วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ชาวสวนรุ่นใหม่ จ.ยะลา นำศาสตร์พระราชา "เกษตรทฤษฎีใหม่" ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ฟื้นฟูปลูก "ส้มโชกุนเบตง" เป็นส้มอินทรีย์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค


ชาวสวนรุ่นใหม่จังหวัดยะลา นำศาสตร์พระราชา "เกษตรทฤษฎีใหม่" ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ฟื้นฟูปลูก "ส้มโชกุนเบตง" เป็นส้มอินทรีย์ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

วันที่ (15 ส.ค. 60) เกษตรกรชาวสวนส้มโชกุนรุ่นใหม่ กลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้พลิกฟื้นพื้นที่จำนวนกว่า 20 ไร่ ปลูกส้มโชกุนกว่า 1,500 ต้น พร้อมทั้งนำนวัตกรรมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ พัฒนาต่อยอด ลดการใช้สารเคมี หวังอนุรักษ์ส้มโชกุนเบตงแท้ ซึ่งเป็นผลไม้ประจำถิ่น ให้เป็นส้มอินทรีย์อาหารปลอดภัย กระตุ้นราคาส้มโชกุนให้สูงขึ้น หลังที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกส้มโชกุนประสบปัญหาส้มโชกุนราคาตกต่ำ จนทำให้มีการปลูกลดลง ส่งผลให้ผลผลิตส้มโชกุนไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค


นายสมชาย เชี่ยวชาญศิลป์ เจ้าของสวนส้มโชกุน "สวนดาวทอง"/ประธานกลุ่มยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กล่าวว่า สำหรับส้มโชกุนเบตง เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เป็นผลไม้ของอำเภอเบตง ที่ขึ้นชื่อมาตั้งแต่สมัยอดีต ด้วยสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ทำให้สามารถผลิตส้มโชกุน ที่มีรสชาติ หวานอมเปรี้ยว กลมกล่อม ชานนิ่ม กลิ่นหอม เนื้ออร่อย ได้ หากย้อนไปในอดีตเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เกษตรกรที่ปลูกส้มโชกุนเบตง ต้องประสบปัญหาส้มโชกุนราคาตกต่ำ เนื่องจากการปลูกตามๆ กันไป มีกว่า 4,000 ไร่ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณมาก ราคาส้มก็เลยตกต่ำ ขณะเดียวกันต้นทุนในการปลูกที่สูง และจะต้องใส่ใจ ดูแลรักษา เป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรลดปริมาณปลูกลง และหันไปปลูกไม้ผลอื่นแทน จนปัจจุบันเหลือไม่ถึงพันไร่

ตนเองจึงมีแนวคิดในการพลิกฟื้นพื้นที่ที่มีอยู่จำนวนกว่า 20 ไร่ มาปลูกส้มโชกุน โดยนำศาสตร์พระราชา "เศรษฐกิจพอเพียง" และการทำ "เกษตรทฤษฎีใหม่" เข้ามาใช้ พร้อมกับนำนวัตกรรม การใช้จุลินทรีย์ สารชีวภัณฑ์มาใช้ในการปลูก และดูแลสวนส้ม เพื่อพัฒนาต่อยอดผลผลิต ลดการใช้สารเคมี และทำให้ส้มโชกุนเบตง เป็นส้มอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัย



ขณะนี้ก็มีการรวมกลุ่มของผู้ปลูกส้มโชกุน เป็นวิสาหกิจ เป็นกลุ่มส้มโชกุนเบตง เพื่อร่วมกันพัฒนายกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้ง หันมาทำสวนส้ม GAP เพื่อให้ผลผลิตมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่ต้องกลัวสารเคมีตกค้าง โดยปกติส้มโชกุน เมื่อปลูกไปได้ 3 ปี ก็จะให้ผลผลิตไปโดยตลอด ถ้าดูแลบำรุงรักษาอย่างดีก็จะมีอายุถึง 20 ปี ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรรุ่นใหม่ได้มีการบริหารจัดการ โดยการวางแผนการปลูก การกำหนดผลผลิตล่วงหน้าเพื่อให้ได้ผลผลิตออกตามช่วงเทศกาลที่จะขายได้ราคาดี

ขณะที่นางสาวอาภาภรณ์ รัตนพิบูลย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้ส่งเสริมการปลูกส้มโชกุนมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกส้มโชกุนให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ส้มโชกุนลดน้อยลงจากพื้นที่อำเภอเบตง และให้ส้มโชกุน เป็นพืช GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอำเภอเบตงต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น