วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กรณีทหารพรานกับลูกสาวชาวบ้าน ชนวนความขัดแย้งใหม่ในปาตานี?

ดาราณี ทองศิริ
ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู


จากเหตุการณ์ทหารพรานสองนายลักลอบพบปะกับหญิงสาวชาวมุสลิมในพื้นที่โรงเรียนตาดีกา จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจและออกมาประท้วงให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมาขอโทษและลงโทษทางวินัยกับทหาร ดังที่เป็นข่าวใหญ่ในพื้นที่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาที่ผ่านมา

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากกลุ่มต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการออกมาแถลงจาก กอ. รมน. ภาค 4 เรื่องกฎเหล็กห้ามกำลังพลก่อเรื่องชู้สาวในพื้นที่ หรือการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในสามจังหวัดที่ออกมารณรงค์ให้ปกป้องสิทธิสตรีและโจมตีการกระทำของทหารว่าเป็นการพยายามกลืนชาติพันธุ์มลายู รวมไปถึงกระแสการกล่าวโทษหญิงสาวมุสลิมที่แหกขนบจารีตทางศาสนา เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันทั้งในกลุ่มของคนมลายูมุสลิมเองและระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิมที่อยู่ทั้งในและนอกพื้นที่ซึ่งได้ติดตามข่าว

แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานี เพราะที่ผ่านมามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
เมื่อพิจารณาจากข้อถกเถียงของหลายฝ่าย พบว่าข้อถกเถียงนั้นตั้งอยู่บนมิติที่หลากหลาย ซึ่งอาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้


มิติทางการเมือง
การกลืนชาติหรือการทำลายชาติพันธุ์

ใครที่ติดตามประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคนมลายูปาตานีกับรัฐไทย จะทราบว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์อยู่สูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่มีการบังคับให้พูดภาษาไทย แต่งกายแบบไทย เข้าโรงเรียนแบบไทย จนกระทั่งความเป็นมลายูนั้นถูกกลืนหายไปอย่างเป็นระบบ การพยายามต่อสู้เพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นมลายู ผ่านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามต่อสู้เรื่องการกำหนดชะตากรรมตนเองของคนมลายูปาตานีที่มีต่อรัฐไทย

เมื่อเกิดเหตุการณ์เชิงชู้สาวระหว่างหญิงสาวชาวมุสลิมกับเจ้าหน้าที่ทหารไทย ประเด็นที่ดูเหมือนจะเป็นแค่เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว จึงถูกขยายให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง และหยิบยกมาใช้โจมตีฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร โดยกล่าวอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือวิธีการหนึ่งในการพยายามทำลายชาติหรือการกลืนชาติพันธุ์มลายูปาตานี แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในสงครามจากหลายๆประเทศในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในอินโดนีเซีย จีน เยอรมัน หรือที่อื่นๆในโลกนี้ที่มีสงคราม ซึ่งวิธีการหนึ่งในยุทธวิธีการทำสงครามคือการข่มขืนหรือบังคับผู้หญิงของศัตรูมาเป็นภรรยา



แต่ความแตกต่างในรายละเอียดนั้นเป็นสิ่งที่นักต่อสู้หรือนักกิจกรรมในปาตานีควรจะต้องระมัดระวังก่อนที่จะใช้ข้อกล่าวหานี้ในการโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะการใช้วิธีนี้ในการทำสงคราม มีรายละเอียดและมีระบบแบบแผนที่ชัดเจน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดนั้นเป็นเรื่องระหว่างปัจเจกบุคคลหรือนโยบายทางทหาร? สิ่งนี้เป็นข้อแตกต่างที่ต้องระวังจะกลายเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงและรังแต่จะทำให้เพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งมากขึ้น

ความอ่อนไหวในพื้นที่ความขัดแย้ง

เมื่อพูดถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่นี้มีความขัดแย้งมายาวนานจนถึงปัจจุบัน รัฐไทยส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาประจำการในพื้นที่จำนวนมาก รวมไปถึงงบประมาณในแต่ละปีที่ใช้ในการแก้ปัญหาก็สูงมากเช่นกัน การเฝ้าจับตามองการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจากชาวบ้านในพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนมากกว่าที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา  ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากซึ่งในภายหลังพบว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด รวมไปถึงข้อผิดพลาดในการเข้าจับกุมผิดตัวจนเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ถึงแก่ชีวิต การละเมิดสิทธิในเรื่องการบังคับตรวจดีเอ็นเอ ปัญหาการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย การคุกคามนักกิจกรรมหรือนักสิทธิที่ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกละเมิดหรือถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพลักษณ์ของทหารในสายตาของชาวบ้านในพื้นที่จึงไม่ใช่ในทางที่ดีนักและเต็มไปด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้ใจต่อกันและกัน


เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะกรณีทหารกับหญิงชาวมุสลิมในพื้นที่ ย่อมทำให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ทหารมากขึ้น และหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไป อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งในสามจังหวัดซึ่งเดิมก็เต็มไปด้วยปัญหาที่ยุ่งเหยิงและซับซ้อนอยู่แล้ว  การออกกฎเหล็กจาก กอ. รมน. ในการห้ามกำลังพลก่อปัญหาเรื่องชู้สาวนั้นเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่การพยายามทำความเข้าใจความละเอียดอ่อนทางศาสนาและหลักการต่างๆในศาสนาอิสลาม อาจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรเป็นนโยบายส่งตรงไปยังทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ซ้ำอีก

มิติทางศาสนา
สถานที่ทางศาสนา

เหตุการณ์ในจังหวัดยะลาที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นต่อกรณีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับหญิงสาวชาวมุสลิม แต่สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง คือการกระทำผิดประเวณีนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งก็คือโรงเรียนตาดีกา อันเป็นโรงเรียนสอนศาสนาของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งสำหรับชาวบ้านแล้วพื้นที่นี้คือส่วนหนึ่งของศาสนา และศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมได้ การเข้าไปลักลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับหญิงสาวชาวมุสลิม ในความรู้สึกของชาวบ้านจึงถือเป็นการหยามหมิ่นศาสนาและไม่ให้ความเคารพพื้นที่ทางศาสนา ไม่ว่าจะมองจากมุมใด ก็ไม่อาจยอมรับการกระทำนี้ได้ แม้คู่ความสัมพันธ์นั้นจะเป็นคนในศาสนาด้วยกันเองก็ตาม หากกระทำแบบเดียวกันก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน

การทำซีนาหรือการผิดประเวณี

ทำไมการลักลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันระหว่างหนุ่มสาวจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวบ้านไม่อาจยอมรับได้ เพราะในหลักการอิสลาม มีบัญญัติห้ามไว้ว่าหญิงชายที่ไม่ใช่คู่สามีภรรยา หากมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวต่อกันนั้นถือเป็นการกระทำที่เป็นบาปหนัก การแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามเท่านั้นที่อนุญาตให้หญิงชายสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกันได้ นอกจากนี้หากคนต่างศาสนาจะร่วมชีวิตกับคนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามด้วย ไม่ว่าชายหรือหญิงก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกเหนือไปจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับคนมลายูปาตานีแล้ว การทับซ้อนกันระหว่างมิติศาสนาและการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้ความขัดแย้งนั้นบานปลายมากขึ้นได้

มิติทางเพศ
การให้ความยินยอม

โดยทั่วไปแล้ว หากผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทางกฎหมาย มีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลใดก็ตาม หากมีการฟ้องดำเนินคดี ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เยาว์ก็อาจถูกดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์ได้ รวมไปถึงหากการมีความสัมพันธ์ทางเพศนั้นไม่ได้เกิดจากการยินยอม แต่เกิดจากการบังคับขืนใจ ก็อาจถูกฟ้องดำเนินคดีในฐานกระทำความผิดทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ใช่การล่วงละเมิดทางเพศ แต่เป็นการให้ความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายในการมีความสัมพันธ์กัน และหญิงสาวชาวมุสลิมก็บรรลุนิติภาวะแล้วทั้งคู่ กรณีนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศจากเจ้าหน้าที่ทหาร และในขณะเดียวกัน การรุมประณามด่าทอหญิงสาวทั้งสองคนก็ไมได้ช่วยแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่จะยิ่งซ้ำเติมให้บุคคลนั้นไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและอาจทำให้เกิดการตีตราจากชุมชนได้ ดังนั้นการใช้คำว่าเจ้าหน้าที่ทหารล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวชาวมุสลิมตามที่นักกิจกรรมบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวนั้น จึงต้องระมัดระวังในข้อกล่าวหานี้ เพราะคงไม่ใช่ทุกกรณีนี้เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ควรมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาก่อนการกล่าวโทษร้องเรียน

การปกป้องหรือการควบคุม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีผู้ชายมลายูมุสลิมจำนวนมากที่รู้สึกโกรธแค้น และออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมจัดการและลงโทษเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ทหาร โดยอ้างอิงถึงหลักการปกป้องสิทธิสตรีปาตานี  วาทกรรมสิทธิสตรี การปกป้องผู้หญิง ถูกนำมาใช้การทำการรณรงค์ในหลายรูปแบบ สิ่งที่น่าสนใจคือ การมองว่าผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับทหารไทยนั้น เป็นการหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ชายชาวปาตานี จึงจำเป็นจะต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงของแผ่นดินปาตานีกลายเป็นผู้หญิงของทหารไทย โดยเฉพาะการมองว่าผู้หญิง เป็นของ ชนชาติ ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นการมองผู้หญิงด้วยความรู้สึกของการ เป็นเจ้าของ และการถูกฝ่ายตรงข้ามช่วงชิงไป จึงเป็นการ สูญเสีย ทั้งเกียรติ ศักดิ์ศรี และ อำนาจ ในการควบคุมจัดการเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงซึ่งควรจะอยู่ในการดูแลของฝ่ายตนเอง การมองและคิดเช่นนี้คือการไม่ยอมรับอำนาจในการตัดสินใจของผู้หญิงและเป็นวิธีคิดที่อยู่ภายใต้ความเป็นชาย (Musculinity) กับความเป็นชาตินิยม (Nationalism)

ความรุนแรงในบ้าน

ในขณะที่คนจำนวนมากให้ความสนใจกรณีทหารพรานกับหญิงสาวมุสลิมจนกลายเป็นกระแสปกป้องสิทธิสตรีปาตานี แต่ขณะเดียวกันการละเมิดสิทธิสตรีที่เกิดขึ้นในชุมชนมุสลิมเอง กลับไม่มีการพูดถึงในแง่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากการกระทำความรุนแรงของสามีต่อภรรยา หรือระหว่างคู่ชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ชุมชนมุสลิมเองไม่อยากพูดถึงและมักกลบเกลื่อนปัญหาด้วยการใช้วิธีไกล่เกลี่ยโดยผู้นำทางศาสนา ถึงที่สุดแล้วผู้หญิงจำนวนมากจำต้องทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องการ แต่ไม่อาจหย่าร้างได้ ด้วยเหตุผลและจารีตต่างๆ ซึ่งถูกอธิบายผ่านหลักการทางศาสนาโดยผู้รู้ทางศาสนาเอง 

สิทธิสตรีด้านเดียว?

นอกจากกรณีความรุนแรงในครอบครัว ยังมีกรณีการบังคับแต่งงาน การควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงผ่านการแต่งกาย การแสดงออกทางร่างกาย เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงมุสลิมคนใดไม่สวมคลุมฮิญาบหรือเปิดเผยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ผู้ชายมลายูมุสลิมจำนวนมากจะทำการรุมด่าทอผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ กระทั่งใช้ข้อความทำนองขับไล่ให้ออกไปจากแผ่นดินปาตานี ดังนั้นสิทธิสตรีที่นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร จึงเป็นสิทธิสตรีเพียงด้านเดียวที่ถูกเลือกใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายมลายูมุสลิมที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีจะเข้าใจคำว่า สิทธิสตรี ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดที่สิทธิสตรีในแบบที่ผู้หญิงมุสลิมบางคนเรียกร้องไปขัดต่อความเชื่อของตนเอง ผู้ชายกลุ่มนี้ก็พร้อมจะตีตราและกลายเป็นตำรวจศีลธรรมโดยอ้างหลักการทางศาสนา มาใช้ประณามหรือตีตราผู้หญิงที่พ้นไปจากขนบจารีตในแบบที่ตัวเองต้องการในทันที

มิติความเป็นปัจเจกกับความเป็นชุมชน
ความรักข้ามชาติพันธุ์และศาสนา

ข้อเท็จจริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีกรณีความสัมพันธ์ระหว่างทหารไทยกับหญิงสาวมลายูมุสลิมนั้นมีอยู่ให้เห็นโดยทั่วไป หลายกรณีหญิงสาวเลือกที่จะหนีตามชายหนุ่มออกไปจากพื้นที่สามจังหวัด กระทั่งครอบครัวต้องหาทางตามตัวกลับมาโดยพาผู้นำทางศาสนาไปตามตัวกลับมาด้วย บางรายก็ยอมกลับ บางรายก็ไม่ยอมกลับ และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะออกจากศาสนาอิสลามไปอยู่กินสร้างครอบครัวกับทหารหนุ่มที่บ้านเกิดทางแถบอีสานหรือภูมิภาคอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีทหารที่เลือกจะเข้ารับอิสลามและแต่งงานถูกต้องตามหลักการอิสลาม

ดังนั้นความรักระหว่างคนต่างศาสนาและชาติพันธุ์ในสามจังหวัดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ปัญหาคือความไม่ใส่ใจหรือการให้ความสำคัญกับความอ่อนไหวในเชิงพื้นที่และเชิงศาสนามากเพียงพอ จนเกิดกรณีล่าสุดนี้ขึ้นมา

หน้าที่กับเรื่องส่วนตัว

เนื่องจากทหารนอกพื้นที่ถูกส่งเข้ามาปฏิบัติการประจำในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งประเด็นความอ่อนไหวทางการเมืองและชาติพันธุ์อันเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทหารทุกนายมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและวินัยทหารอย่างเคร่งครัด แต่การพบรักกับผู้หญิงมลายูมุสลิมถือเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ เป็นคำถามสำคัญที่สังคมโดยรวมอาจต้องพยายามหาข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารนั้นมีความสัมพันธ์กับชุมชนมลายูมุสลิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการเคารพหลักปฏิบัติของชุมชนก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพและลดความขัดแย้งด้วย ดังนั้นก่อนตัดสินใจกระทำการใดๆอันมีความเกี่ยวเนื่องกับคนในชุมชน เจ้าหน้าที่ทหารควรต้องใช้วิจารณญาณประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและใส่ใจความถูกต้องตามหลักศาสนาให้มากขึ้นกว่าเดิม หากไม่อยากให้เกิดกรณีการต่อต้านเจ้าหน้าที่ทหารด้วยเรื่องประเด็นทางชู้สาวกับผู้หญิงในชุมชนมุสลิม ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว.


ที่มา: http://prachatai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น