วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

โรงไฟฟ้า 4 แห่ง “ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1,2,5-ปัตตานี กรีน” กำลังการผลิตเสนอขายรวมไม่เกิน 45 MW






บอร์ด TPCH แจกข่าวดี เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1,2,5-ปัตตานี กรีน" กำลังการผลิตเสนอขายรวมไม่เกิน 45 MW ด้านผู้บริหารหญิงคนเก่ง "กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี" เผยว่าจ้าง TPOLY เป็นผู้ก่อสร้าง ด้วยงบลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้ บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1จำกัด (ทีพีซีเอช 1) บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จำกัด (ทีพีซีเอช 2) บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จำกัด (ทีพีซีเอช 5) และบริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด (ปัตตานี กรีน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) โดยอนุมัติว่าจ้าง บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY) เป็นผู้ก่อสร้างทั้ง 4 โครงการ
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการโดยบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จำกัด (ทีพีซีเอช 1) จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ภายใต้งบประมาณรวมจำนวน 800 ล้านบาท ,บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จำกัด (ทีพีซีเอช 2) จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ภายใต้งบประมาณรวมจำนวน 788 ล้านบาท ,บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จำกัด (ทีพีซีเอช 5)จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 6.3 เมกะวัตต์ ภายใต้งบประมาณรวมจำนวน 648 ล้านบาท และบริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล SPP ตั้งอยู่ที่ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กำลังการผลิตเสนอขายไม่เกิน 21 เมกะวัตต์ ภายใต้งบประมาณรวมจำนวน 1,721 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ และอะไหล่

"ทีพีซีเอช 1 จะเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 667.15 ล้านบาท ,ทีพีซีเอช 2 จำนวน 654.32 ล้านบาท ,ทีพีซีเอช 5 จำนวน 520.30 ล้านบาท และปัตตานี กรีน จำนวน 1,331 ล้านบาท ส่วนเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทย่อยหรือมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินงานของบริษัท" นางกนกทิพย์ กล่าว

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า ทีพีซีเอช 1,2 และ 5 บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 65% โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ Feed-in-Tariff พ.ศ. 2559 โดยมีอายุสัญญา 20 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT Premium) ในอัตรา 0.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 8 ปีนับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา (SCOD) ในวันที่ 31 ธัยวาคม 2561

ส่วนโครงการปัตตานี กรีน บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 65% จะจำหน่ายไฟฟ้า ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญา 5 ปีและต่อเนื่องและจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 1.30 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา ในวันที่ 1 มีนาคม 2562


..................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น