วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เก็บแล้ว “เมล่อน” หนุ่มตาชียะหา คาดสร้างรายได้ ล็อตแรกไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท


คนรุ่นใหม่ หนุ่มตาชีผู้จุดประกายความคิดหันมาปลูกเมล่อนในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ทยอยตัดผลเมล่อนสุก ส่งลูกค้าแล้ว คาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท แนะปลูกเมล่อนความเสี่ยงสูง ผู้ปลูกรายใหม่ ควรศึกษาและปลูกในปริมาณที่ดูแลได้ทั่วถึง

วันที่ (7 ส.ค. 60) ที่ฟาร์มปลูกเมล่อน "ว่องปิติธวัฒน์" หมู่ที่ 1 ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา หนุ่มตาชี เจ้าของฟาร์มเมล่อน ได้ทยอยตัดผลเมล่อน ซึ่งสุก เพื่อนำบรรจุลงกล่องส่งให้กับลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดยะลา และต่างจังหวัดที่สั่งซื้อผลเมล่อนทั้งจากทางออนไลน์ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อำเภอยะหาและพื้นที่ใกล้เคียง หลังเมล่อน 6 สายพันธุ์ คือ คิโมจิ , ซูบาริคิง , เอกะ , ซูเอโต้ , เอิทธ์เม้าฮาเกะ และฮาเกะ F1 ที่ปลูกไว้ กว่า 3 เดือน ได้ทยอยสุก ซึ่งขณะนี้ได้ตัดผลผลิตไปแล้ว กว่า 15 เปอร์เซ็นต์ และยังเหลือบางสายพันธุ์ที่กำลังรอผลผลิตสุก โดยแต่ละลูกแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน เฉลี่ยแล้ว ประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมกว่า ขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท



นายพิพัฒน์ ว่องปิติธวัฒน์ (ปอนด์) หนุ่มชาวตำบลตาชี กล่าวว่า หลังจากตนเองได้หันมาปลูกเมล่อน เมื่อ 3 เดือนก่อน ช่วงนี้ก็ครบ 90 วันแล้ว เมล่อนที่ปลูกไว้หลายสายพันธุ์ก็เริ่มทยอยสุก ส่วนบางสายพันธุ์ก็เกิดความเสียหาย ที่จะต้องตัดทิ้ง เนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้วฝนได้ตกลงมาในปริมาณมาก ทำให้ความชื้นสูง แสงแดดไม่ค่อยมี และเกิดโรคโคนช้ำ รากเน่า ราแป้ง ราน้ำค้าง กับผลเมล่อน ถึงแม้ว่าจะพยายามดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว บางสายพันธุ์ไม่ทนกับสภาพอากาศในพื้นที่ก็ต้องยอมตัดทิ้งเมล่อนที่เสียหายทั้งหมด ถ้าคิดเฉลี่ยจาก 100 เปอร์เซ็นต์ เมล่อนได้รับความเสียหายถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังรับได้ ช่วงนี้ ประชาชนก็ยังจองเมล่อนกันมาจำนวนมาก ทั้งทางออนไลน์ เพื่อนๆ ในหมู่บ้าน กรุงเทพฯ ส่วนราชการ อาจารย์ รัฐวิสาหกิจ ถ้าหักค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ในขั้นต่ำรายได้ก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท โดยแต่ละลูกจะมีน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมกว่า ขายกิโลกรัมละ 150 บาท ตกลูกละ 250-300 กว่าบาท

หลังจากที่ผลเมล่อนทุกสายพันธุ์สุกหมด และสามารถส่งให้กับลูกค้าที่สั่งจองมาได้แล้ว ก็คิดว่าจะปลูกอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ก็จะต้องเคลียร์ซากเมล่อนเดิมออกก่อน เพราะอาจจะมีเชื้อปะปนอยู่ โดยจะลดปริมาณปลูกให้น้อยลงก่อน เนื่องจากต้องดูสภาพภูมิอากาศด้วย ถ้าหน้าฝนตกมาก การปลูกเมล่อนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ถ้าปลูกมากแน่นเกินไปก็จะดูแลยาก



การสังเกตเมล่อนที่สุก พร้อมที่จะตัดนั้น สามารถสังเกตได้จากการนับวันแต่ละสายพันธุ์ หลังจากผสมเกสรไปแล้ว 55 วัน ใบและขั้วจะเริ่มเหี่ยว ใบเหลือง ลายขึ้นที่ก้าน และที่ก้นจะมีรอยหยัก ลายเต็ม ก็สามารถตัดได้เลย ส่วนการตัดผลเมล่อนก็จะต้องเหลือก้านที่เป็นตัวทีไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของเมล่อน สำหรับรสชาติของเมล่อนแต่ละสายพันธุ์ก็จะไม่เหมือนกัน เช่น พันธุ์เอิทธ์เม้าฮาเกะ เนื้อจะเขียว เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำ หอม บางสายพันธุ์ก็จะมีสีส้ม นุ่ม กรอบ หวาน หอม แล้วแต่คนชอบ

หนุ่มชาวตำบลตาชี ยังกล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่สนใจจะปลูกเมล่อน นั้น จากการที่ตนเองปลูกและได้รับประสบการณ์มา ความเสี่ยงของการปลูกเมล่อนจะสูง เนื่องจากสภาพอากาศบ้านเรา ฝนแปดแดดสี่ การป้องกันจะสำคัญที่สุด ถ้าจะปลูกก็ควรจะทดลองปลูกในปริมาณไม่มากก่อน จะได้เรียนรู้เมล่อนไปด้วยว่า เค้าชอบอากาศแบบไหน ดูแลแบบไหน ถ้าปลูกจำนวนมาก 200-400 ต้น การดูแลไม่ทั่วถึง ก็จะทำให้เกิดผลกระทบ ทั้งโรค ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา การลงทุนปลูกเมล่อนจะสูง ทั้งปุ๋ย ทั้งเมล็ดพันธุ์ วัสดุต่างๆ ไม่ต้องรีบร้อน ถ้าพร้อมก็สามารถทำเป็นโรงเรือนใหญ่ได้เลย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น