วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ชาวไทยมุสลิมใน 3 จชต. และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางไปชมกุโบร์และมัสยิด โผล่ทะเลสาบฮาลาบาลา หลังน้ำลดจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดยะลา


ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจำนวนมากต่างเดินทางไปเยี่ยมชม หรือสุสาน เป็นสถานที่ฝังศพของชาวมุสลิม และมัสยิดอิสลามียะห์ หมู่บ้านโต หมู่บ้านในตำนาน ที่โผล่ริมน้ำทะเลสาบฮาลาบาลา บริเวณใต้สะพานข้ามทะเลสาบเขื่อนบางลาง บ้านฆอแย หมู่ที่ 5 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา หลังจากพื้นที่เหนือน้ำของเขื่อนบางลางซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่น้ำปัตตานีตอนบนน้ำลดจนถึงแห้งขอดในบางจุด จนสามารถมองเห็นตัวอาคาร พื้นดินด้านล่าง และตอต้นไม้ขนาดใหญ่แห้งตายเรียงรายจำนวนมากได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดยะลา ทำให้พ่อค้า แม่ค้า ต่างนำอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าต่างๆมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว รวมถึงบริการเรือโดยสารข้ามฟากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม หลังราคายางตกต่ำ


นายสุรเดช สิงห์บูรพา ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า ในพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่จะจมอยู่ใต้ทะเลสาบฮาลาบาลา เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ฝรั่งชาวอังกฤษ ได้เข้ามาบุกเบิกทำกิจกรรมเกี่ยวกับแร่ดีบุก โดยมีชาวบ้านในพื้นใกล้เคียงที่มาเป็นลูกจ้างแรงงานเป็นหลัก จนกลายมาเป็นหมู่บ้านโต มีการค้าขายอย่างรุ่งเรือง รวมทั้งมีโรงเรียน มัสยิด วัด สุสาน โรงพัก อนามัย ในอดีตเวลาเดินทางจาก อำเภอยะรม ในสมัยนั้นหรืออำเภอเบตง ในปัจจุบันนี้ เดินทางไปตัวจังหวัดยะลา หรือจากจังหวัดยะลาจะไปอำเภอเบตง การเดินทางค่อนข้างลำบาก จะต้องมาแวะพักระหว่างทาง ณ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบางลางเมื่อปี 2524 กว่า 36 ปี ปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าว ได้ย้ายถิ่นฐานบ้านเรือน ไปตั้งรกรากที่ หมู่ 5 บ้านฆอแย หมู่ 6 บ้านสันติ 2 และหมู่ 7 บ้านคอกช้าง ในอำเภอธารโต จ.ยะลา ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำ กว่า 36 ปี แต่เมื่อคราวถึงในช่วงหน้าแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง จะสามารถมองเห็นซากปรัก และสถานที่สำคัญต่างๆของหมู่บ้านแห่งนี้ จนทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในพื้นที่


นายสุรเดช กล่าวอีกว่า หลังจากมีการแชร์ภาพสถานที่ดังกล่าวในโลกโซเชียล และสื่อมาเสนอข่าว ก็ทำให้มีชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เดินทางไปเยี่ยมชม กุโบร์หรือสุสาน และมัสยิดอิสลามียะห์ ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่ในพื้นที่ ที่ยังคงหลงเหลือเสาอาคารมัสยิด และบาตูแนแซ หรือป้ายหินปักหลุมฝังศพ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ กุโบร์สำหรับป้องกันการเหยียบหรือ นั่งทับ และที่เห็นชัดคืออาคารโรงแร่ดีบุกที่อยู่ใกล้กุโบร์ ที่ยังคงเห็นโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านจึงได้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่มาสถานที่แห่งนี้ ขอให้ความเคารพและให้เกียรติกูโบร์ หรือสุสานในฐานะสาธารณะสมบัติของชุมชน มุสลิมทุกคนที่เดินผ่านสุสาน หรือกูโบร์ของชาวมุสลิม ต้องกล่าวให้ซาลาม และขอดุอาฮ และห้ามส่งเสียงดัง หรือพูดจาร่าเริง และขอให้สตรีมุสลิมหรือคนต่างศาสนิกห้ามเข้าเขตกูโบร์ ที่ชาวบ้านทำสัญลักษณ์แบ่งเขตเอาใว้


ด้านนางสาวไลลา นักท่องเที่ยว กล่าวว่า เนื่องจากกุโบร์หรือสุสาน และมัสยิดอิสลามียะห์ เป็นสถานที่โบราณที่มีคุณค่าทางจิตใจ และมีความสำคัญด้านต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ ก็ขอให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ไม่ควรทิ้งขยะมูลฝอย หรือสิ่งปฏิกูลที่ก่อให้เกิดความสกปรกแก่สถานที่แห่งนี้และช่วยกันรักษาความสะอาด และห้ามกระทำการใดๆ ที่ทำให้สถานชำรุดและเสียหายโดยเด็ดขาด อาจแตกหักหรือพังทลายได้ง่าย








-------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น