วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

เปิดตำนานความอร่อยกับน้ำแข็งไสยายเฉื่อยที่สุไหงโกลก

         ในช่วงค่ำคืนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เป็นช่วงเวลาของการปิดบ้านเข้านอนเหมือนที่คนจากต่างพื้นที่เข้าใจกัน​ เพราะบ่อยครั้งก็เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่จะได้ออกมาตระเวนหาของกินรสอร่อยซึ่งเปิดขายเฉพาะในยามค่ำคืนเท่านั้นหนึ่งในนั้นคือ ร้านน้ำแข็งไสป้าปุ๊ (นิทราภรณ์ แซ่ลิ่ม) หรือที่ คนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก มักเรียกว่า​ ร้านน้ำแข็งใสยายเฉื่อย ซึ่งมีที่มาว่าต้องรอคิวกันนานนับชั่วโมงกว่าจะได้ลิ้มรสความอร่อยของน้ำแข็งไส ร้านนี้ขยายความนิดนึงที่ต้องรอนาน เพราะแต่ละคนสั่งกันคราวละ 5-10 ถุง และบ่อยครั้งที่อาจจะมากถึง 20 ถุงเพื่อไปแช่ช่องฟรีซไว้ทยอยกินในวันอื่นๆ ด้วยจึงทำให้ต้องรอคิวนาน" ทั้งที่จริงๆแล้วป้าปุ๊ในวัย กว่า 60 ปีใช้ความเร็วเต็มสปีดในการทำอย่างเต็มที่แล้ว



         จุดเด่นของน้ำแข็งไสป้าปุ๊ คือ ความใส่ใจในการทำน้ำแข็งไสแต่ละถ้วยแต่ละถุงอย่างใส่ใจ ตั้งแต่การเลือกเครื่องของน้ำแข็งไส ซึ่งหลักๆ จะมีลูกชิด เม็ดแมงลัก มันเชื่อม ขนมปัง วุ้นและหากถั่วไม่ขาดตลาดเหมือนคืนนี้ ก็จะมีถั่วต้มเม็ดโตๆให้ด้วย หลังจากใส่เครื่องทั้งหมดลงถ้วยก็จะตามด้วยน้ำแข็งไสที่ขูดจนได้น้ำแข็งเนื้อละเอียดที่ป้าปุ๊กดและอัดให้แน่นถ้วย ราดด้วยน้ำเชื่อม หัวกระทิ และนมสด ลองหลับตาก่อนตักคำแรกมากิน จะเข้าถึงรสสัมผัสที่ทำให้ดื่มด่ำกับความเข้มข้นหวานมันของกะทิ น้ำเชื่อม และนมสดที่ลงตัวที่สุด ซึ่งลูกค้าประจำของร้านนี้มีตั้งแต่เด็กประถม จนถึงผู้สูงวัยที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "ร้านนี้คือเทพของน้ำแข็งไส ที่อร่อยที่สุดร้านหนึ่งของประเทศไทย"



        ช่วงเวลาของความฟินในการกินน้ำแข็งไสร้านนี้ คือ เวลาตั้งแต่ 1 ทุ่มไปจนกว่าของจะหมดบางคืนก็จนกระทั่งล่วงเลยเที่ยงคืนไปแล้ว มากกว่า​ 30​ ปีของความเป็นตำนานความอร่อยที่อยู่คู่เมืองสุไหงโก-ลก ด้วยรสชาติความอร่อยแบบดั้งเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา "การตัดสินใจมากินที่ร้านนี้ ความอยากกินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความอดทนสูงมาก เพราะป้าปุ๊จะพิถีพิถันในการทำน้ำแข็งใสแต่ละถ้วยด้วยความใส่ใจ ทุกถ้วยจึงอร่อยได้มาตรฐานเดียวกัน ภาพที่เห็นจนชินตาในยามค่ำคืนคือมีคนกลุ่มหนึ่งนั่งรอกินน้ำแข็งไสพร้อมพูดคุยกันแบบสบายๆ ในขณะที่กลุ่มหนึ่งห้อมล้อมป้าปุ๊อยู่หน้าร้านเพิงไม้เก่าแก่ โดยยึดคติ "นานแค่ไหนก็จะรอ" ร้านนี้ขายน้ำแข็งไส และเครื่องดื่ม คือน้ำลำไยและน้ำพุทธา ซึ่งความอร่อยที่เราเชิญชวนทุกคนมาพิสูจน์กันอยู่นี้สนนราคาเพียงชุดละ 10 บาททุกเมนู




งานเทศกาลกินเจเชื่อมสัมพันธ์ไทย-มาเลย์ ประจำปี 2562

        งานเทศกาลกินเจที่อำเภอเบตง​ จังหวัดยะลา​ บรรยากาศตอนนี้กำลังคึกคัก​ เนื่องจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซียพร้อมใจกันใส่ชุดขาว เข้าวัดโพธิสัตโตเจ้าแม่กวนอิมเบตง ร่วมพิธียกเสาเต็งโกเพื่อเป็นการเริ่มพิธีถือศีลกินเจ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28​ ก.ย.-7 ตุลาคม 2562 นี้



          โดยที่วัดโพธิสัตโตเจ้าแม่กวนอิมเบตง หรือวัดกวนอิม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานจุดธูปใหญ่และขึ้นเสาโกเต็ง เป็นการเปิดงานเทศกาลกินเจ ไทย-มาเลย์ ร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประจำปี2562 ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งในพิธีมีขบวนแห่สิงโต มังกร ม้าทรงใช้มีด เหล็กแหลม อาวุธในตำนาน แทงทะลุอวัยวะต่างๆของร่างทรง ทำพิธีเชิญองค์เทพ เชิญไฟศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่างๆ โดยมีนายสาโรช กาญจนพงศ์ ปลัดจังหวัดยะลา พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง นายสกุล เล็งลัคน์กุล ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นจีน หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า สมาคม ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้าร่วม



          นายสกุล เล็งลัคน์กุล ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นจีน บอกกับทีมงานของเราว่าเทศกาลกินเจปีนี้ อำเภอเบตงได้ร่วมกับสำนักวัฒนธรรมจังหวัดยะลาและวัดโพธิสัตโตเจ้าแม่กวนอิมเบตง จัดงานเทศกาลกินเจ ไทย-มาเลย์ ร่วมสืบสานวัฒนธรรม ขึ้นระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2562 และจะมีการแห่พระไปรอบเมืองเบตง ในวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งเป็นประเพณีถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ด้วยความศรัทธา ยึดมั่นในศีล 5 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นการอนุรักษ์สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้ให้คนรุ่นหลัง อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความสามัคคี ของชาวเบตงและเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียด้วย



            นอกจากที่วัดโพธิสัตโตเจ้าแม่กวนอิมเบตงจะจัดงานเทศกาลกินเจเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-มาเลย์ แล้ว ตามศาลเจ้าต่างๆในพื้นที่ก็มีการจัดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวร่วมถือศีลกินเจเช่นกัน นอกจาดนี้ร้านอาหารหลายร้านก็ได้ปรับเปลี่ยนมาขายอาหารเจในช่วงนี้อีกด้วย

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562

พาชิม “ข้าวผัดปู” จานอลังการเครื่องแน่นๆ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

         ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เป็นหนึ่งจังหวัดฝั่งอ่าวไทยที่มีทะเลสวยงามมากๆ มาทะเล ปัตตานี เมื่อไหร่ก็จะได้สัมผัสความงดงามของท้องทะเล เรือกอและ ป่าโกงกาง และผู้คนหลากวัฒนธรรม และถ้าหากมา ปัตตานี เราก็ต้องนึกถึงเมนูอร่อยๆที่ปรุงจากอาหารทะเลสดๆจากพื้นที่นี้อีกด้วย ขอนำเสนอเมนูที่อาจะดูแล้วธรรมด๊า...ธรรมดา อย่างข้าวผัดปู ที่หลายคนมีความรู้สึกอยากทานทุกครั้งที่มาทะเล แต่ขอบอกว่าร้านที่พามาวันนี้ ข้าวผัดปู ของพี่เขาไม่ธรรมดาอย่างที่ใครเคยเจอมาก่อนแน่นอน เพราะเขายกปูทะเลสดๆจากท้องทะเลปัตตานี มาเสิร์ฟแบบเครื่องแน่นๆ ..จุ๊..จุ๊..พูดมากไม่ได้แล้วมารู้จักกับ ร้านพี่อูมดีลีฟดาคอร์เนอร์ กันเลย



         ข้าวผัดปู ร้านพี่อูม ดีลีฟดาคอร์เนอร์ ตั้งอยู่ถนนหน้าวังยะหริ่ง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เจ้าของร้าน คือ พี่อูม เซเล็ปดังทายาทเจ้าเมืองวังยะหริ่ง จ.ปัตตานี ร้านพี่อูมมีอาหารหลากหลายเมนูให้ได้ลิ้มลองโดยเฉพาะเมนูอาหารทะเลสดๆ ที่บอกได้เลยว่าสดใหม่ทุกวันจากทะเลใกล้บ้าน อาหารขึ้นชื่อที่โด่งดังนั้นคือ ข้าวผัดปู จานอลังการเครื่องแน่นแบเน้นๆ ที่เห็นแล้วต้องอึ้ง!! เนื้อปู,ไข่ปู,ไข่ปลาหมึก,และไข่กุ้งอัดแน่นเต็มจาน ทุกคนที่ได้มาชิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยคะว่า “...เด็ดมาก อิ่มมาก และอร่อยมาก...พี่อูม เจ้าของร้าน เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเปิดร้านว่า “…พี่อูมเปิดร้านมากว่า 17 ปี เมื่อก่อนตอนเปิดร้านแรกๆ ขายน้ำปั่น และไอศกรีม 



         ลูกค้าที่เข้ามาทานก็มีเสียงเรียกร้องให้เปิดขายอาหารที่ร้านด้วย เพราะที่ร้านมีพื้นที่กว้างและมีทำเลดี พี่อูมเลยกลับมาคิดว่า จะขายอะไรดี?” ก็เลยเกิดไอเดียที่คิดได้จากความชอบของตัวเอง คือชอบทานข้าวผัดปูมาก เลยคิดว่าเมนูข้าวผัดปูนี่แหละน่าจะเหมาะที่สุด เพราะ อ.ยะหริ่งเป็นพื้นที่ที่ติดทะเลและมีชาวประมงพื้นบ้านออกเรือเล็กหาปูทุกวัน เรื่องวัตถุดิบจึงไม่เป็นอุปสรรค และมันอาจจะเป็นจุดขายให้เราได้ เลยเริ่มลงมือทำ โดยการทำให้คนที่บ้านได้ลองทานกันก่อน คนที่ได้กินก็มีถามกลับมาว่า โหหหห ใส่เนื้อปูเยอะจังจะขายได้กำไรไหมเนี่ย?” คือพี่อูมก็บอกไปว่า เราเป็นคนชอบทานข้าวผัดปู ทุกครั้งที่ไปสั่งข้าวผัดปูเราจะผิดหวังเพราะจะไม่ค่อยเห็นเนื้อปูอยู่ในข้าว แต่เมื่อเราได้มีโอกาสเปิดร้านมาขายข้าวผัดปูเองก็อยากให้ลูกค้าได้ทานปูแบบเต็มอิ่ม จึงเป็นที่มาของข้าวผัดปูจานอลังการโคตรเครื่อง จากนั้นพอพี่อูมเริ่มขายจริง ลูกค้าประจำที่ก็ได้มาลองทาน เขาก็บอกว่าชอบมากอิ่มสะใจมาก เลยบอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้ข้าวผัดปูที่ร้านเป็นเมนูขึ้นชื่อ ไม่เพียงแค่ลูกค้าที่เดินทางเข้ามาทานทีร้านเท่านั้นนะคะ ปัจจุบันลูกค้าที่สั่งออนไลน์ก็มีเยอะมากๆคะ ตอนนี้ทางร้านเรามีออเดอร์ที่ต้องส่งข้าวผัดปูอยู่ 9 จังหวัด มีทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูลตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช กรุงเทพ และเชียงใหม่ พี่อูมอยากจะบอกว่าการที่เราได้มาขายข้าวผัดปูและได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเราที่สุขใจแต่ยังเป็นการส่งความสุขไปสู่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอยะหริ่งให้พวกเขาได้อาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความสุขเหล่านี้คือสันติภาพที่ขึ้นจริงที่นี่



         ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพีรพงษ์ หลังปูเต๊ะ ลูกค้าที่มาลองทานข้าวผัดปูร้านพี่อูมเป็นครั้งแรก ซึ่งพี่เขามาไกลจากกรุงเทพฯเลยทีเดียว ได้บอกถึงความรู้สึกเมื่อได้ทานข้าวผัดปูว่า “...ประทับใจข้าวผัดปูร้านพี่อูมมาก เพราะตัวผมเองเป็นนักเดินทาง นักชิม เที่ยวกินฟินส์ไปเรื่อย เมนูข้าวผัดปู ก็เป็นหนึ่งเมนูที่ทานบ่อย แต่ที่ผมประทับข้าวผัดปูที่นี่คือ ความอลังการโคตรเครื่องนี่แหละครับ ผมเองกล้าพูดเลยครับว่า ไม่เคยทานข้าวผัดปูที่ไหนที่อร่อย และสะใจกับเนื้อปู ไข่ปู สดๆที่อัดแน่นแบบนี้มาก่อน แถมราคาก็ไม่แพงด้วย ถือว่าคุ้มมากๆครับ และที่เด็ดอีกอย่างคือน้ำจิ้มซีฟูด ที่มีความกลมกล่อมลงตัว บอกได้เลยครับว่า ฟินส์สุดพลังไม่ผิดหวังกับการมาเยือนปัตตานีในครั้งนี้ สุดท้ายอยากบอกว่า ใครมีโอกาสมาปัตตานีต้องมาทานข้าวผัดปูที่ร้านพี่อูม ไม่งั้นจะถือว่าคุณพลาดทีเด็ดที่ปัตตานีไปเลยครับ...


           สำหรับผู้ที่สนใจข้าวผัดปูก็สามารถมาลองรับประทานได้ ที่ถนนหน้าวัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี (ทางไปชายหาดตะโละกาโปร์) โทร 081-9637371 หรือสามารถสั่งออร์เดอร์ผ่านอินบ็อกซ์ทางเฟส P'OumDelifda Corner ได้เลย ซึ่งนอกจากข้าวผัดปูขึ้นชื่อแล้วทางร้านพี่อูม ดีลีฟดา คอร์เนอร์มีบริการอาหารอื่นๆอีกมากมาย เช่น อาหารตามสั่ง อาหารทะเลสดลวกจิ้ม ชาบู ก๋วยเตี๋ยวสูตรดงมูลเหล็ก รวมถึงขนมหวาน อย่างขนมเปียกปูนกะทิสด ขนมช่อม่วง ไอศกรีม และอื่นๆอีกมากมาย เรียกได้ว่าอร่อยครบในที่เดียว ที่นี่ปัตตานี

ลอดอุโมงค์โกงกางบนเส้นทางป่าชายเลนสุดสมบูรณ์ที่ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ปัตตานี

          เป็นชุมชนที่มีจุดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนเป็นป่าชายเลย ที่มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ และพื้นที่อ่าวปัตตานี ที่เป็นแนวธรรมชาติเกือบตลอดพื้นที่ กิจกรรมหลักที่สนับสนุนการท่องเที่ยวจะประกอบด้วย การล่องเรือชมป่าชายเลน อุโมงค์โกงกาง การตกปลาในอ่าวปัตตานี การนั่งเรือชมพระอาทิตย์ และดูนกนานาพันธุ์บินกลับเข้ารังยามใกล้สายัณห์ 



           และจุดสำคัญของคืนเดือนแรมจะพบหิ่งห้อยเล่นเวฟอย่างเมามัน เป็นภาพธรรมชาติที่หากพบสักครั้งจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร นอกจากธรรมชาติของสถานที่แล้ว สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของชุมชนคือธรรมชาติของคน ความใสบริสุทธ์ ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตน รวมถึงแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้รองรับความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยว โดยยึดความพึงพอใจของผู้มาเยี่ยมเยียนเป็นหลัก ดังกล่าวแล้ว บางปูวันนี้มีจุดยืนที่แน่วแน่ มีธรรมชาติที่สวยงาม มีประกายของดวงตาที่มุ่งมั่น ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป




         “ตำนานบางปู สืบรู้โกงกาง กระยางงามถิ่น ดินแดนอนุรักษ์ นี่คือคำขวัญบางปูที่บ่งบอกถึงตัวตนของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน สำหรับบางปูแล้วนี่คืออีกหนึ่งอะเมซิ่งไทยแลนด์อันชวนค้นหา ซึ่งเมื่อได้มาสัมผัสก็ยิ่งรับรู้ถึงมนต์เสน่ห์ที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่มากยิ่งขึ้น



        บางปูเป็นชุมชนมุสลิมริม อ่าวปัตตานีที่มีความเป็นมาเก่าแก่นับร้อยปี ชื่อชุมชนบางปูมีที่มาจากความเป็นแหล่งปู หรือบ้าน (ของ)ปู เนื่องจาก (ในอดีต )ในละแวกนี้มีปูดำอยู่เป็นจำนวนมาก(ด้วยอานิสงส์ของป่าชายเลนยะหริ่ง) เดิมชาวบ้านบางปูจะประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านประมาณ 70-80 % ตามมาด้วยการเลี้ยงเป็ดและประกอบอาชีพอื่นๆ ก่อนที่มาในวันนี้ชาวบ้านบางปูส่วนใหญ่จะหันมาประกอบอาชีพขายสินค้ามือสองเป็นหลัก แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังคงเหนียวแน่นกับการทำประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปูดำตามสภาพธรรมชาติ และออกเรือหากุ้งหอยปูปลา








        

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562

หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “บูแกะโต๊ะบีแด” หินล้านงาม ควนฟ้าตาชี

          หมู่บ้านรถจิ๊ป​ที่มีรถจิ๊ป​โบราณกว่า​ 200​ คัน​ เพื่อขึ้นไปชมควนฟ้าตาชี​ จุดชมวิวและทะเลหมอกอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลา โดยเราจะออกเดินทางประมาณ​ 30​ กิโลเมตรจากตัวเมืองยะลา​ เพื่อไปยังหมู่ที่​ 5 ตำบล​ตาชี​ อำเภอ​ยะหา​ ก่อนที่จะนั่งรถจิ๊ป​โฟร์วีลขึ้นไปบนยอดเขาอีกประมาณ​ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงหินล้านงาม หรือบูแกะโต๊ะบีแด ซึ่ง​บางคนจะเรียกอีกชื่อว่าควนฟ้า



          "บูแกะโต๊ะบีแด" ตั้งอยู่ ม.5ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดยะลา เป็นที่ท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่นักท่องเที่ยว สามารถสัมผัสแสงแรกและแสงสุดท้าย ที่ฉายแสงดั่งทองคำ พร้อมสูดกลิ่นไอทะเลหมอก​ ยามค่ำคืนจะมีแสงหิ่งห้อยแวววับสลับกับแสงจันทร์และแสงดาว เมื่อมองลงไปยังเบื้องล่างจะเห็นมีแสงไฟจากชุมชนเชิงเขา ทั้งบ้านเจาะกลาดี บ้านตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา และบ้านหาดทราย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้บรรยากาศ​เงียบสงบและงดงามเหนือคำบรรยาย​



         ลานหินขนาดใหญ่บนยอดเขาโต๊ะบีแด ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา​ ตอนนี้กำลังเป็นจุดหมายปลายทางของนักผจญภัยที่ต้องการไปสัมผัสแสงแรกและแสงสุดท้าย พร้อมสูดกลิ่นไอทะเลหมอก ณ ดินแดนแสนไกลที่หลายคนไม่คิดว่าจะมีความงามของธรรมชาติแบบนี้อีกในพื้นที่จังหวัดชายแดน​ใต้​ จากลานหินเราสามารถเดินเท้าต่อไปยังน้ำตกซึ่งห่างกันเพียง 1 ก.ม.โดยมีน้ำตก​ 2 แห่งอยู่ใกล้ๆกัน คือ น้ำตกแกเดะ ที่มีน้ำใสเย็นยะเยือก เนื่องจากเป็นต้นน้ำ และ น้ำตกหาดทรายที่มีหินยาวทอดลงมา ซึ่งนักท่องเทียวสามารถเล่นสไลเดอร์ไหลลงมาข้างล่างได้​ ที่สำคัญ​น้ำตกทั้งสองแห่งนี้มีน้ำให้เล่นตลอดทั้งปี



              เมื่อเอ่ยถึงหมู่บ้านตาชี หมู่​บ้านแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น หมู่บ้านแห่งรถจิ๊ปเพราะมีรถจิ๊ปโบราณรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 200 คัน ทุกคันยังคงใช้งานได้ปกติ และทุกบ้าน จะมีรถจิ๊ปไว้ใช้งานแทบทุกหลังคาเรือน เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สูงชันมีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนยางพารา, สวนผลไม้ และการเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก ต้องใช้รถขับเคลื่อน​ 4 ล้อเท่านั้น​ ทุกบ้านจึงต้องหาซื้อรถจิ๊ป​ไว้ใช้เป็นพาหนะ​ โดยจะเป็นรถจิ๊บสมัยสงครามโลกครั้งที่​ 2 เพื่อนำมาไว้ใช้ในการเดินทางและขนส่งสินค้าทางการเกษตร และตอนนี้ก็ได้นำมาบริการให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนที่กำลังเป็นที่รู้จักของนักเดินทางแห่งนี้

บรรยากาศคาเฟ่กลางหุบเขาที่ “ไร่แอลอง” รือเสาะ นราธิวาส

        เป็นอีกครั้งของการเดินทางที่สร้างความประทับใจให้กับ ล่องใต้ชายแดน เพราะทุกครั้งที่เราพาไปเช็คอินเรื่องกิน เรื่องเที่ยว ที่ไหนก็ตามมักจะทำให้เราได้ต่อยอดการเดินทางอยู่สม่ำเสมอ อย่างวันนี้การเดินทางของเราได้มาสุดเขตชายแดนที่จังหวัดนราธิวาส เราได้เจอผู้คนที่น่ารัก เมืองที่น่ารัก เกิดการเรียนรู้และสานต่อการท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีกมากมาย และการเดินทางของเราครั้งนี้ก็ทำให้เราได้มารู้จักกับที่นี่ ไร่แอลอง 





          ไร่แอลอง เป็นไร่ที่มีเนื้อที่กว้างกว่า 80 ไร่ ประกอบไปด้วยเนื้อที่ทำนา สวนผลไม้ ห้องพัก ห้องประชุมสัมมนา พื้นที่การจัดกิจกรรม ทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ มีลานกางเต้นท์ และมีร้านกาแฟที่เปิดเป็นคาเฟ่น่ารักๆ เข้ากับบรรยากาศของธรรมชาติที่มีความร่มรื่น



          คุณอัมเลาะห์  จูมะห์ เจ้าของไร่แอลอง บอกกับเราว่า ไร่แอลอง ได้มีการพัฒนาจากพื้นที่สวนผลไม้ พื้นที่นา และด้วยพื้นที่นี้อยู่ท่ามกลางหุบเขา มีลำธารไหลผ่านมีความสวยงาม จึงเปิดเป็นห้องพักบริการด้วย เพื่อให้ลูกค้าที่มาพักผ่อนได้ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติ ได้มาดื่มกาแฟ นั่งชิลล์ ซึ่งคำว่า แอลอง มาจากคําว่า แอฆองหรือ โต๊ะแอฆองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ และเป็นบุคคลสำคัญของที่นี่ มีอาชีพเป็นเกษตรกร โดยได้ส่งต่อไร่นี้ให้ลูกหลานสืบต่อกันมา จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลประวัติไร่แอลอง คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี จนปัจจุบันนี้ ไร่แอลอง ก็ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆไม่หยุดยั้งเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้มีความสุขทุกครั้งที่ได้เยือน



         สำหรับการบริการห้องพักของที่นี่มี โฮมสเตย์ (Homestay) ราคาต่อห้อง 400 บาท/คืน พักได้ 4 ท่าน ราคาเหมาทั้งหลัง 1,200 บาท/ คืน พักได้ 12 ท่าน ลานกางเต้นท์ (Camp Ground) ค่าบริการลานกางเต้นท์ หากนำเต้นท์มาเอง เสียค่าบำรุงรักษาสถานที่ ผู้ใหญ่ 40 บาท/คน/คืน เด็ก 20/คน/คืน ห้องประชุม (Auditorium) ราคาต่อห้อง 1,500 บาท/ห้อง (ราคาร่วมกับเปิดบ้านพัก) มีอุปกรณ์ที่จัดให้ : โปรเจคเตอร์, ไมค์โคโฟนสาย, ไมค์ลอย, ลําโพง, กระดานไวท์บอร์ด,พัดลม, เก้าอี้ประชุม, โต๊ะ, เครื่องขยายเสียงและ Mixer, โต๊ะไม้ และ เก้าอี้ทั่วไป ในส่วนของบ้านพัก มี 7 หลัง ได้แก่ บ้านจืองา (Baan Je nga) 1,2 ราคา 1,200 บาท/คืน  บ้านจืองา 3,4 ราคา 1,500 บาท/คืน บ้านบือแน (Baan Bernae) 1,3 ราคา 800 บาท/คืน บ้านบาโง (Baan Ba ngo) ราคา 1,000 บาท/คืน




          นอกจากความสวยงามของที่นี่แล้ว ที่พลาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ ร้านกาแฟ แอลอง คาเฟ่ คาเฟ่ที่เต็มไปด้วยความหอมจากกาแฟขึ้นชื่อ เมนูเบเกอรี่ที่มีให้เลือกทานมากมาย บรรยากาศน่านั่ง มองเห็นวิวชัดเจน มีทั้งแบบ In door และ Out door สามารถเลือกนั่งกันได้ตามต้องการ
ไร่แอลอง ตั้งอยู่ที่ 40/3 หมู่ที่ 3 ซอยไร่แอลอง ตําบลสุวารี อําเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 093-741-2170 หรือเข้าไปติดตามได้ที่เพจ : ไร่แอลอง วันหยุดคราวหน้าไปโอบกอดธรรมชาติที่นี่กันนะ

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

ท่องเที่ยวชุมชน “บานา” ล่องเรือชมต้นโกงกางที่เลื่องชื่อของปัตตานี

        “บานาเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน คำว่า บานา เป็นภาษาเปอร์เซีย ซึ่งมีความหมายว่า เมืองท่าเรือ มีบันทึกไว้ว่า บานา ในอดีตนั้นเป็นเมืองท่าของอาณาจักรมลายูลังกาสุกะฝั่งทะเลตะวันออก และเดดาห์ โดยมีเรือสินค้ามาจอดนับร้อยลำ



          "บ้านนานา" เป็นชุมชนที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการท่องเที่ยว และยังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 12 ชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ได้ดำเนินงานวิจัยด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนต้นแบบ เมื่อนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนแห่งนี้จะได้สัมผัสวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวมลายูในพื้นที่ปัตตานี



          อีกหนึ่งความโดดเด่นที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านบานา ก็คือ สะพานไม้บานา ที่ทอดยาวออกสู่ท้องทะเล โดยความเป็นมาของสะพานไม้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งครอบคลุม 5 พื้นที่คือ บานา ตันหยงลูโล๊ะ แหลมโพธิ์ บาราโหม และบางปู ที่เป็นพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี



          หลังจากเดินตามทางสะพานไม้ที่ทอดยาว เพื่อมาลงเรือเที่ยวออกสู่ทะเล ซึ่งที่นี่จะมีกิจกรรมการล่องเรือชมอุโมงค์ต้นโกงกางที่เลื่องชื่อ ชมวิถีชาวประมงพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวอิสลาม สัมผัสกับความร่มรื่นของธรรมชาติและความมหัศจรรย์ของป่าชายเลนนี้ ทั้งกิจกรรมเก็บหอย ล่องชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านในพื้นที่มุ่งหน้าไปที่ลานโกงกาง ซึ่งเป็นลานไม้ไผ่สร้างเพื่อเป็นจุดชมวิวภายในอ่าวปัตตานี ไม่นานนักก็นั่งเรือมาถึงยังผืนป่าโกงกาง ที่มีลำต้นทอดยาวของทั้งสองฝั่งเข้าหากันเป็นซุ้มอุโมงค์สีเขียวขจี มองแล้วเพลิดเพลินสบายตา และหากว่าได้นั่งอยู่บนเรือที่ดับเครื่องยนต์ ลอยล่องอยู่บนลำน้ำที่เงียบสงบ ก็จะยิ่งทำให้เราได้ผ่อนคลายกายใจไปกับธรรมชาติอันแสนงามอีกด้วย