นางอัมพวัน
พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวว่า
ความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ ผ้าปะลางิง เป็นผ้าที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี
มีการใช้ในกลุ่มชาวมุสลิมชายแดนในแถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แล้วยังเป็นผ้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ความเป็นมาและศาสนา
เกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมา
ผ้าปะลางิง
เป็นผ้าหลากสี มีหลายเทคนิค อยู่ในผ้าหนึ่งผืน
ตั้งแต่เทคนิคการมัดย้อมเพื่อให้เกิดตัวลายขึ้นมาก่อน
และเทคนิคการเขียนเทียนปิดตัวลาย หลังจากนั้นก็เป็นเทคนิคล้างเอาสีที่ย้อมออก
ให้เหลือแต่สีที่ติดตัวลายไว้ หลังจากนั้น ถึงจะลงสีพื้น แล้วถึงเริ่มกระบวนการพิมพ์
พอจัดการพิมพ์เสร็จ จะเพ้นท์ เมื่อเพ้นท์เสร็จ ก็จะปิดเทียนในหัวผ้า
และใส่แสงเงาในตัวหัวผ้า ผ้าปะลางิงจึงเป็นผ้าที่มีเทคนิคการผลิตค่อนข้างมาก
ลายผ้าปะลางิง
จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลายที่ทอและมีที่มาที่ไปของลายผ้า อย่างเช่น
ลายจวนตานี ลายหัวเข็มขัดโบราณที่เป็นลวดลายที่มาจากหัวเข็มขัดโบราณที่ชาวมุสลิมชอบใส่ในสมัยโบราณ
ลายช่องลมบ้านโบราณ ลายกระเบื้องโมเสคโบราณ
วัตถุดิบที่ใช้จะเป็นไหมผสมกับใยฝ้าย
ด้วยที่ภาคใต้เลี้ยงไหมเองไม่ได้
เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสมและเอื้อให้เลี้ยงไหมได้ จึงต้องใช้กลุ่มเครือข่ายขึ้นมา
เพื่อป้อนไหมจากที่อื่นๆ มาให้ สมัยก่อน กลุ่มหม่อนไหมได้ลงไปเลี้ยงและปลูกหม่อน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ย้อมสี จะมีทั้งสีธรรมชาติ และสีเคมี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น