว่างเยาวชนนักศึกษาที่มีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง
ได้แก่ นักศึกษาที่จะถูกหล่อหลอมโดยสถาบันอันทรงเกียรติอย่าง
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ให้เป็นกำลังหลักในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม
นักเรียนนายร้อย ที่ประกอบไปด้วยเยาวชนจากหลากหลายพื้นเพ ภูมิลำเนา และฐานะสังคม
ส่วนนักศึกษาอีกกลุ่ม คือ
ตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา
นราธิวาส ที่มุ่งหวังจะให้สังคมบ้านเกิดของตนได้กลับคืนมาซึ่งสันติสุข
โครงการ “รู้รักสามัคคี เพราะเราคือพี่น้องกัน” เป็นโครงการที่รวมพลังแห่งความแตกต่าง
หากเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของคนวัยหนุ่มสาว
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 จากความร่วมมือระหว่างกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย
นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่นับถือศาสนาพุทธ
และนักเรียนและนิสิตนักศึกษามุสลิมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ
ได้มีโอกาสเรียนรู้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของกันและกัน
และทำให้มิตรภาพก่อตัวขึ้นอย่างเหนียวแน่น โดยกิจกรรมสร้างสรรค์มิตรภาพและความเข้าใจ
จะแบ่งเป็นสองส่วน สองช่วงเวลา
ในช่วงต้นของโครงการทางตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในสามพื้นที่จังหวัดชายแดนภายใต้
จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่ รร.นายร้อย
ซึ่งนอกเหนือจากการทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจแล้ว ยังมีการพูดคุยหารือ
นัดหมายกันเกี่ยวกับกิจกรรมในช่วงที่สองของโครงการ ซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนนายร้อย
จะต้องลงมาเรียนรู้ในพื้นที่
ในลักษณะโครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่นักเรียนนายร้อย
จะได้ทำตามสัญญาใจที่ให้ไว้กับกัลยาณมิตรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ร่วมกันพัฒนาชุมชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมค่ายอาสา
และเอาข้อมูลดีดีจากพื้นที่ไปเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป
นับจากรุ่นที่
1 ในปี 2551 จวบจนถึงปัจจุบัน โครงการ“รู้รักสามัคคี เพราะเราคือพี่น้องกัน” ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่
9 แล้วในปี 2560
โดยในปีนี้มีกิจกรรมขยายผล ได้แก่
โครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบทสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กิจกรรมศรีสาคร นครแห่งสันติ ที่เพิ่งผ่านพ้นมาในวันที่ 13-17 เมษายน 2560
โดยทางนักเรียนนายร้อยได้ลงพื้นที่ บ้านไอเจี๊ยะ ต.ซากอ อ.ศรีสาคร
จ.นราธิวาส เรียนรู้วิถีชุมชน พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการอยู่ร่วมกันในสังคม
จนนำมาซึ่งความถูกต้องและความสามัคคีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของแกนนำนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ ได้แก่
ชมรมสานศานติ สหพันธุ์นักเรียน นักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ศูนย์สันติวิธี กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชมรมจิตอาสา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
การได้ลงมาสัมผัสพื้นที่จริงผ่านกิจกรรมค่ายอาสาในครั้งนี้
เป็นการเปิดโอกาสให้ นร.นายร้อยและนักศึกษาในพื้นที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาต่างศาสนิก เพื่อให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อีกทั้งปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตอาสาที่จะร่วมกันพัฒนาสาธารณประโยชน์
เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ อาทิ
การเทพื้นซีเมนต์และปูกระเบื้องให้กับมัสยิด การปรับปรุงห้องน้ำให้กับโรงเรียน
รวมทั้งการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้กับวัดในชุมชน
“เราต้องการทำให้ทุกคนรู้ว่า
เราสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ นอกจากการอาสาร่วมสร้าง
แล้วยังเป็นการสร้างเพื่อน สร้างความสามัคคี สร้างน้ำใจและรอยยิ้ม
ได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
และได้สร้างประโยชน์ให้กับพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่” นี่คือหนึ่งในเสียงสะท้อนจากนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่
9
โครงการ “รู้รักสามัคคี เพราะเราคือพี่น้องกัน” จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนองนโยบาย
กองอำนวยการเพื่อความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า
ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนผ่านกิจกรรมต่างๆ
เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีความเข้าใจกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการปูพื้นฐานให้กับนักเรียนนายร้อยได้ลงมาสัมผัสกับพื้นที่จริง
เพื่อเรียนรู้และนำไปต่อยอดในการลงมาปฏิบัติหน้าที่จริง
เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากสำเร็จการศึกษาต่อไป ความเป็นกัลยามิตรที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนนายร้อยกับนักศึกษาในพื้นที่และจะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคต
ย่อมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากกว่า
การเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น