วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ศธ.เดินหน้าปรับการศึกษา 3 จว.ใต้ รุกวิชาชีพ-ฟื้นวิชาการ-ร่วมพหุวัฒนธรรม


นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้สัมภาษณ์ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีสัดส่วนเด็กเข้าเรียนมากกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ร้อยละ 60 ต่อ 40 จะเรียนอิสลามศึกษาและวิชาสามัญ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม ลักษณะเดียวกับโรงเรียนของรัฐบาล

        แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ นักเรียนมีจุดอ่อนในเรื่องของภาษาไทย โดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) อย่างไรก็ตามแม้ผลโอเน็ตในปี 2558 จะดีขึ้น แต่พบว่า พื้นที่ดังกล่าวยังคงมีคะแนนเฉลี่ยน้อยมากหากเทียบกับทั้งประเทศ

        “คนในพื้นที่เกิดความหวาดระแวงว่า ส่งเสริมการใช้ภาษาอื่นเยอะ จะให้เขาทิ้งอัตลักษณ์ภาษามลายูท้องถิ่นหรือเปล่า อยากบอกว่า ไม่นะครับ เรายังส่งเสริมให้รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่ เพราะเกิดมาก็พูดภาษามลายู ทำให้ความเข้าใจภาษาไทยมีน้อย ส่งผลต่อการอ่านโจทย์ให้เข้าใจ การอธิบายความก็ไม่ดี ผลการสอบโอเน็ตก็จะน้อย” นายอดินันท์กล่าว

        การจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาภาษาไทยอ่อนในโรงเรียน ช่วงเริ่มต้นจะใช้รูปแบบค่อยเป็นค่อยไป การสอนภาษาไทยในพื้นที่ไม่ง่ายเหมือนกับภาคอื่นๆ ของประเทศ ครูต้องได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะการสอนภาษาไทยสำหรับเด็กที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือ พหุภาษา
ส่วนปัญหานักเรียนออกกลางคัน เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลปี 2556-2557 ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า มีนักเรียนออกกลางคันลดลง ประมาณร้อยละ 0.2 ถือว่าน้อยมาก

         นายนพพร มากคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ระบุว่า ปัญหาเด็กที่ออกกลางคัน เกิดจากพ่อแม่มีฐานะยากจน ต้องย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งไปทำงานรับจ้างในต่างจังหวัด หรือมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็งขึ้น เช่น แนะแนว การรู้จักนักเรียนรายบุคคลเพื่อให้รู้กลุ่มเสี่ยง ให้ทุนการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนอาหารเช้าและอาหารกลางวันในบางโรงเรียน ทำให้แนวโน้มเด็กออกกลางคันลดลง

        “ปัญหาส่วนมากจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่เด็กขาดความพร้อม จึงพยายามให้ทุนการศึกษา จัดทำระบบช่วยเหลือทั้งระบบ ตั้งแต่ความเป็นอยู่ การทำความรู้จักเด็ก ครอบครัว เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบให้มาก” นายนพพรกล่าว

        ด้านข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า เด็กในพื้นที่มีแนวโน้มเรียนสายสามัญและสายอาชีพ มากกว่าสายศาสนา เพราะต้องการความก้าวหน้าในอาชีพและรายได้ โดยสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพฯ

         ขณะนี้ สช.กำลังพัฒนาหลักสูตรบูรณาการ 70:30 ให้น้ำหนักวิชาสามัญร้อยละ 70 และวิชาศาสนาร้อยละ 30 สำหรับผู้ที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาสายสามัญ โดยนำร่องในโรงเรียน 33 แห่ง พบว่าคะแนนโอเน็ตของนักเรียนเพิ่มขึ้นในทุกระดับชั้น

         จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และ เทพา มีประชากรกว่า 2,600,000 คน นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ร้อยละ 83 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 16 และนับถือศาสนาอื่นๆ อีกร้อยละ 1 มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความคิด ความเชื่อ การดำเนินชีวิต และศาสนา เรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่งต้องมีการปรับการจัดการศึกษาให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของพื้นที่

        กระทรวงศึกษาธิการตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ทำงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานทางการศึกษา เน้นภารกิจ 6 ด้าน คือ

        1.ยกระดับคุณภาพโอเน็ตและผลการทดสอบมาตรฐานอิสลามศึกษา (ไอเน็ต) ที่ใช้ในการเรียนต่อด้านศาสนา ให้สูงขึ้น
        2.นำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องที่เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา โดยเปิดโรงเรียนกีฬา 6 แห่ง ให้เด็กเรียนและกินอยู่ฟรี
        3.การเสริมสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา พยายามให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษามากที่สุด โดยดูแลเป็นรายบุคคล
        4.การดูแลความปลอดภัยครู บุคลากร นักเรียน และสถานศึกษา โดยคาดหวังผล 100 เปอร์เซ็นต์
        5.เด็กได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความมั่นคงก้าวหน้า
        6.การสร้างอาชีพ โดยให้นักเรียนและประชาชนได้ฝึกอาชีพระยะสั้น โดยสำรวจอาชีพที่ทางโรงเรียนต่างๆและนักเรียนให้ความสนใจ เช่น ซ่อมรถจักรยานยนต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น