วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สลามัตฮารีรายอ วันรายออีฎิ้ลฟิตริ

 “สลามัตฮารีรายอ”เป็นคำอวยพรแสดงความยินดีของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา 2 วัน คือ วันรายออีฎิ้ลฟิตริ วันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นการฉลองวันออกฮัจญ์ของผู้แสวงบุญ ที่นครเมกกะ ในวันดังกล่าวผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จะไปรวมตัวทำพิธีละหมาดที่มัสยิด ฟังคุตบะห์ และขอพรจากอัลลอฮฺเพื่อเป็นศิริมงคล ตลอดจนการแสดงความยินดีซึ่งกันและกัน   มีการเลี้ยงอาหาร และเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง วันรายอ นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งความสุขด้วย  ในวันดังกล่าวเราจะได้ยินคำอวยพรว่า“สมามัติฮารีรายอ มาอัฟศอเฮร ดันบาเฏน” ซึ่งมีความหมายว่า“ขอให้มีความสุขเนื่องในวันรายอ และขออภัยในความผิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง” 
      วันรายออิฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่ 10 ต่อจากเดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช นับทางจันทรคติโดยการสังเกตการปรากฏขึ้นของดวงจันทร์ทางทิศตะวันตกตอนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อเห็นดวงจันทร์ลักษณะเสี้ยวขึ้น 1 ค่ำ เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นเดือนใหม่ ชาวมุสลิมจะยุติการถือศีลอดและเข้าสู่วันอิฎิ้ลฟิตริ ด้วยการสรรเสริญพระเจ้าทั้งที่บ้านและมัสยิดตั้งแต่ตอนกลางคืน และจะรีบทำการบริจาคทานฟิตเราะห์ ให้เสร็จสิ้นก่อนการละหมาดในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจากการถือศีลอด อันเป็นที่มาและความสำคัญของวันรายออิฎิ้ลฟิตริ หรือวันรายอฟิตเราะห์นั่นเอง  


      การปฏิบัติในวันดังกล่าว มุสลิมจะตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ทำความสะอาดตกแต่งบ้านให้สวยงาม ตลอดจนทำความสะอาดร่างกายพร้อมกับอาบน้ำสุนัตกล่าวดุอาร์ขอพรในขณะอาบน้ำ หลังจากนั้นจะแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายที่ใหม่และสะอาด เดินทางไปยังมัสยิดเพื่อร่วมละหมาด ในระหว่างรอการละหมาดจะมีการกล่าวซิเกร์สรรเสริญอัลลอฮฺ อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งอิหม่ามเริ่มดำเนินการนำการละหมาด ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 8.30 น. ขณะละหมาดทุกคนจะสำรวมจิตใจแน่วแน่มุ่งตรงต่ออัลลอฮฺ เมื่อละหมาดครบ 2 รอบ และให้สลาม อิหม่ามจะอ่านคุตบะห์  นำคำสอนการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต ย้ำเตือนการทำความดีละเว้นความชั่ว ประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางของศาสนา ผู้ฟังจะอยู่ในอาการสำรวม สงบนิ่ง และเมื่ออ่านคุตบะห์จบจะขอพรจากอัลลอฮฺ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี ทุกคนจะลุกขึ้นแสดงความยินดีและขออภัยในความผิดที่มีต่อกัน เกิดบรรยากาศที่อบอวลด้วยความสุข ความอบอุ่น อวยพรและมอบความสุขให้แก่กัน บรรดาลูกๆ จะขออภัยต่อพ่อแม่ แสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้ม ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นวันแห่งความสุขที่เกิดขึ้นหลังจากมุ่งมั่นทำความดีในเดือน รอมฎอน ตลอดทั้งเดือน  
  
    สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ แต่ละบ้านจะมีการเตรียมอาหาร ขนมคาวหวาน สำหรับเลี้ยงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยือน และใช้สำหรับนำไปเป็นของฝากเมื่อไปเยี่ยมผู้อื่น นอกจากขนมคาวหวานแล้ว ชาวมุสลิมที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ยังนิยมทำ“ตูปะ”(ขนมต้ม) พร้อมกับแกงเนื้อเป็นของคู่กันประจำเทศกาล ไว้ต้อนรับและมอบเป็นของฝากกันและกัน ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติมาจนปัจจุบัน  
       ส่วนวันรายออีฎิ้ลอัดฮา เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองการประกอบพิธีฮัจญ์ ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะญ์  ตรงกับห้วงที่ผู้แสวงบุญกำลังประกอบพิธี ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย มุสลิมที่อื่นๆ ทั่วโลกที่ไม่ได้ร่วมพิธีดังกล่าวจะทำพิธีละหมาดอีฎิ้ลอัดฮาที่มัสยิด เช่นเดียวกับละหมาดอีฎิ้ลฟิตริ มีการอ่านคุตบะห์ สำหรับคุตบะห์วันรายอ อีฎิ้ลอัดฮา จะนำเรื่องการกุรบานครั้งยิ่งใหญ่ในอิสลามซึ่งเกิดขึ้นกับศาสดาอิบราเฮมที่มีความภักดีต่ออัลลอฮฺ  ถึงขนาดยินยอมจะสละชีพบุตรชาย คืออิสมาแอล เพื่ออัลลอฮฺ ให้มุสลิมได้ระลึกถึง และตระหนักถึงความศรัทธาและเสียสละอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ควรรับรู้ ซึ่งปัจจุบันบางแห่งมีการจัดละหมาดกลางแจ้งเพื่อรองรับผู้ละหมาดจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการละหมาดเพื่ออ่านคุตบะห์ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมุสลิมให้ได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม เสร็จสิ้นการละหมาดก็จะรีบทำการกุรบานเชือดสัตว์แจกจ่ายเป็นทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาประกอบอาหารเลี้ยงคนหมู่บ้านหรือในละแวกเดียวกัน  
        นอกจากวันรายออีฎิ้ลฟิตริ และวันรายออีฎิ้ลอัดฮา ตามหลักศาสนาแล้ว  ในบางพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการปฏิบัติที่เรียกว่าวันรายออีกครั้ง โดยจะปฏิบัติในวันที่ ๘ เดือนเซาวาล หลังวันรายอฟิตเราะห์ เรียกว่า “รายอแน” หมายถึงรายอ 6 ซึ่งไม่กำหนดในศาสนาและไม่มีการละหมาด แต่เนื่องจากในห้วง 6 วันดังกล่าวผู้ที่ขาดการถือศีลอดจะถือศีลอดชดเชย อีกทั้งเป็นการถือศีลอดสุนัต เมื่อครบกำหนดจะถือโอกาสเป็นวันรายออีกครั้ง ด้วยการทำอาหาร รวมทั้งตูปะ ไปทำกิจกรรมที่กุโบร์ (สุสาน) ร่วมพัฒนาทำความสะอาด เลี้ยงอาหารและร่วมดุอาร์ขอพรให้กับผู้ล่วงลับ เป็นการปฏิบัติที่แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อเมื่อครั้งอดีตและยังคงปฏิบัติในบางแห่งในปัจจุบัน      
        แม้ว่าวันรายอจะถูกกล่าวว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองในวันออกบวช หรือออกจากพิธีฮัจญ์ แต่ศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานจนลืมตัว หากแต่ให้ปฏิบัติในขอบเขตของศาสนา และแบบอย่างของศาสดา มีความสำรวม ระลึกถึงอัลลอฮฺ ทำความดี มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพราะอิสลามถือว่าทุกเชื้อชาติล้วนเป็นประชาชาติเดียวกัน   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น