วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

หอดูดาวสงขลาหรือหอดูดาวสองทะเล แหล่งเรียนรู้ใหม่แห่งที่ 3 ของไทย

     เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ที่มีมาตรฐานสากลแห่งแรกของ 14 จังหวัดภาคใต้ และแห่งที่ 3 ของประเทศไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562


           ซึ่งนับว่าเป็นหอดูดาวเต็มรูปแบบ และเป็นแลนด์มาร์กการเรียนรู้ดาราศาสตร์แห่งใหม่ของภาคใต้ ที่เปิดประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์ให้กับนักเรียนนักศึกษา เยาวชน ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศได้อย่างครอบคลุม
          นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในประเทศไทย บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ เพราะฉะนั้นตำแหน่งตรงนี้สามารถสังเกตซีกฟ้าใต้ได้ดีที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งลักษณะภูมิอากาศจะแตกต่างจากที่อื่น โดยในช่วงฤดูฝนสามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี



          นอกจากนั้นหอดูดาวแห่งนี้ยังได้ชื่อว่า "หอดูดาวสองทะเล" ตั้งอยู่บนเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สามารถมองเห็นทะเลอ่าวไทย อีกทั้งฝั่งตะวันตกจะมองเห็นทะเลสาบสงขลา เราถึงเรียกกันว่า "หอดูดาวสองทะเล" ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามเหมือนยกหอดูดาวกริฟฟิธในลอสแอนเจลิสมาไว้ที่ประเทศไทย และอยากให้ทุกคนได้เข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
          หอดูดาวภูมิภาคสงขลา ไม่เป็นเพียงแต่แหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ของภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีพันธกิจในการร่วมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดเวลาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาของอิสลาม อันเป็นการสนับสนุนภารกิจของสำนักจุฬาราชมนตรีอีกด้วย



          สำหรับหอดูดาวสงขลาจะเปิดให้บริการห้องฟ้าจำลองระบบฟูลโคมดิจิทัล ในวันอังคาร-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษา 30 บาท บุคคลทั่วไป 50 บาท และทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมดูดาว (NARIT Public Night) ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย                                             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น