วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562

เครื่องปั้นดินเผาภูมิปัญญาชาวบ้าน อ.มายอ จ.ปัตตานี


       เครื่องปั้นดินเผา อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี หม้อดินขนาดต่าง ๆ ถูกจัดเรียงไว้ รอให้ได้จำนวนที่ต้องการ เพื่อนำไปเข้าเตาเผา เป็นฝีมือการปั้นของ​ นางแยน๊ะ วาเย็ง ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านกูบังบาเดาะ ต.สะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี วัย 70 ปี ที่สืบทอด ภูมิปัญญาการปั้นหม้อจากรุ่นสู่รุ่น จนนำไปสู่การประกอบเป็นอาชีพมากว่า 50 ปี ในอดีตชาวบ้านกูบังบาเดาะจะมีอาชีพปั้นหมอเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากดินเหนียวบริเวณนี้หาง่ายและมีคุณภาพดี เหมาะแก่การนำมาปั้นและเผา แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เทคโนโลยีและความเจริญได้เข้ามาแทนที่ ทำให้อาชีพนี้ถูกกลืนหายไป ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่เจ้า ที่ยังคงปั้นหม้อดินจำหน่ายเป็นอาชีพอยู่ ซึ่งจะสังเกตได้ว่างานปั้นหม้อของที่นี่ ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ตั้งแต่แบบ ลวดลาย ต่างกันแค่ขนาด ที่มีความเล็ก ใหญ่ ตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีเชิงเทียน ที่ขายดีจนทำส่งแทบไม่ทัน



       นางแยน๊ะ เล่าให้ทีมงานของเราฟังว่า ดินเหนียวที่จะนำมาใช้ต้องไปขุดมาจากตีนเขาบาเดาะ เอามาผสมทรายผึ่งให้แห้ง พรมน้ำให้พอเปียก แล้วใช้ไม้ที่มีลักษณะคล้ายสากตำข้าวในสมัยก่อน มาตำให้ดินแตกละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะใช้เท้าเหยียบนวด 3-4 เที่ยว จึงจะนำมาปั้นเป็นก้อน เพื่อเตรียมขึ้นรูปบนแป้นหมุน ซึ่งส่วนผสมของดินเหนียวกับทรายต้องมีความเหมาะสม รวมทั้งต้องเก็บเศษกรวดหรือใบไม้ที่ปะปนมากับดิน ออกให้หมด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้หม้อดินแตกได้ง่าย




       เมื่อได้รูปทรงที่ต้องการแล้ว ก็จะวางผึ่งลมไว้ นางแยน๊ะ จะใช้เวลาช่วงเช้าไปกับการขึ้นรูป ส่วนในช่วงบ่ายจะทำการตกแต่งลวดลาย โดยนำหม้อที่ผึ่งลมไว้พอหมาดมาตีด้วยไม้ตบลาย และใช้ลูกหินเป็นตัวยันเนื้อหม้อ ขณะที่อีกมือหนึ่งตีอยู่ด้านนอกจนได้รูปทรงที่สวยงาม เสร็จแล้วจะวางผึ่งลมให้แห้งสนิท รอรวบรวมเพื่อเข้าเตาเผา ซึ่งปกติจะเผา 2-3 เดือนครั้ง และทุกครั้งจะมีพ่อค้ามาเหมารับซื้อถึงที่ ตอนนี้นอกจากจะปั้นหม้อเองแล้ว นางแยน๊ะ ยังรับสอนผู้ที่สนใจปั้นหม้อที่เข้ามาเรียนรู้เพื่อสืบสานอาชีพนี้ให้คงอยู่ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น