วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562

วิถีพอเพียงเลี้ยงดูปากท้องของชุมชน บ้านแป้น สายบุรี ปัตตานี

       ตำบล "แป้น" ในระยะเริ่มแรก มีต้นส้มโอขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง เมื่อยามออกผล จะมีผลขนาดใหญ่ ขนาดเท่าลูกมะพร้าว ชาวบ้านได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านแป้น ซึ่งคำว่า "แป้น" เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ส้มโอ ต่อมาก็ได้ตั้งเป็นชื่อตำบล ซึ่งชุมชนบ้านแป้นยังคงความงามทางธรรมชาติที่บริสุทธ์ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ภูมิสภาพสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม และมีพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมาอย่างยาวนานอาชีพเกษตรกรตามวิถีพอเพียงเลี้ยงดูปากท้องของชุมชนตลอดมา


      การใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ มาเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร และอื่นๆ ยังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ โดยปัญหาการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทุกฝ่ายที่ช่วยกันหาวิธีจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อไม่นานมานี้มีปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอเกิดปัญหาส่งผลกระทบตามมา ทำให้ชาวบ้านต้องขึ้นไปสำรวจต้นน้ำและประชุมร่วมกันเพื่อสามารถจัดการกับแหล่งน้ำของตนได้สร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน มีการปรับปรุงฝายหินสร้างบ่อเก็บน้ำจัดการสร้างบริหารจัดการน้ำประปาภูเขาสร้างฝายเกษตรด้านล่างมีการติดมิเตอรน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและหวงแหนได้ออกแบบการใช้น้ำจนสามารถต่อยอดผลิตเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ทุกครัวเรือน



     ชนัตศักดิ์ พิทักษ์มาตุภูมิ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแป้น เล่าให้ฟังว่า ฝายกักเก็บน้ำเก่าบนยอดเขาและฝ่ายมีความชำรุดสุดโทรมไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ จากฝายกักเก็บน้ำที่ทิ้งร้างนานกว่า 10 ปี แต่ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิปิดทองหลังพระ เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำ โดยการเข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชน รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณด้านวัสดุอุปกรณ์เพื่อมาปรับปรุงและซ่อมแซมฝ่ายที่มีอยู่ให้กลับมาใช้ได้ตามปกติ และชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำจากฝายชุมชนที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม และสามารถนำน้ำที่ได้มาใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บ้านแป้นอีกด้วย


        ปฐมพร หมอนศรี อาสาสมัครพัฒนาชุมชนบ้านแป้น กล่าวว่า ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เข้ามาให้ความรู้ทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่บ้านแป้น โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำนา และหลังการเก็บเกี่ยวพืชหลังนายังเป็นการเพิ่มปุ๋ยพืชสดให้กับพื้นที่แปลงนาที่จะเตรียมปลูกข้าวตามฤดูกาลต่อไป นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและแก้ปัญหาให้กับชุมชน เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้การต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรให้ชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรแบบนวัตกรรมใหม่มาเสริมใช้ปุ๋ยที่ผลิตเองจากขุยมะพร้าวมูลสัตว์ มาใช้ประโยชน์ทั้งหมดกับสวนดั้งเดิมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว คือ มะพร้าวและข้าวจนทำให้ชุมชนได้ผลผลิตมากยิ่งขึ้นและยังเพิ่มเติมด้วยการปลูกพืชพันธ์เกษตรใหม่ๆ แบบจากต้นน้ำกลางน้ำสู่ปลายน้ำใช้ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เช่น ผักสลัด ผักสวนครัว แปลงสมุนไพร ตะไคร้ ฝักทอง มะเขือ หัวปลี บวบ และมะระ เป็นต้น โดยทุกวันพุธและวันอาทิตย์จะมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งพืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกภายในครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี


        จะเห็นได้ว่าชุมชนตำบลบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นต้นแบบชุมชนเป็นสุขตามแนวพระราชดำริฯ ที่น้อมนำหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิตและเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในความสำเร็จของชุมชนในชายแดนภาคใต้ที่สามารถจัดการปัญหาร่วมกัน และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมจัดการร่วมสร้างด้วยรักสามัคคีมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นความเข้มแข็งของชุมชนจะนำมาซึ่งความสงบและเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น