แต่เดิมเครื่องจักสานย่านลิเภามีมากในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชไม้เถาชนิดนี้
แต่มาเจริญรุ่งเรืองแถบเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาศิลปหัตถกรรมนี้ได้แพร่หลายเข้ามาถึงกรุงเทพฯ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีการตกแต่งกระเป๋าหมากย่านลิเภาด้วยโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน
และงาช้าง หลังจากนั้นความนิยมเครื่องใช้ย่านลิเภาจึงได้ค่อย ๆ ลดลง
จนความรู้เกี่ยวกับงานจักสานย่านลิเภาเกือบจะสูญหายไป
เมื่อปี พ.ศ.2517
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จฯ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
ที่จังหวัดนราธิวาส โดยพระองค์ได้พระราชทานโครงการศิลปาชีพจักสานย่านลิเภาขึ้น
ว่าที่ร้อยตรี จิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ
เล่าให้ฟังว่าเนื่องจากพื้นที่บาเจาะ เป็นพื้นที่พรุ มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี
ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้พื้นที่ทำมาหากินได้ และมีฐานะยากจนมาก
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
จึงได้พระราชทานโครงการศิลปาชีพ ด้านการจักสานย่านลิเภา เพื่อให้ประชาชนมีรายได้
โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ โดยอำเภอบาเจาะมีสมาชิกศิลปาชีพย่านลิเภามากที่สุดของจังหวัดนราธิวาสคือมีสมาชิกประมาณ
6 พันคน
ด้านนางพารีด๊ะ มะวิง ครูศิลปาชีพ แผนกย่านลิเภา บอกกับทีมงานของเราว่า
จากเดิมเป็นสมาชิกส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดได้รับรางวัล และได้เริ่มเป็นครูศิลปาชีพ
มาตั้งแต่ปี 2540 เมื่อปี 2539 พระองค์ทรงรับสั่ง ให้ทำแบบสี่เหลี่ยม แบบขึ้นกลม
และดอกพระยาครุฑ ตอนนี้ต้องทำหวายเล็ก เส้นเล็ก ถ้าไม่มีลายก็ได้ แบบมีลายก็ได้
เพียงแต่ต้องหวายเล็กอย่างเดียว เส้นก็ต้องเล็ก คุณพารีด๊ะ
เล่าให้ฟังถึงรับสั่งของพระองค์ในครั้งนั้น
นายมะรอพี แดเนาะ ครูศิลปาชีพ แผนกย่านลิเภาอีกท่านหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์สอนมากว่า
25 ปี แล้วบอกว่า เมื่อปี 2527 ได้เข้าเฝ้าฯ ที่บ้านคลอแระ
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนจักสานย่านลิเภาที่สวนจิตรลดา
ก่อนมาทำหน้าที่ครูศิลปาชีพ
“...รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าโครงการศิลปาชีพ
เพราะว่าสมเด็จฯ ท่านก็เลี้ยงทั้งครอบครัวของผม
ตั้งแต่เป็นครูของโครงการจนได้ส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี...”คุณมะรอพี พูดอย่างภาคภูมิใจ
นายอำเภอบาเจาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
สืบสานงานตามแนวพระราชดำริ ทางอำเภอบาเจาะ
ซึ่งเป็นอำเภอเดียวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ได้จัดทำแปลงอนุรักษ์ย่านลิเภาบนพื้นที่สาธารณะบ้านคลอแระ จำนวน 30 ไร่ ส่วนในในระยะยาวทำอย่างไร ให้อาชีพนี้อยู่คู่กับคนบาเจาะ
ก็ได้เตรียมขยายพื้นที่การทำแปลงอนุรักษ์ ไว้แล้วประมาณ 900 ไร่
ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ
รวมถึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น