สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน สำหรับชาวมุสลิม
คือการธำรงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง
ทั้งการดำเนินชีวิตตามหลักการของศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี
การมีแนวปฏิบัติในแบบเดียวกัน ไม่ว่าชาวมุสลิมนั้นจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม
นอกจากนี้ วิถีชีวิตภายใต้หลักคำสอนทางศาสนา ยังได้สะท้อนถึงศิลปะ
งานหัตถกรรมต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวเนื่องหรือไม่เกี่ยวเนื่องกับหลักคำสอน
แต่มีความโดดเด่น
มีเรื่องราวและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของผู้ที่นับถืออัลเลาะห์เป็นพระเจ้า
ในงานนิทรรศการ "หัตถกรรมในวัฒนธรรม "มุสลิม" ณ
มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และศูนย์อิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้นำเสนอศิลปะและหัตถกรรมแขนงต่าง ๆ
ที่สะท้อนตัวตนของชาวมุสลิม โดยเฉพาะ "ผ้า" และ "เครื่องแต่งกาย"
ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมได้อย่างชัดเจนที่สุด
ชาวมุสลิมมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับผ้าตั้งแต่เกิดจนตาย
นอกจากจะใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ในพิธีเกิดชาวมุสลิมโดยเฉพาะทางตอนใต้ของไทย
จะมีการจัดเตรียมผ้าให้แก่เด็กนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งก็คือ
"ผ้าบือดัง" หรือผ้าอ้อม ผ้าพันตัว
ใช้พันตัวเด็กเพื่อให้เด็กมีขาทั้งสองข้างตรง
และเพิ่มความอบอุ่นให้เหมือนอยู่ในครรภ์มารดา ผ้าบือดังจะเป็นผ้าฝ้ายขาวหรือสีอ่อน
หากครอบครัวใดยากจนอาจจะใช้ผ้าถุงเก่าของมารดามาทำผ้าบือดังในพิธีงานศพ
ผ้าก็เป็นส่วนสำคัญในประเพณีนี้เช่นกัน "ผ้ากายน์บือละ" จะเป็นผ้าขาวบาง
ๆ ใช้คลุมปิดศพไว้เมื่อศพตายใหม่ ๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติ
ภายหลังทำความสะอาดศพแล้วจะใช้ "ผ้ากะฝั่น"
เป็นผ้าขาวที่ไม่บางและไม่หนาเกินไป 3 ผืนห่อศพเอาไว้ โดยห่อ 3 ชั้น
จากนั้นในการเคลื่อนย้ายศพไปละหมาดที่มัสยิดและฝัง ณ กุโบร์ จะใช้ผ้ากำมะหยี่สีดำ
หรือน้ำเงินเข้ม หรือเขียวเข้ม ปักลวดลายศิลปะอิสลาม
มีอักษรภาษาอาหรับเป็นคำในอัลกุรอานเป็นสีทอง เรียกว่า "ผ้าคลุมมายัด"
คลุมศพหรือโลงศพ ซึ่งถ้าเป็นชาวมุสลิมที่เคยประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้ว อาจใช้
"ผ้าเอี๊ยะรอม" หรือ "ผ้าแฮแร" คลุมศพ โดยผู้มีฐานะดีอาจใช้ผ้า
"ซอแก๊ะ" หรือผ้ายกทอง คลุมศพ
ผ้ามุสลิมในหลากหลายรูปแบบ
ในชีวิตประจำวัน มุสลิมนิยมใช้ผ้าหลายแบบ "ผ้าจวนตานี"
คือผ้าทอดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านเมืองปัตตานี มัดใช้ในชาวมุสลิมในอดีต
ผ้าชนิดนี้ได้รับความเข้าใจว่าเป็นผ้าที่บ่งบอกถึงฐานะคนใส่ เพราะเป็นผ้าชั้นสูงและราคาแพงมาก
ดังนั้น จึงใส่ออกงานเฉพาะงานสำคัญเท่านั้น ผู้หญิงจะใช้สไบไหล่ หรือคลุมศีรษะ
หรือผ้านุ่งคาดอก ส่วนบุรุษใช้เป็นผ้านุ่งหรือนุ่งทับกางเกงขายาว ที่เรียกว่า
"สลินดัง" หรือใช้คลุมศพชาวมุสลิมที่มีฐานะ
"ผ้าลีมา" หรือผ้ามัดหมี่ ก็นิยมใช้ในหมู่ชนชั้นสูงมลายู เช่น
ในมาเลเซีย บรูไน เช่นกัน สตรีจะใช้คลุมไหล่ คล้องคอ คลุมศีรษะ
หรือคาดกระโจมอกปล่อยยาวลงมา ส่วนบุรุษจะใช้เป็นสลินดัง
หรือปิดทับกางเกงขายาวเมื่อแต่งชุด "สะลีแน"
ซึ่งเป็นชุดแต่งกายดั้งเดิมของชาวมลายู ผ้าลีมายังใช้ในการคลุมศพเพื่อเป็นเกียรติยศผู้ตายด้วย
ส่วนผ้าที่รู้จักกันดีคือ ผ้า "ปาเต๊ะ"
ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซีย ในภาษามลายูเรียก "ผ้ายาวอ"
ใช้สำหรับนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน
"การแต่งกาย" วัฒนธรรมเฉพาะที่เข้มแข็ง
ข้อกำหนดการแต่งกายของชาวมุสลิมนั้น
คือสามารถแต่งกายได้ตามวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น แต่จะต้องไม่ขัดต่อหลักการศาสนา
คือสตรีจะต้องปกปิดอวัยวะ เปิดได้เพียงฝ่ามือและใบหน้า
เพื่อไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายต้องตาบุรุษ
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมในไทยส่วนมาก มีเชื้อสายมลายู
การแต่งกายจึงได้รับอิทธิพลจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น