วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านไทย “กลองยาว” สร้างความสามัคคีชาวยะลา


วัฒนธรรมยะลา อนุรักษ์ฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านดั้งเดิม จัดประกวดกลองยาว งานถนนสายวัฒนธรรม “วิถีถิ่น วิถีไทย รวมใจชาวนิบง” เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชน
ที่สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ได้จัดการประกวดกลองยาวพื้นบ้าน งานถนนสายวัฒนธรรม “วิถีถิ่น วิถีไทย รวมใจชาวนิบง” ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมในงานมหกรรมผลไม้และของดีเมืองยะลา 60 โดยมี 6 ทีม จากคณะกลองยาว อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอกาบัง อำเภอธารโต และอำเภอเบตง เข้าร่วมการแข่งขัน


ขณะที่บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก คณะกลองยาวแต่ละทีมต่างขนทีมกลองยาวและทีมนางรำ ตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่เข้าร่วมแข่งขันประชันการรำ การตีกลองยาว ด้วยความพร้อมเพรียง สามัคคีในหมู่คณะกันอย่างสุดฝีมือ โดยใช้ระยะเวลาการแสดงทีมละ 10-15 นาที พร้อมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดไทยที่มีสีสันที่สวยงาม ซึ่งแต่ละทีมช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับทั้งผู้เล่น ผู้ชม กองเชียร์ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคณะกลองยาวจากอำเภอยะหา ซึ่งนางรำเป็นเด็กๆ ถึงแม้จะใช้เวลาฝึกซ้อมเพียง 2 วัน ก่อนเข้าแข่งขัน ด้วยท่าทางการรำที่น่ารัก ก็สามารถสร้างความประทับใจ ความสนุกสนาน และเสียงหัวเราะให้กับคณะกรรมการ กองเชียร์ และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง


ส่วนเกณฑ์การตัดสินนั้น จะมีคณะกรรมการ จำนวน 5 คน เป็นผู้ให้คะแนน โดยพิจารณาจากการให้จังหวะความเร้าใจ ลีลาท่าทาง การแต่งกาย ความพร้อมเพรียง ความคิดสร้างสรรค์ และความต่อเนื่องของการแสดง

โดยทีมที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดกลองยาวไปได้ เป็นคณะกลองยาวจากบ้านคอกช้าง อำเภอธารโต ได้รับเงินรางวัล จำนวน 8,000 บาท พร้อมโล่ รองชนะเลิศ อันดับ 1 เป็นทีมจากบ้านบาละ อำเภอกาบัง ได้รับเงินรางวัล จำนวน 6,000 บาท พร้อม โล่ และรองชนะเลิศ อันดับ 2 เป็นทีมจากท่าธง อำเภอรามัน ได้รับเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท พร้อมโล่ ส่วนทีมจากบ้านดอนอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง สะเตงนอก อำเภอเมือง และเทศบาลอำเภอยะหา ได้รับรางวัลชมเชย พร้อมเงินรางวัล ทีมละ 4,000 บาท





นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดประกวดกลองยาวพื้นบ้าน จัดขึ้นโดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมศิลปะ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงกลองยาว ซึ่งในจังหวัดยะลา ทุกอำเภอ ก็จะมีอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชน โดยผ่านทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านกลองยาว และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทุกคนสามารถแสดงออก สร้างความสุข หลังเสร็จสิ้นภารกิจกันแล้ว นอกจากนี้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัด กรมส่งเสริม ก็ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้าน จึงได้ฟื้นฟูการแสดงกลองยาวจังหวัดยะลา ขึ้นมา




ขณะที่ประชาชนซึ่งมาร่วมชมการประกวดกลองยาว กล่าวว่า ดีใจมากที่มีกิจกรรมเช่นนี้ อยากให้มีการจัดไปตลอด เพื่อให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านไว้ไม่ให้สูญหาย และจะช่วยทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี อีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น