วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่ง คสช.ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย



               ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

                ตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายจัดการศึกษาดังกล่าวโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2552 โดยขออนุมัติตั้งงบประมาณเป็นรายปี และขยายขอบเขตการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละคณะมาเป็นลำดับ

                หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่เรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ทั้งสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา และความเป็นธรรมในสังคม แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงสมควรยืนยันแนวทางดังกล่าวและพัฒนาต่อไป ด้วยการยกระดับจากการเป็นโครงการตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลให้เป็นหน้าที่ของรัฐและมาตรการตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนมั่นคง และเพื่อให้สามารถจัดงบประมาณสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

                ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาหมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่หรือผ่านทางสถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี

การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีหมายความว่า การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ด้วยการศึกษาพิเศษหมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่บุคคลซึ่งมีความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้เป็นรูปแบบโดยเฉพาะ และอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนตามลักษณะความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล
การศึกษาสงเคราะห์หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก หรืออยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าเด็กทั่วไป หรือที่มีลักษณะเป็นการกุศล เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีพัฒนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย

                ข้อ 2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเตรียมการเพื่อจัดให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแล และพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

ข้อ 3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ได้แก่
                (1) ค่าจัดการเรียนการสอน
                (2) ค่าหนังสือเรียน
                (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน
                (4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน
                (5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
                (6) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

                ข้อ 4 ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้แทน และขยายผลต่อจากคำสั่งนี้แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในหกเดือนนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ

                ข้อ 5 ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด

                ข้อ 6 ให้อัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีผลใช้อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตามข้อ 3

                ข้อ 7 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ฮือฮา“กริชทองคำโบราณ” ปัตตานีจัดโชว์เกือบ 500 เล่ม


วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี จัดงาน “กริช” มรดกไทย มรดกอาเซียน ประจำปี 2559 “Kris” Heritage of Thai Heritage of ASEAN ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีการจัดนิทรรศการจัดแสดงกริชรูปแบบต่างๆ ทั้งจากในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และบรูไนรวมเกือบ 500 เล่ม

โดยกริชที่นำมาจัดแสดงนั้น มีทั้งกริชโบราณรูปแบบและขนาดแตกต่างกันไป มีทั้งที่ทำด้วยทองคำแท้ทั้งใบกริชและปลอก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมอย่างมาก แต่กริชส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะและไม้ บางเล่มมีการสลักลวดลายต่างๆอย่างสวยงาม เช่น สลักโอการในคัมภีร์อัลกุรอาน หรือรูปสัตว์ เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่างานนี้เป็นนิทรรศการแสดงสิ่งของโบราณที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่จัดขึ้นในพื้นที่เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการรวบรวมนักสะสมกริช ครูบาอาจารย์และนายช่างทำกริชแต่ละสาขามาพบปะพูดคุยด้วย โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่แต่งกายด้วยชุดมลายูอย่างสวยงามเต็มยศ และมีการจัดแสดงสิ่งของอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ขวานโบราณ ตำราโบราณ การสาธิตการทำกริช เป็นต้น

โดยงานนี้มี 2 วัน ระหว่างวันที่ 29 -30 กรกฎาคม 2559 ซึ่งงานวันแรกนี้มีการจัดเสวนาหัวข้อ วิถีวัฒนธรรมกริช โดยอาจารย์บุญเลิศ จันรัตน์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และนายตีพาลี อาตะบู ช่างทำกริชชื่อดังชาว อ.รามัน จ.ยะลา จากนั้นเป็นการเล่าเรื่องจากนักสะสมกริช การสาธิตการพับผ้า เป็นต้น ส่วนงานในวันที่สองจะมีพิธีเปิดโดย ดร.อภินันท์ โปษยนนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และการเสวนา รวมทั้งการแสดงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นายเลิศบุศน์ กองทอง ปลัดจังหวัดปัตตานี กล่าวระบุในคำกล่าวรายงานว่า กริชเป็นอาวุธประจำตัวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยก่อน นิยมใช้กันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์และประเทศไทย โดยนิยมในหมู่ชาวไทยพุทธและมุสลิมภาคใต้ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงมาถึงนราธิวาส

นายเลิศบุศน์ ระบุอีกว่า ความเป็นมาของกริชยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สำหรับประเทศไทยนั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้าในเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีบทบาทเป็นทั้งอาวุธและเครื่องประดับที่บ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรีที่แสดงถึงความกล้าหาญ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของหรือของตระกูล และยังมีความเชื่อกันว่า กริชเป็นตัวแทนของพระศิวะ ดังนั้นกริชจึงเป็นสิ่งที่มีคุณวิเศษ ใช้เป็นวัตถุมงคลเป็นเครือรางของขลังด้วย

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แหลมตาชี อัญมณีแห่งท้องทะเลใต้ เพื่อการท่องเที่ยวระดับสากล


สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานประชุมคณะทำงานโครงการพัฒนาแหลมตาชี เพื่อพัฒนาจังหวัดปัตตานีในมิติการท่องเที่ยว ตามแนวนโยบายของนายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีคําสั่งให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อน"โครงการเนรมิตแหลมตาชี อัญมณีแห่งท้องทะเล เพื่อการท่องเที่ยวสู่ระดับสากล" ให้เป็นโปรเจกต์ใหญ่ของจังหวัด และร่วมจัดกิจกรรมปลุกกระแสพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นระบบมากขึ้น


ทั้งนี้การกําหนดแหลมตาชีให้เป็นโปรเจกต์ใหญ่ เนื่องจากมีความโดดเด่นถือเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น และดวงอาทิตย์ตกได้ในจุดเดียวกัน มีการกําหนด 4 กิจกรรมใหญ่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.การแข่งขันเดินวิ่งฟันรัน ดื่มด่ำแสงแรกฟ้าที่แหลมตาชี 2.การแข่งขันฟุตบอลชายหาด 3.การประกวดภาพถ่ายแหลมตาชี และ 4.การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณภายในอ่าวปัตตานี เฉลิมพระเกียรติ ในวันเสาร์ที่ 13 ส.ค. ที่จะถึงนี้


โดยการใช้พื้นที่ทั่วทั้งแหลมตาชีเป็นจุดจัดกิจกรรมดึงดูดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ได้สามารถเข้ามาชมสัมผัสทัศนียภาพที่สวยงาม จนนำไปประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสู่สากล อีกทั้งยังจะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวจังหวัดปัตตานีในโอกาสข้างหน้าด้วย

นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่อีกจุดที่มีความสําคัญ เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตั้งแต่ในอดีต คือแหลมตาชีที่มีพื้นที่ดอนทรายยื่นออกไปในทะเลยาวกว่า 2 กิโลเมตร ทางนายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าฯ เองจึงได้เล็งเห็นถึงความสําคัญอยากจะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอ่าวไทย ให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปในระดับประเทศ ตรงจุดนี้หากใครได้มาเยี่ยมชมช่วงเช้าก็จะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและในช่วงเย็นก็จะสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกทะเลในจุดเดียวกัน ผืนทรายก็มีความละเอียด สะอาด นี้คือความพิเศษและน่าจะต้องมาเที่ยวที่แหลมตาชี


โดยที่ผ่านมา ได้มีดารานักแสดง ศิลปินดารา รวมถึงบุคคลที่เป็นที่รู้จัก ต่างก็เดินทางมาเที่ยวชมดอนทรายตรงจุดนี้ และยังช่วยในการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกช่องทางที่จังหวัดได้ใช้ในการช่วยประชาสัมพันธ์ และหลักการส่งเสริมด้านการท้องเที่ยวที่สําคัญ คือการช่วยเหลือส่งเสริมชาวปัตตานีให้มีอาชีพ มีรายได้ เพราะปัจจุบันก็มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นส่วนสําคัญของพี่น้องในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีอยู่แล้ว และมีความเชื่อมโยงอยู่กับแหลมตาชีที่ทางจังหวัดต้องการจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ และได้บรรจุลงเป็นแผนการท่องเที่ยวอยู่ในหมวดการบริการและการท่องเที่ยว


นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยังกล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนพี่น้องทั่วประเทศไทยมาลองเที่ยวที่แหลมตาชีแห่งนี้ จะได้รับสัมผัสธรรมชาติในอ่าวปัตตานีแห่งนี้ มีแหลมตาชีทอดยาวถึงปากอ่าวแม่น้ำปัตตานี และยังจะได้พบเห็นฝูงโลมาที่เข้ามาหากินอยู่ด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ได้ทดลองมาชม มาเที่ยว มาดู


เเละทางจังหวัดขอรับรองว่าจะมีการดูแลความปลอดภัยให้อย่างดี ในปัจจุบันฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ร่วมถึงพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ต่างก็มีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการร่วมกันสร้างความสงบสุข







 ----------------


ที่มา: http://workpointtv.com

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การแห่ขันหมาก (บุหงาซีเร๊ะ) ประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะฝ่ายเจ้าบ่าว


"บุหงาซีเร๊ะ" คือ การแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะของฝ่ายเจ้าบ่าวในการ แห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวประกอบด้วยพานขันหมากตามที่ตกลงกันระหว่างฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าว แต่สำหรับพ่อแม่หญิงสาวบางคนไม่กำหนดตัวเลขของพานขันหมาก แล้วแต่ฝ่ายชายจะนำไปเท่าไร แต่ต้องเป็นจำนวนเลขคี่อย่างน้อย 5 ขัน หรือ 9 ขัน 13 ขัน แล้วแต่ความสามารถของฝ่ายชาย


สำหรับคนที่มีฐานะดีจะกำหนดขันหมากมากกว่าคนที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งในการแห่ขันหมากนั้นจะมีการตั้งแถวขบวน ทางฝั่งเจ้าบ่าวจะทำการตั้งขบวน โดยมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมอยู่ในขบวน และถือสิ่งของ ขันหมากสำคัญ ๆ คือ บุหงาซีเร๊ะ ( พานหมากพลู) ข้าวเหนียวเหลือง (ปูโละซือมางะ) นำหน้าขบวน แถวถัดมามีถือถาดขนมหวานในท้องถิ่น อาทิเช่น วุ่น นาซิมานิส กะละแม เป็นต้น


โดยจะถือเป็นคู่ ถัดมาก็มีการถือถาดผลไม้ เครื่องแต่งกายของเจ้าสาว อาทิเช่น ผ้าชุด ผ้าละหมาด ผ้าโสร่ง รองเท้า ร่ม กระเป๋าสตรี เป็นต้น ซึ่งของทุกชิ้นจะจัดห่อไว้ด้วยพลาสติกหลากสีอย่างสวยงาม สร้างสีสันความสวยงานในขบวนแห่ ถัดมาก็เป็นแถวของบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งการยกขันหมากจำนวนคนจะมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเชิญของฝ่ายเจ้าบ่าวให้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก


สำหรับผู้ที่จะถือขันหมาก นิยมเลือกสาวๆ ญาติฝ่ายชาย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือเป็นคนที่น่านับถือ ถือขันหมาก เมื่อขบวนพร้อมแล้วก็จะมุ่งหน้าเดินแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว จะมีคนออกมารับขันหมาก อาจเป็นสาว ๆ หรือ ผู้มีอาวุโสซึ่งเป็นญาติๆ ของฝ่ายหญิงมารับขันหมาก ตั้งที่บังลังแต่งงาน สร้างความสวยงาม สีสันให้แขกที่มาร่วมงานจะต้องได้เห็นบังลังค์เจ้าสาว และพานขันหมากของเจ้าบ่าวที่นำมาให้เจ้าสาวว่าสวย ดูดี หรูหราหรือไหม และเชิญแขกขึ้นบ้านรับประทานอาหารร่วมยินดีกับคู่บ่าวสาว 


ซึ่งประเพณีการแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นบรรยากาศหนึ่งที่แขกร่วมงานต่างรอค่อยที่จะดูความสวยงามของพานขันหมาก และเจ้าบ่าว ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเพณีนิยมของชาวมุสลิมมลายู

--------------------
ข้อมูล...http://www.m-culture.go.th/ilove/ewt_snews.php?s=bmFyYXRoaXdhdEBAQDQ4Mg==

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ยอดอ่อนมะม่วงหิมพานต์ มีสารชะลอความแก่มากกว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่..รู้งี้ต้องกิน


จากการวิจัยพบว่า ยอดอ่อนมะม่วงหิมพานต์และใบมันปูมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีสารชะลอความแก่มากกว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จากต่างประเทศหลายเท่า

หากทานเป็นประจำจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ จากการวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเรื่องสารอาหารและคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้านบางชนิดของภาคใต้ไทย ซึ่งหาง่ายราคาถูกปลูกและขึ้นเองตามธรรมชาติ


     จากการศึกษาผักพื้นบ้านภาคใต้ 23 ชนิดพบว่า ยอดมะม่วงหิมพานต์มีการต้านอนุมูลอิสระหรือสารชะลอความแก่เป็นจำนวนมาก สารนี้สามารถยับยั้งการทำลายเซลล์ของร่างกาย ทำให้ดูอ่อนกว่าวัยสุขภาพดีแข็งแรง

     รองลงมาคือยอดใบมันปูโดยมีสารประกอบชะลอความแก่ตระกูลโพลิฟรีนอลสูงกว่าผักธรรมดา เช่น ผักคะน้า บร็อคโคลี่ ผักขม ถึง 43 เท่าและมากกว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่ยอมรับกันว่าเป็นผลไม้ที่มีสารชะลอความแก่ถึง 6 เท่า

นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี วิตามินอี เบต้า แคโรทีน และลูทีน (ช่วยบำรุงสายตา) ในปริมาณที่สูงกว่าตระกูลเบอร์รี่อีกด้วย 


     มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าผักหรือผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ และต้อกระจกได้ จึงได้มีการทดลองนำเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่มาทดสอบในระดับหลอดทดลองพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระของผักทั้ง 2 ชนิดคือยอดมะม่วงหิมพานต์และยอดใบมันปูมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ข้อมูลสุขภาพจาก :คลินิกสมุนไพรหมอศุภการแพทย์แผนไทย

http://www.senesouk.com/2016/07/blog-post_310.html

คืบหน้าเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ เชื่อกลุ่ม "รอกิ ดอเลาะ" แกนนำกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลงมือ


ยะลา - เจ้าหน้าที่เร่งตรวจที่เกิดเหตุ หลังคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ และสูญหายในพื้นที่ตำบลลำใหม่ยะลา เชื่อกลุ่ม "รอกิ ดอเลาะ" ลงมือ


วันนี้ 27 ก.ค. 59 เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ พร้อมเก็บหลักฐานเพิ่มเติม ในที่บริเวณถนนในหมู่บ้าน บ้านทุ่งคา หมู่ที่ 2 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หลังเมื่อค่ำที่ผ่านมา (26 ก.ค. 59) เวลา 20.55 น. คนร้ายได้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 1 คน สูญหาย 1 คน ก่อนชิงรถยนต์กระบะยี่ห้อมาสด้า สีดำ หมายเลขทะเบียน บง-2816 ยะลา หลบหนีไป


ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบ ปลอกกระสุน ขนาด 5.56 จำนวน 1 ปลอก ปลอกกระสุนปืนลูกซอง จำนวน 1 ปลอก รวมทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และรองเท้าของผู้สูญหายตกอยู่บริเวณสวนยางริมทาง จึงรวบรวมเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปตรวจสอบ


จากการสอบสวนทราบว่า ขณะที่นายธงชัย เข็มเพชร พร้อมด้วยนายอภิชัย รัตนซ้อน และนายอดิศร สุขาเขิน ได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวออกจากที่ทำงานในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย มุ่งหน้ากลับบ้านพักที่บ้านสีคง ตำบลลำใหม่ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้มีคนร้าย ประมาณ 7-8 คน แต่งกายชุดดำถืออาวุธปืนยาวตั้งด่านลอย ถือกระบองไฟ และได้เรียกให้หยุดรถก่อนที่จะให้ทุกคนลงจากรถ บังคับให้มายืนหน้ารถจากนั้นหนึ่งในคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่นายธงชัย ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่นายอภิชัยจะกระโดดวิ่งหลบหนี โดยนายอดิศรวิ่งหลบหนีไม่ทันถูกยิงที่บริเวณท้อง


จากนั้นคนร้ายได้ขับรถยนต์หลบหนีไป จนเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือนำตัวนายธงชัยส่งโรงพยาบาลยะลา โดยเจ้าหน้าที่พบนายอภิชัยเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนนายอดิศรที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ได้พยายามค้นหาแต่ยังไม่พบแต่อย่างใด


เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยกลุ่มที่ลงมือก่อเหตุในครั้งนี้ เป็นกลุ่มของนาย "รอกิ ดอเลาะ" แกนนำกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่ตำบลลำใหม่ อำเภอเมืองยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง






-----------------------

ทุเรียนบ้าน .. ถึงกลิ่นจะแรงแต่ก็อร่อยมาก!


คำว่า "ทุเรียน" (durian) มาคำจากภาษามลายู คือคำว่า duri (หนาม) มารวมกับคำต่อท้าย -an (เพื่อสร้างเป็นคำนามในภาษามลายู)

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาประมาณ 600 ปีมาแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้พรรณนาถึงทุเรียนว่า "เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติคล้ายอาลมอนด์" เนื้อในของทุเรียนกินได้หลากหลายไม่ว่าจะห่าม หรือสุกงอม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการนำทุเรียนมาทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารคาวและอาหารหวาน แม้แต่เมล็ดก็ยังรับประทานได้เมื่อทำให้สุก


ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยอยุธยา ในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เขียนขึ้นโดย เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) นักบวชนิกายเยซูอิต หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2336 ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า "ดูเรียน (Durion) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้..."

จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง


ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 ในระยะต้นเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด 


สำหรับผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง 3 พันธุ์ไม่ได้ จึงใช้เมล็ดจากทั้ง 3 พันธุ์นั้นปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย ซึ่งรายชื่อพันธุ์ทุเรียนเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารได้ มีถึง 227 พันธุ์




------------------

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ประตูสู่เศรษฐกิจชายแดนใต้


เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในระยะที่ 2 ของรัฐบาลกำลังเริ่มขึ้นในปี 2559 นี้ โครงการพัฒนาสำคัญ นอกจากนิคมอุตสาหกรรมชายแดนแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และสู่ช่องแคบมะละกา จนถึงประเทศสิงคโปร์ ด้วยการขนส่งระบบราง



ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส คือ การผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ สุไหงโก-ลก-หาดใหญ่ เพื่อเชื่อม 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดฟื้นการเดินขบวนรถไฟจากสถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สถานีสุดท้ายในเขตไทย เชื่อมกับสถานีรถไฟปาเสมัส ในฝั่งมาเลเซีย ซึ่งมีรางรถไฟเดิมที่เคยเปิดเดินรถเมื่อกว่า 30 ปีก่อนอยู่แล้ว

ความหวังของการเชื่อมต่อระบบขนส่งของทั้งไทยและมาเลเซียนั้น คือการเชื่อมไทยเข้าหาตลาดใหญ่ ประชากรกว่า 2 ล้านคนในรัฐกลันตันและตรังกานูของมาเลเซีย นอกเหนือจากการเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 จากสุไหงโก-ลก ถึงเมืองรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งจัดตั้งเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือ Outlet ที่ อ.สุไหงโก-ลก


ด้านความคืบหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส อยู่ระหว่างศึกษาการก่อสร้างสะพานข้ามไปยังมาเลเซีย 2 แห่ง บริเวณด่านศุลกากรตากใบ กับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมทั้งการขยายท่าอากาศยาน และยังเตรียมศึกษาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างสุไหงโก-ลก-ปาเสมัส รัฐกลันตัน มาเลเซีย โดยจะซ่อมแซมเส้นทางรถไฟเดิมให้กลับมาใช้ได้ใหม่ เชื่อมโยงการค้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังกำหนดพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ในเขต อ.ยี่งอ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีนักลงทุนจองพื้นที่แล้ว 700 ไร่ เช่น กลุ่มน้ำตาลซึ่งเตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลและกลุ่มธุรกิจแปรรูปยางพารา


จังหวัดนราธิวาส มีด่านศุลกากร จำนวน 3 ด่าน ดังนี้

1.ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นเขตติดต่อกับเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เปิดตั้งแต่ 05.0021.00 น. ทุกวัน

2.ด่านศุลกากรตากใบ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ เป็นเขตติดต่อกับเมืองตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เปิดตั้งแต่ 06.0018.00 น. ทุกวัน


3.ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ตำบลบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง เป็นเขตติดต่อกับเมืองบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เปิดตั้งแต่ 06.00 18.00 น. ทุกวัน






----------------------



“มังคุด” ในพื้นที่ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทยอยออกผลผลิต ขณะราคา ”พุ่ง” เท่าตัว เจ้าของสวนเร่งเก็บขาย



วันนี้ (26 ก.ค. 59) ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่บ้านสีคง หมู่ที่ 7 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เร่งเก็บผลผลิตมังคุด ซึ่งมีเกือบ 300 ต้น ที่กำลังทยอยสุกในสวนผสมผสาน จำนวน 20 ไร่ เพื่อนำไปขายให้กับลูกค้าซึ่งสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนำไปวางขายปลีกที่หน้าร้านของตนเอง สร้างรายได้ให้ครอบครัว


นางล้ำเลิศ ช่วยนุกูล ชาวสวนผลไม้ กล่าวว่า ช่วงนี้ผลมังคุดเริ่มทยอยสุกมากว่า 2 อาทิตย์ แล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มาเก็บผลผลิต โดย 2 ครั้งที่ผ่านมาสามารถขายผลมังคุดได้ถึง 2,000-3,000 บาท ปีนี้ผลผลิตในสวนผลไม้ทั้งทุเรียน มังคุดลดลงไปมาก ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นผลกระทบมาจากดินฟ้าอากาศ ช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ต้นไม้ขาดน้ำทำให้ผลผลิตลด ถ้าน้ำดี ใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาดี ผลผลิตก็จะมีมาก โดยมังคุดซึ่งมีเกือบ 300 ต้น บางต้นก็ออกลูก บางต้นก็ไม่ออกลูก ผลผลิตจะน้อย ส่งผลให้ราคามังคุดเพิ่มขึ้น ปีนี้มังคุดราคาดี ขายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท ซึ่งต่างจากปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 30 บาท 3 กิโลร้อย โดยราคามังคุดที่นี่จะขึ้นลงตามราคามังคุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช


ช่วงนี้ลูกค้าสั่งซื้อมาจำนวนมาก คนละ 2-3 กิโลกรัม ตนเองและครอบครัวจะมาทยอยเก็บผลผลิตไปเรื่อยๆ 2-3 วันบ้าง วันเว้นวันบ้าง ถ้ามังคุดสุกพร้อมกันก็จะต้องเข้ามาเก็บทุกวัน แต่ละครั้งที่เก็บได้ก็ประมาณ 3-4 ตะกร้า (ตะกร้าละ 20 กิโลกรัม) ถ้ามังคุดสุกมาก ก็จะได้ 8-10 ตะกร้า สำหรับการเลือกเก็บผลมังคุดนั้น ถ้ารับประทานเลยก็จะต้องเลือกลูกที่สีแดงจัด ถ้าส่งขายก็จะเลือกลูกที่มีสีเขียวหน่อย ส่วนผลมังคุดที่ตกหล่นใต้ต้น ซึ่งมีเป็นตะกร้าก็จะนำไปแปรรูป เป็นมังคุดกวนขาย ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตมังคุดอีกทางหนึ่งด้วย


สำหรับคุณสมบัติของมังคุดที่นี่ จะมีรสชาติ หวาน อร่อย เปลือกบาง ยางไม่มี แบะเนื้อจะเป็นแก้วใส






-----------------------


วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มแปรรูปลูกหยีบาโงย รามัน จ.ยะลา


กลุ่มแม่บ้านตำบลบาโงย อ.รามัน จ.ยะลา รวมกลุ่มแปรรูปลูกหยี สร้างรายได้ยามว่าง


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เวลา 11.00 น. นางสาวสีตีคอตีเย๊าะ  ยะมาแล เกษตรประจำตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ที่บ้านเลขที่ 79 หมู่ 2 บ้านยือโร๊ะ ตำบลบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปลูกหยีบาโงย โดยมี นางสาวอุสนา  การี ประธานกลุ่มฯ และสมาชิกอีก 7 คน ร่วมกันดำเนินการ โดยการนำวัตถุดิบอย่างลูกหยีที่มีในพื้นที่ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิกในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ





ทั้งนี้จุดเด่นผลิตภัณฑ์ลูกหยีแปรรูปของกลุ่มบาโงย คือ รสชาติที่กลมกล่อม หวาน เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด โดยการเลือกใช้ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นอย่างลูกหยี บวกกับ น้ำสะอาด เกลือ น้ำตาลปี๊บ พริกสด แบะแซ และน้ำตาลทราย มาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้คนในชุมชน อีกทั้งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ทั้งนี้สามารถแปรรูปลูกหยีผลสดที่มีปริมาณมากในพื้นที่ ให้เป็นลูกหยีฉาบ และลูกหยีกวน ได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน โดยจำหน่ายจำหน่ายในราคาถุงละ 20, 30, 50 และ 100 บาท ผู้ที่สนใจสั่งซื้อสามารถจะติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวอุสนา  การี หมายเลขโทรศัพท์ 09 - 3635 - 0782