วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

‘กริชรามันห์’ ศาสตราภรณ์แห่งวัฒนธรรมมลายู


       ในอดีต สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คืออาณาจักรปาตานีที่สืบทอดมาจากอาณาจักรลังกาสุกะ ประชากรส่วนใหญ่มีอัตลักษณ์และดำเนินชีวิตด้วยวัฒนธรรมมลายู นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ จึงมีขนบธรรมเนียมแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ทั้งภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชื่อความศรัทธา




        ‘กริชคือหนึ่งในความเชื่อ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมุสลิมมลายู ในอดีตเคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ไม่เพียงเฉพาะชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม แต่ยังเลื่องลือไปถึงอีกหลายประเทศทางตอนใต้ เรื่องราวความเป็นมาของกริชรามันห์แม้จะยังไม่มีหลักฐานจารึกที่แน่ชัด แต่มีปรากฏทั้งในตำนาน เรื่องเล่า ศิลปะการต่อสู้และการแสดง บนความเชื่อทางศาสนาและภูมิปัญญาท้องถิ่น กริชเป็นทั้งอาวุธประจำตัว อาภรณ์ประดับกาย วัตถุมงคล ไปจนถึงเครื่องรางของขลัง ทั้งเจ้าเมือง ขุนนาง ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถมีกริชไว้ในครอบครองได้ไม่ต่ำกว่า 1 เล่ม หรือบางครอบครัวอาจมีกริชประจำตระกูลที่สืบทอดส่งต่อกันมา


       ปี 2482 หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดตั้งสภาวัฒนธรรม ออกนโยบายรัฐ 12 ประการ สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับชนชาวไทย เช่น ให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย กำหนดวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู และข้อห้ามอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นช่างทำกริชหรือบรรดาผู้ที่มีกริชไว้ในครอบครองต่างหวาดกลัวว่าจะถูกทางการไทยเพ่งเล็งด้วยข้อหาครอบครองอาวุธร้ายแรง ความนิยมการใช้กริชในฐานะอาวุธประจำกาย เครื่องประดับ และใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมตามวิถีมุสลิมจึงค่อยๆ หายไป ชาวบ้านเริ่มเก็บกริชประจำตระกูลไว้ในที่ลับ บ้างลืมเลือนกันไป บ้างขายต่อให้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่า ช่างทำกริชจำนวนไม่น้อยต้องจำใจล้มเลิกอาชีพที่ตนรัก หรือหากยังฝืนทำต่อก็ต้องทำอย่างหลบซ่อน และนำออกมาใช้ต่อเมื่อมีงานบุญใหญ่

      ในช่วงปี 2532 ตีพะลี อะตะบู ครูภูมิปัญญา ยอดฝีมือช่างทำกริช และหัวหน้าคณะวิจัยชุด การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามันห์ ตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาขณะนั้นเป็นครูสอนศาสนา ครูสอนวิชาชีพที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และทำงานรับจ้างทั่วไปโดยเฉพาะงานช่าง สมัยนั้นมีพ่อค้าชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกริชจากคนในพื้นที่จำนวนมาก นานวันเข้ากริชโบราณที่มีมาแต่เดิมก็ยิ่งหายากและร่อยหรอไป เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ วันหนึ่งกริชรามันห์อาจหลงเหลือเพียงแค่ตำนาน ครูตีพะลีจึงคิดทดลองทำกริชขึ้นใหม่ โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบและลวดลายโบราณของชาวมลายูมุสลิม

       ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายชั้นต้นจากตีพะลี ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยชาวบ้านที่ปลุกปั้นกริชรามันห์ให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่เกือบทำให้กริชรามันห์สูญหายไปจากวัฒนธรรมมลายู กระทั่งมีการฟื้นฟูจนผู้คนมองเห็นคุณค่า และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ทำวิจัยด้วยตัวเอง เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ในฐานะจิตวิญญาณ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และอาชีพ ผลลัพธ์ที่ได้คือ กระบวนการวิจัยที่เกิดขึ้นจากการร่วมคิดร่วมทำของชาวบ้านในช่วงปี 2543-2545 และสามารถผลิตเป็นผลงานเชิงวิชาการในปี 2546 โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน ทว่าสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าความสำเร็จของการทำวิจัยครั้งนี้คือ การพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรมกริชรามันห์และอาชีพช่างทำกริชที่เกือบสูญสลายไปกับกาลเวลา ให้กลับมารุ่งโรจน์และเป็นที่นิยมแพร่หลาย สามารถสืบทอดมรดกภูมิปัญญาไว้ได้ถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น