วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ม.อ.ปัตตานีดึงบุคลากรและนักศึกษาหอพักเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวพึ่งพาตนเอง


นางเครือมาส แก้วทอน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า โครงการสวนผักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จุดเริ่มต้นเกิดจากนโยบายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้มอบหมายให้แต่ละวิทยาเขตได้ดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีการพัฒนาตนเอง และถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งเรียนรู้พื้นฐานในการทำเศรษฐกิจพอเพียง โดยวิทยาเขตปัตตานี นำโดย ดร.บดินทร์ แวลาเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดโครงการฯ ดังกล่าว โดยใช้พื้นที่ว่างที่มีของวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกหอพักนักศึกษา 1 ถึง 12 ในการดำเนินการมีการมอบหมายให้ผู้ปกครองหอพักเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ร่วมกับนักศึกษาประจำหอพัก โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้นำหรือคณะกรรมการประจำหอพัก และกลุ่มนักศึกษาที่สนใจโครงการฯ


ด้านนางสุดใจ ชุดเทพ ผู้ปกครองหอพัก 10 ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงการดำเนินการโครงการสวนผักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า ภายหลังจากที่ได้รับนโยบายในการจัดโครงการดังกล่าวแล้ว หอพักได้ดำเนินการศึกษาหลักเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของหลักปรัชญา วิธีการดำเนินการ และขั้นตอนให้เข้าใจก่อน จากนั้นมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ผู้ปกครองหอพัก คณะกรรมการหอพัก คนสวน และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 20-30 คนต่อหอพัก โดยเลือกสถานที่ที่ว่างเปล่าบริเวณหอพักนั้น ๆ และดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ผลผลิตเป็นผักสวนครัวมา โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ นำมาประทาน และจำหน่าย นำรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเป็นกองกลางเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการของหอพักต่อไป


ทั้งนี้โครงการสวนผักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ 3 ห่วง คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ ได้แก่ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรม ได้แก่ ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และแบ่งปัน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นปรัชญาที่สามารถชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ เพื่อนำไปสู่ความพอเพียง และสามารถอยู่ได้อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปรับตัวและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น