วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อาชีพพระราชทานของชาวนราธิวาส “จักสานย่านลิเภา”

        จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากเชียงใหม่  ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้กลายเป็นศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อมากอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้



        แต่เดิมเครื่องจักสานย่านลิเภามีมากในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชไม้เถาชนิดนี้ แต่มาเจริญรุ่งเรืองแถบเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาศิลปหัตถกรรมนี้ได้แพร่หลายเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตกแต่งกระเป๋าหมากย่านลิเภาด้วยโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน และงาช้าง หลังจากนั้นความนิยมเครื่องใช้ย่านลิเภาจึงได้ค่อย ๆ ลดลง จนความรู้เกี่ยวกับงานจักสานย่านลิเภาเกือบจะสูญหายไป




      เมื่อปี พ.ศ.2517 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนราธิวาส โดยพระองค์ได้พระราชทานโครงการศิลปาชีพจักสานย่านลิเภาขึ้น
       ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ เล่าให้ฟังว่าเนื่องจากพื้นที่บาเจาะ เป็นพื้นที่พรุ มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้พื้นที่ทำมาหากินได้ และมีฐานะยากจนมาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้พระราชทานโครงการศิลปาชีพ ด้านการจักสานย่านลิเภา เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ โดยอำเภอบาเจาะมีสมาชิกศิลปาชีพย่านลิเภามากที่สุดของจังหวัดนราธิวาสคือมีสมาชิกประมาณ 6 พันคน
ด้านนางพารีด๊ะ มะวิง ครูศิลปาชีพ แผนกย่านลิเภา บอกกับทีมงานของเราว่า จากเดิมเป็นสมาชิกส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดได้รับรางวัล และได้เริ่มเป็นครูศิลปาชีพ มาตั้งแต่ปี 2540 เมื่อปี 2539 พระองค์ทรงรับสั่ง ให้ทำแบบสี่เหลี่ยม แบบขึ้นกลม และดอกพระยาครุฑ ตอนนี้ต้องทำหวายเล็ก เส้นเล็ก ถ้าไม่มีลายก็ได้ แบบมีลายก็ได้ เพียงแต่ต้องหวายเล็กอย่างเดียว เส้นก็ต้องเล็ก คุณพารีด๊ะ เล่าให้ฟังถึงรับสั่งของพระองค์ในครั้งนั้น




        นายมะรอพี แดเนาะ ครูศิลปาชีพ แผนกย่านลิเภาอีกท่านหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์สอนมากว่า 25 ปี แล้วบอกว่า เมื่อปี 2527 ได้เข้าเฝ้าฯ ที่บ้านคลอแระ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนจักสานย่านลิเภาที่สวนจิตรลดา ก่อนมาทำหน้าที่ครูศิลปาชีพ
“...รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าโครงการศิลปาชีพ เพราะว่าสมเด็จฯ ท่านก็เลี้ยงทั้งครอบครัวของผม ตั้งแต่เป็นครูของโครงการจนได้ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี...คุณมะรอพี พูดอย่างภาคภูมิใจ
นายอำเภอบาเจาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สืบสานงานตามแนวพระราชดำริ ทางอำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นอำเภอเดียวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ได้จัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาบนพื้นที่สาธารณะบ้านคลอแระ จำนวน 30 ไร่ ส่วนในในระยะยาวทำอย่างไร ให้อาชีพนี้อยู่คู่กับคนบาเจาะ ก็ได้เตรียมขยายพื้นที่การทำแปลงอนุรักษ์ ไว้แล้วประมาณ 900 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เอกลักษณ์อาหารปลายด้ามขวานไทย “ไก่ฆอและ”

          เมื่อมาเยือนดินแดนถิ่นด้ามขวานไทย สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือการได้ลิ้มลองอาหารพื้นเมือง ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และมีเอกลักษณ์ ไก่กอและ หรือ ไก่ฆอและ เป็นอาหารมลายูปักษ์ใต้ โดยเฉพาะที่ปัตตานีจะมีชื่อเสียงมาก และมักจะทำไก่ฆอและคู่กับข้าวหลาม ไก่กอและในภาษามลายูปาตานีจะอ่านว่า "อาแยฆอและ" (Ayam Golek) คำว่า อาแย (Ayam) แปลว่าไก่ ฆอและ (Golek) แปลว่า กลิ้ง อาแยฆอและ จึงแปลว่า ไก่กลิ้ง ซึ่งก็หมายถึงการย่างเพราะต้องคอยพลิกกลับไปมา นอกจากจะใช้ไก่ทำแล้ว ปัจจุบันยังใช้เนื้อสัตว์อื่น ๆ ทำได้ด้วย เช่นถ้าใช้หอยแครงสดทำ ก็จะเรียกว่า "กือเปาะห์ฆอและ" ถ้าใช้ปลาทำ เรียกว่า "อีแกฆอและ" ถ้าใช้เนื้อทำ เรียกว่า "ดาฆิงฆอและ" ซึ่งก็อร่อยไม่แพ้กัน




    ยีเยาะ ผู้รับช่วงต่อของสูตรไก่ฆอและจากผู้เป็นแม่ ด้วยสูตรและกรรมวิธีการปรุงเฉพาะตั้งแต่เครื่องปรุงที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี น้ำซอสหมักไก่ที่ใช้น้ำกะทิสด จนกระทั่งการย่างไก่ที่ใช้การย่างสลับกับการจุ่มซอสหลายๆครั้ง ยิ่งทำให้น้ำซอสซึมเข้าเนื้อ รสชาติจึงกลมกล่อมเข้ากันได้ดีกับเนื้อไก่ และเมื่อทานคู่กับข้าวหลาม สูตรปักษ์ใต้ ยิ่งเพิ่มความอร่อยมากขึ้นไปอีก และปัจจุบันนี้สูตรสำหรับทำไก่ฆอและ ของยีเยาะได้ส่งต่อไปยังลูกสาวที่เข้ามารับช่วงต่อจากรุ่น สู่ รุ่น ซึ่งสามารถต่อยอดได้ดี และลูกค้ายังให้การยอมรับไก่ฆอและได้เป็นอย่างดี



        ด้วยชื่อเสียงของอาหารที่หลากหลายและโดดเด่นของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะไก่ฆอและ จึงมีการจัดงานเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2562ได้มีการจัดงานมหกรรมมรดกปัตตานี มรดกอาเซียน ประจำปี 2562 เทศกาลอาหารปลอดภัย ไก่ฆอและ ภาคใต้ อร่อยได้ไร้แอลกอฮอลล์ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 โดยจัดในระหว่าง วันที่ 27-31 สิงหาคม 2562 ซึ่งนักชิม นักช็อป นักชิลล์ไม่ควรพลาดสำหรับเรื่องราว อาหาร และประเพณีที่งดงาม ที่จังหวัดปัตตานีแห่งนี้




“ศาลเจ้าแม่ทับทิม” กับความเชื่อ ความหวัง และศรัทธา “ของคนปัตตานี

         เคยรู้สึกไหมว่าเวลาที่เราเหนื่อยล้าหรือท้อใจ กับภาระต่างๆมากมายที่ประดังเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เจอเรื่องราวมาหนักๆแล้วหาหนทางสว่างไม่เจอ มักมีที่ที่หนึ่ง ที่ที่หลายคนจะหวนคำนึงเสมอยามที่ใจต้องการพลังงาน นั่นก็คือ แหล่งพักพิงทางใจ หวังเพื่อว่าจะช่วยเป็นบุญหนุนเสริมรับสิ่งดีๆเปิดทางเห็นแสงสว่าง วันนี้ ล่องใต้ชายแดน มีหนึ่งสถานที่พักทางใจ ที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านได้เข้ามาสักการบูชา พร้อมเป็นที่พักทางใจยามอ่อนหล้าให้มีกำลัง ความหวัง พร้อมกับความเชื่อที่ว่า ทำแล้วสบายใจ เดี่ยวเรื่องดีๆก็มาเอง



       “ศาลเจ้าแม่ทับทิมปัตตานี ตั้งอยู่ที่ ถนนปรีดา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ด้วยความเชื่อที่ว่าหากใครได้มาสักการบูชาแล้วจะพบเจอแต่สิ่งดีๆ ทั้งเรื่องโชคลาภ หน้าที่การงาน ค้าขาย ยิ่งเป็นการค้าขายทางทะเลด้วยแล้วจะดียิ่งนัก
ทุกท่าน




        จุ้ยบ้วยเนี้ย หรือแปลตรงตัวได้ว่า เจ้าแม่ท้ายน้ำ หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม เจ้าแม่ทับทิม เป็นเทวนารี ที่รู้จักและนิยมบูชาเช่นเดียวกับม่าจ้อโป๋ หรือไฮตังม่า เป็นเทพเจ้าที่ได้รับความเคารพในหมู่ของชาวฮกเกี้ยน และ ชาวไหหลำ และชาวจีนโพ้นทะเล ที่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงที่เดินเรือ แน่นอนว่าปัตตานีเป็นพื้นที่ติดทะเล และมีชาวประมงที่ต้องออกไปทำงานกลางทะเลเป็นประจำ ทำให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวประมงปัตตานีเสียไม่ได้ ส่วนใหญ่คนที่มาศาลแห่งนี้มาด้วยต่างวาระ บ้างมาทำบุญวันเกิด บ้างสะเดาะเคราะห์แก้ปีชง บ้างก็มาด้วยหาหนทางสว่างทางใจ หรือในบางคราหวังโชคลาภ การงาน ให้มีความลื่นไหลเหมือนดั่งเปลวเทียนที่ส่องสว่าง
  



         หากมาเยือนปัตตานีสามารถมาสักการะเจ้าแม่ทับทิมกันได้ทุกวัน ศาลเจ้าแม่ทับทิมปัตตานี ตั้งอยู่ถนนปรีดา ต.อาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ให้เรื่องความหวัง ความศรัทธา เป็นดั่งศิลาคล้องใจทุกท่าน

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สุดเทรนด์ กับ 7จุดเช็คอินเมืองยะลา

      "ยะลา" ถือเป็นจังหวัดที่มีเรื่องราวดีๆ มีเสน่ห์ ที่น่าสัมผัส รวมถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ประเพณี วัฒนธรรม ที่น่าสนใจ หากคุณได้มาเยือนจะต้องประทับใจ และเป็นความทรงจำ ที่ดีอย่างแน่นอนซึ่งวันนี้​จะพาไปรู้จักกับ 7 สถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าตะลุย มารู้จักกับสถานที่แรก ตึกสีรุ้ง สีสันชายแดนใต้ต้องไม่พลาดกับ อาคารสีรุ้งหรือตึกสีรุ้ง ตั้งอยู่บริเวณถนนรถไฟ ด้านหน้าสถานีรถไฟยะลา เป็นจุดเด่นและสีสันแห่งใหม่ของเมืองยะลา เมื่อปี พ.ศ. 2558 เหตุการณ์ในจังหวัดยะลาเริ่มดีขึ้น จึงได้มีการฟื้นฟูเมืองยะลาให้มีสีสัน ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นไฮไลท์ของเมืองยะลาเลยทีเดียว ทั้งเป็นที่เซลฟี่ยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก 


        ไปกันต่อกับสถานที่ที่สวยงาม น่าเช็คอินที่นิยมในการถ่ายภาพหรือเชลฟี่ ไปกันที่ วงเวียนหอนาฬิกา เทศบาลนครยะลาประดับไฟ แสง สี ที่สวยงามเปลี่ยน ธีมไปในแต่ละปีบริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ซึ่งเป็น Landmark แห่งใหม่ อย่างตระการตา ชาวยะลาได้นำครอบครัว บุตรหลาน เพื่อนพ้อง และนักท่องเที่ยวออกมาสัมผัส กับบรรยากาศและเก็บภาพเป็นที่ระลึก ในยาม กลางคืน ประชาชนยังพากันถ่ายรูป เซลฟี่ เก็บไว้เป็นที่ระลึก อีกครั้งในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่และอื่นๆ เทศบาลนครยะลา ได้ประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ ให้มีความสวยงาม เพื่อสร้างสีสันให้กับเมืองยะลา ได้กลับมาสร้างบรรยากาศแห่งความสุขและรอยยิ้ม ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนยะลา



           สถานที่ยอดฮิตที่สุดในนาทีนี้ต้องยกให้ Street Art Street Art แห่งใหม่ของยะลาหรือยะลาเบิร์ดซิตี้ Street Art เป็นภาพวาดบนฝาผนังของตึก ย่านเมืองเก่าในจังหวัดยะลา Bird City Street Art หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสพศิลป์ ถิ่นบินหลา ภาพวาดผนังที่มีความประณีตและสวยงามของงานศิลปะสารพัดไอเดีย โดยนำเสนอเรื่องราวของความรักที่อบอุ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผลงานของศิลปินชื่อดัง เช่น Alex Face Mue Bon October 29 วาดบนผนังบ้านภายในชุมชน นับว่าเป็นภาพที่สร้างสีสัน ลดภาพความรุนแรง สร้างแลนด์มาร์คใหม่ให้กับเมืองยะลา สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ตะลุยถ่ายภาพ เซลฟี่ กันเพลิดเพลินใจแล้ว อย่าลืมที่จะไปชมบรรยากาศอันร่มเย็น ลมพัดเบาๆ มีดอกไม้สวยๆ ให้ชม แถมยังได้ทำบุญ 😘หากมายะลาถ้าไม่ได้มาที่นี่ถือว่ามาไม่ถึงนะครับ กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดยะลา เป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากศาลหลักเมืองยะลา เป็นสถานที่สักการะบูชา ยึดเหี่ยวทางจิตใจ ที่เคารพนับถือของชาวยะลา ที่นับถือศาสนาพุทธ และยังเป็นจุดศูนย์กลางของผังเมืองรูปใยแมงมุม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวยะลา เป็นสวนสาธารณะที่มีความร่มรื่น สวยงาม รอบศาลหลักเมืองเป็นสระน้ำ มีปลาชุกชุม นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลา อาหารเต่า หรือจะพาลูกน้อยเด็กเล็กมาเล่นรูปปั้นสัตว์ต่างๆ พร้อมเซลฟี่ภาพครอบครัวได้อย่างอบอุ่นนอกจากนี้ทางจังหวัดยะลา จะจัดงานฉลอง สมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีและเป็นอีกงานสำคัญงานหนึ่ง อิ่มอก อิ่มใจ อิ่มบุญ กันแล้ว อย่าพลาดที่จะมาชมสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม ถือเป็นสถานที่ ที่ได้รับความนิยมในการประกอบพิธีด้านศาสนา และเป็นจุดเชลฟี่ที่ได้ความนิยม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรายอ ที่มีกลุ่มคนจำนวนมากมาเซลฟี่กันที่ขั้นบันได และบริเวณต่างๆ ที่สวยงาม
       มัสยิดใหญ่ประจำจังหวัดยะลา ที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า มัสยิดเราฎอตุลยันนะห์ มัสยิดแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่สอดแทรกเส้นกรอบทรงสุเหร่าไว้ได้อย่างกลมกลืน ด้านหน้าเป็นบันไดกว้าง ส่งประมาณ 30 ขั้น ทอดสู่ลานชั้นบน หลังคามัสยิดทรงสี่เหลี่ยมมีโดม ใหญ่อยู่ตรงกลาง ภายในมัสยิดมีความสวยงาม และกลายเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนยะลาทุกคน ตะลุย เที่ยว เชลฟี่ กันอย่างสุดใจแล้วก็อย่าลืมแวะหาอาหารอร่อยๆ น้ำเย็นๆ ขนมพื้นบ้านหอมๆ กรุ่นๆ แถมยังมีมุมเชลฟี่ที่ย้อนไปในอดีต ชมวิวลงแพ สัมผัสกับนกแก้วตัวใหญ่แสนรู้ ที่สวยงาม แล้วยังได้รับชมกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นจุดเช็คอินที่ใหม่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่รอช้าไปกันเลย



          ตลาดท่าแพท่าสาป เป็นตลาดที่น่าจับตามองมากที่สุดของเมืองยะลา ด้วยรูปแบบการจัดที่เป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการแต่งชุดประจำถิ่นของพ่อค้าแม่ขาย และจัดตกแต่งสถานที่ในสไตล์ย้อนยุค และเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น จากชุมชน 3 วัฒนธรรม พุทธ จีน และมุสลิม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังคงได้พบกับภาพความทรงจำในครั้งอดีตผ่าน การถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาพวาดออกมา อย่างประณีต สวยงาม รวมถึงการได้ลิ้มชิมรสชาติอาหาร และขนมพื้นบ้านที่มีชาวบ้านนำออกมาจำหน่ายทุกวันเสาร์ อาทิ ขนมใบบัว ขนมโค ขนมปากหม้อ ขนมจาก ข้าวต้มมัด ข้าวยำ ก๋วยเตี๋ยวสูตรโบราณ น้ำสมุนไพรต่างๆ ที่ชาวบ้านทำเอง สนุกสนานกับการท่องแดนในอดีต ชิมอาหารอร่อยๆ อย่าพึ่งหลงใหลกันในยุคอดีตนะครับ เพราะเรายังต้องไปตะลุยต่อกับสถานที่ถ่ายภาพยอดนิยมที่ไม่ตกเทรนของ สะพานดำมนต์เสน่ห์แห่งเมืองยะลา กลายเป็นจุดถ่ายภาพ ยอดฮิตของชาวยะลา และนักท่องเที่ยว เพราะสะพานเหล็กสีดำแห่งนี้ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองยะลา เนื่องจากมีหลายๆ กลุ่มนิยมไปถ่ายภาพ โดยเฉพาะแสงในช่วงพระอาทิตย์กำลังตก แสงสวยมาก และภาพสะพานแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนสะพานในสมัยก่อน ที่มีความคลาสสิคเป็นแนววินเทจ ในยามเย็นแสง ของพระอาทิตย์หรือดวงตะวัน เป็นแสงธรรมชาติสีทองที่สวยที่สุด และจุดเด่น ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ อุโมงค์เรืองแสง ใต้สะพานดำยะลา ชาวยะลาและนักท่องเที่ยว มาถ่ายรูปผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นภาพในรูปแบบกราฟฟิก ทำให้เป็นสถานที่มีเสน่ห์
        สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจขนาดนี้อดใจไหวรึเปล่า หากได้มาเยือนด้วยตัวเองรับรองว่า ได้ทั้งความสุข ภาพถ่ายสวยๆ อิ่มเอมกับอาหาร ขนม แถมยังได้เข้าถึงวัฒนธรรมประเพณี คิดจะเที่ยว คิดถึงยะลา พื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ค้นพบความสุข

เที่ยวชม อุโมงค์เหมืองแร่ทองคำโต๊ะโมะ นราธิวาส

       เหมืองแร่ทองคำโต๊ะโม๊ะ อยู่บริเวณบ้านโต๊ะโม๊ะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นแหล่งแร่อยู่ในป่าดิบกลางหุบเขาชาวบ้านเรียกว่า ภูเขาโต๊ะโมะ หรือภูเขาลิซอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นหุบเขาที่หุบแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่




        ดินแดนกลางหุบเขาและป่าลึกที่เติบโตด้วยทองคำแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนเป็นเหมืองครั้งแรกใน พ.ศ.2473 โดยชาวฝั่งเศษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงยกเลิกกิจการไปก่อนเหมืองทองคำดำเนินการอย่างจริงจังใน พ.ศ.2475 เมื่อบริษัทฝรั่งเศส ชื่อ Societed’Or de litcho เข้ามาสำรวจแล้วว่า พบว่าลึกลงไปมีแร่ทองคำอยู่มาก และเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นสูงจึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี ภายในเหมืองมีการขุดเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ลึกเข้าไปตามสายแร่ มีประชากรโดยรวมประมาณ 1,000 คน แบ่งเป็นแผนกระเบิกหิน , แผนกเก็บหินใส่รถเข็น เพื่อเข็นตามรางเข้าไปในเหมือง แผนกตำหินมี 9 สาก 9 กิจการดำเนินการไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง ชาวฝรั่งเศส ต้องดินทางกลับประเทศประวัติศาสตร์แห่งเหมืองทองคำโต๊ะโมะจึงเปิดบันทึกหน้าใหม่ โดยการดำเนินการของรัฐบาลไทย แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงสงครามจึงต้องสั่งปิดเหมือง ต่อมารัฐบาลให้สัมปทานบริษัทเอกชนดำเนินการอยู่พักหนึ่งก็ได้เลิกไป เหมืองของที่เคยคึกคักก็กลายเป็นเหมืองร้าง ปัจจุบันเหมืองทองคำโต๊ะโมะได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติแล้ว




x

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ผ้าทอมือ สวย ประณีต บ้านล่องมุดเทพา สงขลา

      การทำผ้าทอมือนับวันจะเริ่มหาได้ยาก เนื่องจากมีกรรมวิธีการทอค่อนข้างที่จะประณีต หลายขั้นตอน ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อไปชมการทำผ้าทอมือของกลุ่มอาชีพทอผ้าป้าเที่ยง (ล่องมุด) ซึ่งนอกจากจะทอผ้าเองแล้ว ยังได้แปรรูปผ้าขาวม้าเป็นสินค้าสารพัดชนิด สร้างรายได้เสริมแก่กลุ่มผู้ว่างงานและผู้พิการ พร้อม!! พัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของท้องตลาด



      เมื่อมีเวลาเว้นว่างจากการกรีดยางพารา กลุ่มอาชีพทอผ้าป้าเที่ยง (ล่องมุด) หมู่ที่ 8 ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จะใช้เวลาว่างในการทอผ้าขาวม้า แล้วนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ในบ้าน เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าม่าน กระเป๋าสะพาย และทอผ้ายกดอก ซึ่งเป็นรายได้เสริมให้แก่สมาชิกในกลุ่ม เดือนละประมาณ 1,500 ถึง 4,000 บาท



     นางเที่ยง จิตมณี ผู้ริเริ่มกลุ่มทอผ้าป้าเที่ยง จัดตั้งกลุ่มครั้งแรกเริ่มมีสมาชิกกลุ่มคนพิการและคนว่างงาน โดยได้รับการสนับสนุนที่ดินจากนายกระจ่าง แก้วทอง ในการก่อสร้างโรงเรือน จากนั้นได้รับการสนับสนุนความรู้ต่างๆและงบประมาณจัดซื้อเส้นด้ายและกี่ทอผ้าจากวิทยาลัยชุมชนสงขลา ซึ่งผลปรากฏว่าผ้าทอของกลุ่มทอผ้าของป้าเที่ยงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากผ้าทอของกลุ่มมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวตรงบริเวณแถบด้านข้างที่แตกต่างจากที่อื่น นั้นคือ ริมผ้าที่มีด้วยกัน 3 สี ประกอบด้วยสีเหลือง สีม่วงและสีเขียว ซึ่งสีเหลือง หมายถึงสีประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 สีม่วงหมายถึง สีประจำพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของชาวเกษตรกรในชุมชนล่องมุด  



      รศ.ดร. อัศวิน พรหมโสภา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา บอกว่าทางวิทยาลัยชุมชนสงขลา ได้เข้ามาให้การสนับสนุนในด้านการทอผ้า โดยมีวิทยากรให้ความรู้ในเบื้องต้น ซึ่งทางกลุ่มทอผ้าก็มีพื้นฐานในระดับหนึ่งแล้ว ในส่วนที่สองได้สนับสนุนเรื่องของวิธีการต่างๆในการทอผ้า ตลอดจนอุปกรณ์ เช่น กี่ทอผ้า นอกจากนี้ยังได้นำกลุ่มทอผ้าไปศึกษาเรียนรู้ในการสร้างกี่ทอผ้าเพื่อให้สามารถสร้างกี่ทอผ้าใช้เองได้ภายในกลุ่ม อีกทั้งการสนับสนุนเส้นด้ายในการทอ และขณะนี้ได้มีการขอเครื่องหมาย มผช. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมทั้งจะมีการนำผ้าไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น และจัดแสดงแฟชั่นโชว์เพื่อแสดงให้เห็นว่าผ้าทอจากชุมชนก็สามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่สวยงามได้



     สำหรับ ผ้าขาวม้าจะตั้งราคาขายผืนละ 150-230 บาท ผ้าคลุมไหล่ 150 บาท ผ้ายกดอกสำหรับตัดเสื้อผ้า หลาละ 150 บาท กระเป๋าสะพาย เริ่มตั้งแต่ราคา 25 - 400 บาทและผ้าม่านจำหน่ายในราคา 200 บาทค่ะ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 098-6962-609 ค่ะ

เชิญเที่ยวชมงานของดีเมืองยะหริ่ง (อะโดวยะหริ่ง)


      งานของดีเมืองยะหริ่ง วันที่ 26 -28 ส.ค.2562 (3วัน 2 คืน) ณ บริเวณคลองยามู (หลังที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง) ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี




       กิจกรรมมีหลายรายการ อาทิ การแสดงอนาซิดจากตำบลต่างๆ,การแสดงของนักเรียน,การชกมวยทะเล,การแข่งขันขันเรือแคนู,การแสดงมโนราห์, การแสดงบาสโลบ,การออกร้านของดีจากทุกตำบล/อปท. ฯลฯ และยังมีการจับสลากรางวัลจำนวนมากมายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมตลอดงาน




         ส่วนวันนี้ วันที่ 27 ส.ค.2562 จะมีพิธีเปิดงาน ซึ่งจะมีขบวนแห่ของดีทางบกในเขตเทศบาลตำบลยะหริ่งจากทุกตำบล/ทุก อปท. และจะมีขบวนแห่ของดีทางน้ำในคลองยามูโดยมีขบวนเรือจากทุกตำบล/อปท.เข้าร่วมนับ 100 ลำ รวมทั้งรายการอื่นๆ อีกมากมาย อย่าลืมแวะไปเที่ยวชมกัน....อาโดวว...ยะหริ่ง Amazing