วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

“บ้านทรายทอง” หรือจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ที่ยังคงความสวยงามแบบดั้งเดิม

       อาคารแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานโรงพยาบาลปัตตานี ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลปัตตานี โซนบ้านพักแพทย์ อาคารหลังนี้ก่อสร้างในรัชกาลที่ 5 ช่วงปี พ.ศ.2449 – พ.ศ.2466 ใช้เป็นจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี โดยคนแรกคือพระยาเดชานุชิตสยามมิศร์ภักดี (หนา บุนนาค) ปกครอง 7 เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก  คนที่สอง หม่อมเจ้าสฤษดิ์เดช ชยางกูรฯ



        ในปี พ.ศ.2467 หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร สมุหเทศาภิบาล ประจำมณฑลปัตตานี มีดำริก่อสร้าง รพ.ปัตตานี และได้รับงบประมาณ 32,000 บาท และทางมณฑลได้รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาอีก 7,000 บาท เริ่มก่อสร้าง เรือนคนไข้ และตึกผาตัดรวม 2 หลัง ในที่ดินแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ทางมณฑลวางแผนจะขอเงินก่อสร้างอาคาร โรงเรือนต่างๆ เช่น ตึกคนไข้นอก โรงซักฟอก โรงครัว โรงพักศพ บ้านพักแพทย์ และบ้านพักเจ้าหน้าที่ แต่ขณะนั้นเงินฝืดเคือง จึงไม่ได้งบประมาณในส่วนนี้



        ปี พ.ศ.2478 ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาราชการที่จังหวัดปัตตานีเป็นครั้งแรก ได้เห็นตึกที่พักของแขกจังหวัด ซึ่งเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มีลักษณะเหมาะสมจัดเป็นโรงพยาบาลได้ จึงได้เข้าประชุมกับคณะกรรมการจังหวัดปัตตานี คณะกรรมการจังหวัดปัตตานีเห็นพ้องต้องกันว่า สถานที่บริเวณตึกสมุหเทศาภิบาลเดิมมีลักษณะเหมาะสมจัดเป็นรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งกำหนดที่ดินอีกด้านหนึ่งของฝั่งใต้คลองสานสามัคคี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบริเวณที่ดินสมุหเทศาภิบาล ให้เป็นอาณาเขตของโรงพยาบาลด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายตัวของโรงพยาบาลต่อไปในภายภาคหน้า
         วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2480 ใช้เป็นอาคารอำนวยการ และผู้ป่วยนอก โดยปีกด้านซ้ายเป็นส่วนอำนวยการห้องทันตกรรม และห้องตรวจผู้ป่วยนอก ปีกด้านขวาเป็นห้องจ่ายยา และห้องตรวจผู้ป่วยนอก โดยมีนายแพทย์เสถียร ตู้จินดา เป็นผู้อำนวยการคนแรก จากนั้น พ.ศ.2508 อาคารผู้ป่วยนอกได้ย้ายมาที่อาคารหลังใหม่ ทำให้หลังนี้เป็นอาคารพักรับรอง
        ปี พ.ศ. 2560 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี คนที่ 16 นายแพทย์ศักดิ์ชัย ตั้งจิตวิทยา ได้ให้บูรณะอาคารหลังนี้เพื่อให้บริการผู้ป่วยงานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โรงพยาบาลปัตตานี คงไว้ซึ่งอาคารแบบเดิม




         ปัจจุบันงานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โรงพยาบาลปัตตานี ได้ให้บริการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการแพทย์แผนไทย อาทิ นวดเพื่อบำบัดรักษา นวดเพื่อฟื้นฟูสรรถภาพในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต นวดฟื้นฟูมารดาหลังคลอด นวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ นวดเท้าเพื่อสุขภาพ อบไอน้ำสมุนไพรเพื่อการรักษา อบไอน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา และการประคบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
          นาวสาวสมคิด  ทองมี  แพทย์แผนไทยชำนาญการ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภาคใต้ชายแดน ว่า งานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โรงพยาบาลปัตตานี ได้ดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยมานานพบผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพมาต่อเนื่อง ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการรักษา โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องมีการตรวจสุขภาพ และซักประวัติ วินิจฉัยโรคก่อนทุกครั้ง สำหรับการเรียกอาคารแห่งนี้ว่า บ้านทรายทอง นั้น ก็เพราะว่าเป็นอาคารเก่า ที่ก่อสร้างในรัชกาลที่5 มาที่นี่เหมือนได้ย้อนเวลา
         นอกจากตัวอาคารที่ยังคงดั้งเดิมแล้ว พื้นที่รอบอาคารก็ยังมีต้นไม้ และพืชสมุนไพรต่างๆที่ทางแพทย์แผนไทยปลูกขึ้นมากมายปกคลุมรอบทิศทาง ให้ความรู้สึกสดชื่น สบายตา ซึ่งสมุนไพรต่างๆเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการรักษาได้ด้วย หากใครสนใจเข้ารับการรักษาบำบัดสุขภาพสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ งานแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โรงพยาบาลปัตตานี 073-460243 ต่อ 1302

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น