“โอเค เบตง”
หลังภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อหลายปีที่แล้ว
คนก็พูดกันติดปากถึงอำเภอเบตง จ.ยะลา ที่อยู่ใต้สุดของเมืองไทยว่า โอเค...เบตง
ซึ่งหากใช้กับสภาพการณ์ในตอนนี้ที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ยังคงอยู่แต่ว่าลดกีกรีความร้อนแรงลงไปเยอะมาก
เบตง เป็นพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถือว่าโอเค
คือกลับมาอยู่ในความสงบปราศจากเหตุไม่ปลอดภัยได้เกือบ 3 ปีแล้ว
ดังนั้นเมื่อโอกาสดีมาถึง “ตะลอนเที่ยว” จึงล่องใต้ไป 3
จังหวัดชายแดน ที่แม้ใครหลายคนจะหวั่นในสถานการณ์
และเสียงลือเล่าอ้างบวกข่าวที่โหมกระพือถึงความไม่ปลอดภัย แต่ในสภาพการณ์จริงชาวบ้านในพื้นที่เขาปรับตัวและใช้ชีวิตเหมือนปกติมานานแล้ว
พวกเขารู้ว่าสถานที่ใดสมควรไป เวลาใดสมควรเดินทาง และจุดไหนควรหลีกเลี่ยง
ทำให้ช่วงที่เราไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นปลอดภัยหายห่วง โดยในจังหวัดสุดท้ายที่ยะลานั้น จากตัวเมือง(ในเวลากลางวัน)เราเดินทางผ่านถนนแห่งขุนเขาสันการาคีรีไปตามทางหลวง
410 อันคดเคี้ยวเลี้ยวๆลด ขึ้นๆลงๆ ประมาณ 140 กม. สู่ อ.“เบตง” ดินแดนที่มีคำขวัญว่า
“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”
โอเค...เบตง
เบตง
เป็นเมืองในแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่
ที่อยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตง-มาเลเซียเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น
เบตงเป็นพื้นที่พิเศษ รถในเมืองนี้สามารถใช้ทะเบียนเบตงได้เลย
โดยไม่ต้องใชทะเบียนจังหวัดยะลา
ชื่อเบตงเป็นภาษามลายูหมายถึง“ไม้ไผ่” ในอดีตเมืองนี้มีไม้ไผ่มาก
แต่ปัจจุบันในตัวเมืองมองหาต้นไผ่ไม่เห็นแล้ว
มีแต่ไผ่ยักษ์จำลองซึ่งทางเทศบาลเมืองเบตงได้จัดสร้างไว้ที่สวนสาธารณะของเทศบาล
ไหนๆก็พูดถึงความใหญ่ยักษ์แล้ว
เบตงโด่งดังมากในเรื่องของตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยตู้แรกต้นฉบับสุดคลาสสิคนั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มุมถนนสุขยางค์ บริเวณ 4
แยกหอนาฬิกา
ไปรษณีย์ยักษ์ตู้นี้ มีอายุกว่า 80 ปี สูง
3.2 เมตร เหตุที่ทางเมืองนี้ทำตู้ไปรษณีย์สีแดงยักย์ประดับเมืองไว้ เพราะในอดีตการเดินทางติดต่อสื่อสารจากเบตงไปยังเมืองอื่นๆเป็นไปด้วยความยากลำบาก
การส่งจดหมายสื่อสารถึงกันนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้นายสงวน จิระจินดา
นายกเทศมนตรีตำบลเบตงในขณะนั้น
ที่มีความผูกพันกับตู้ไปรษณีย์ไม่น้อยเนื่องจากเคยเป็นนายไปรษณีย์มาก่อน
ได้จัดสร้างตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการสื่อสารที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงไปโดยปริยาย
และด้วยความโดดเด่นของตู้ไปรษณีย์แห่งนี้
ทำให้ทางเทศบาลเมืองเบตงนำไปขยายผลด้วยการสร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์จำลองขึ้นใหญ่กว่าเดิมถึง
3.5 เท่า(ราว 9 เมตร) ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่หน้าศาลาประชาคม
อย่างไรก็ตามในเรื่องของความมีเสน่ห์และความคลาสสิคนั้น
ตู้ไปรษณีย์ต้นฉบับกินขาด
กลายเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาส่งจดหมาย โปสการ์ด
หรือมายืนแอ๊คท่าถ่ายรูปคู่กับตู้ไปรษณีย์ยักษ์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากตู้ไปรษณีย์ยักษ์สุดคลาสิคแล้ว
ใกล้ๆกันยังมีอีกหนึ่งความคลาสสิคตั้งตระหง่าน
เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองนั่นก็คือ “หอนาฬิกาเบตง”ที่เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน
หอนาฬิกาแห่งนี้ สร้างเป็นสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางของเมือง ณ บริเวณจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ
ด้วยหินอ่อนขาวนวลดูสง่าน่ามอง
รอบๆหอนาฬิกาดูระโยงระยางไปด้วยสายไฟ
ซึ่งในช่วงหัวค่ำสายไฟเหล่านี้จะเต็มไปด้วย สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า “นกนางแอ่น” เกาะบนสายไฟเต็มพรืดไปหมด
นกนางแอ่นเหล่านี้หนีหนาวมาจากไซบีเรียมาอยู่เบตงในช่วงเดือนกันยายนถึงมีนาคม
ยามหัวรุ่งพวกมันจะบินไปหาอาหารตามป่าเขา
และกลับมาเกาะที่สายไฟในช่วงหัวค่ำเป็นอย่างนี้ทุกวัน
กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเบตง
ซึ่งพวกเขาผูกพันและหวงแหนนกเหล่านี้ไม่น้อยเลย
สาววัยรุ่นบางคนจากที่เราได้เห็นมา
เธอมารอซื้อโรตีเจ้าอร่อยที่ข้างหอนาฬิกาใต้สายไฟในช่วงหัวค่ำ
แล้วจู่อะไรก็หล่นปุ๊ลงมาให้เธออุทานว่า “ยี้ ขี้นกตกใส่หัว”
ก่อนจะหัวเราะขบขันไม่มีการสบถด่าทอหรือขับไล่นกเหล่านั้นแต่อย่างใด
ในขณะที่ชาวบ้านบางคนก็ยินดีที่จะบอกเล่าเรื่องราวของนกเหล่านี้เท่าที่เขารู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นอย่าง“ตะลอนเที่ยว” ซึ่งกับเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งการมีสายไฟระโยงระยางพาดผ่านสถาปัตยกรรมอันสวยงามดูจะเป็นการทำลายเสน่ห์ของเมือง
แต่กับที่เบตงสายไฟเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนเสริมเสน่ห์ของเมืองให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
จากบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา
หากเดินขึ้นไปตามความชันเล็กน้อยของถนนก็จะพบกับ “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์”
อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย
ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไป-มา
อุโมงค์แห่งนี้ดูคลาสิคกว่าสมัยใหม่เพราะด้านหลังของอุโมงค์(เมื่อมองจาก 4 แยกหอนาฬิกาเข้าไป)ตะหง่านเงื้อมสวยงามไปด้วย “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง”กับงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลังคาซ้อนหลายชั้น
ในพิพิธภัณฑ์ชั้นหนึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ
ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ อาทิ ถ้วยชามเครื่องเคลือบ โต๊ะ ตู้ เตียง โบราณ
ตะเกียงเก่า เรือสำเภาจำลอง กี่ทอผ้า อุปกรณ์ปั่นฝ้าย
ส่วนชั้นสองจัดแสดงภาพเก่าเมืองเบตง และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในเมืองนี้
พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ
เป็นจุดชมวิวชั้นดีที่เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดมองลงมาจะเห็นตัวเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน
ในขณะที่ลานดาดฟ้าตึกหลังหนึ่งข้างๆพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เต้นแอโรบิกยามเย็นที่คึกคักไปด้วยลีลายักย้านส่ายส่วนต่างๆของร่างกายจากผู้คนในพื้นที่
ซึ่ง“ตะลอนเที่ยว” เห็นแล้วอดขยับแข้งขยับขาตามมาไม่ได้
เย็นในวันนั้น “ตะลอนเที่ยว”
เดินตามบันไดวนขึ้นไปชมวิวเมืองเบตงยามโพล้เพล้บนพิพิธภัณฑ์
ก่อนกลับลงมาสัมผัสกับเบตงยามค่ำคืน
หลังจากเราเห็นภูเขาของผีเสื้อราตรีแบบเตะตาอย่างไม่ตั้งใจในยามค่ำคืน
เช้าวันรุ่งขึ้น“ตะลอนเที่ยว” ตื่นแต่เช้าตรู่
ขึ้นไปบนดาดฟ้าของที่พักโรงแรมแมนดาริน
อาคารสูงที่สุดในเบตงเพื่อชมทิวทัศน์ของภูเขาของจริงที่ทอดตัวเรียงรายโอบล้อมตัวเมืองนี้
ท่ามกลางสายหมอกบางๆที่ลอยเอื่อยมาทักทาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น