“อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี” แหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น “ตัวเรือกอและ-รังผึ้ง”
สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสังคมพหุวัฒนธรรม
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี
อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อย่างเป็นทางการ
โดยหวังให้เป็นศูนย์กลางของเยาวชนในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง
เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
การแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์และเป็นแหล่งเรียนรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรม
สร้างโอกาสให้เยาวชนทุกกลุ่มในพื้นที่ได้แสดงออก
แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
เป็นการสร้างความสมานฉันท์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในพื้นที่
ตอบโจทย์ปัญหาในการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้กลับมาศึกษาในบ้านเกิด
พร้อมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคม
นายราเมศ พรหมเย็น
ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร. หรือ TK park) กล่าวต่อสื่อมวลชนในพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีอำเภอเมือง
จังหวัดปัตตานีอย่างเป็นทางการว่า การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเกิดขึ้น
เพราะสถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำให้เด็กขาดโอกาสอย่างมากในเรื่องการอ่านและการเรียนรู้
ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็ก
เยาวชน และประชาชนทั่วไประหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และให้เกิดความเท่าเทียม
ตลอดจนเพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่
และมุ่งเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อให้แหล่งเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นเกิดความยั่งยืน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เทศบาลเมืองปัตตานี
และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค)
จึงได้ร่วมมือกันในการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
เป็นต้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต”
สำหรับส่งเสริม
สนับสนุนให้เกิดนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่เด็ก เยาวชน
และประชาชนทั่วไปในจังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง โดย ศอ.บต.
เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านงบประมาณของการจัดสร้าง
และเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นหน่วยงานหลักในการอนุเคราะห์พื้นที่สำหรับการจัดตั้งและรับผิดชอบดำเนินการให้บริการอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีหลังจากที่ได้มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
สำหรับในส่วนของ สอร. เป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต
โดยส่งเสริมและสนับสนุนด้านหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ด้านกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้เชิงสาธิต
และด้านอื่นๆ
รวมทั้งเข้ามาช่วยในการวางระบบการบริหารจัดการอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี
เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี
กล่าวถึงรายละเอียดและจุดเด่นของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีว่า
อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีตั้งอยู่ที่ถนนปัตตานีภิรมย์
บริเวณโรงภาพยนตร์ปัตตานีรามาเดิม ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ลักษณะอาคารคล้ายกับรูปรังผึ้งและตัวเรือกอและ อันหมายถึงการอยู่ร่วมกัน
เป็นการออกแบบเพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นโดยมีจุดเด่นอยู่ที่
ตัวอาคารที่มีความสูง 2 ชั้น
การตกแต่งภายในเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและประเพณีของจังหวัดปัตตานี
โดยมีพื้นที่ให้บริการทั้งสิ้น 6,476 ตร.ม.
ซึ่งถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์คที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มีการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติเข้ากับอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ ชั้น
8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสื่อสาระท้องถิ่นของปัตตานี
ที่จะนำมาให้บริการเป็นการเฉพาะในอุทยานการเรียนรู้ โดยมีหนังสือนิทานท้องถิ่นสำหรับเด็กอายุ
7-9 ปี ได้แก่เรื่อง “ใครผิด” และ “แหวนไข่นก” และหนังสือสาระท้องถิ่นสำหรับเด็ก อายุ
10-12 ปี เรื่อง “บ้านฉันบ้านเธอ” (ปัตตานี
กีตอ) ที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับความสนใจของแต่ละช่วงวัย
โดยการจัดทำหนังสือนิทานชุดดังกล่าว ได้ทำงานร่วมกันกับบุคลากรภายในท้องถิ่น
ทั้งการเรียบเรียง การเขียนเรื่อง และการวาดภาพประกอบ นอกจากนั้นได้มีการจัดทำขึ้น
3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และมลายูกลาง มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้
ความเข้าใจของคนในชุมชนที่มีรูปแบบของพหุวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของทุกกลุ่มชาติพันธุ์
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
กล่าวเสริมว่า
การเกิดขึ้นของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะกลายเป็นศูนย์กลางของเยาวชนในปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง
ตอบโจทย์ปัญหาในการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้กลับมาศึกษาในบ้านเกิด
มุ่งเน้นให้เยาวชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดในความมีอัตลักษณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของท้องถิ่น
ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนในพื้นที่และประชาชนทั่วไปในจังหวัดปัตตานีให้ดีขึ้น
อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาอีกแห่งหนึ่งที่เชื่อมโยงชุมชนและสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม
ตลอดจนเป็นพื้นที่สมานฉันท์ ปรองดอง และการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข
...............................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น