วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ขุนเขา น้ำใส ที่น้ำตกทรายขาว

“น้ำตก” ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวมากมายต่างพากันหลงใหล ด้วยสายน้ำที่เย็นเฉียบ สัมผัสเมื่อไหร่รับรองว่าสดชื่น ยิ่งช่วงหน้าร้อนแบบนี้ หากได้ลองกระโดดน้ำให้น้ำกระจายเสียงดัง ‘ตู๊มมมม’แล้วล่ะก็ รับรองว่าอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานและความร้อนอบอ้าวที่ติดตัวมาจะต้องจางหายไปแน่นอน บทความนี้ข่าวภาคใต้ชายแดนจึงขอหยิบยกเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเชื่อมโยงกับน้ำตกมานำเสนอนั่นก็คือ ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นั่นเอง


      ก่อนจะพาไปเที่ยวขอบอกถึงจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ก่อนว่า ที่นี่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นอัตลักษณ์เฉพาะสังเกตได้จากความสามัคคีของชุมชนที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยไม่มีความขัดแย้งระหว่าง 2 ศาสนา จนได้เป็นหนึ่งใน 5 ชุมชนเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยทีเดียว


      การท่องเที่ยวชุมชนทรายขาวในครั้งนี้ของเราจะเป็นแบบทริป 2 วัน 1 คืน โดยเราได้เดินทางจากตัวเมืองปัตตานีเข้าสู่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ ในช่วงบ่ายๆ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที มาถึงที่แล้วไม่รอช้าไปโดดน้ำคลายร้อนกันก่อนที่อุทยานน้ำตกทรายขาว ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ สร้างความร่มรื่น เย็นสบาย ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่น้ำตกเลยทีเดียว น้ำตกทรายขาวเป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ ต้นน้ำไหลมาจากยอดเขานางจันทร์ บนเทือกเขาสันกาลาคีรี มีความสูงถึง 40 เมตร สายน้ำของน้ำตกที่ไหลลงสู่เบื้องล่างผ่านโขดหินน้อยใหญ่ ทำให้เกิดความคดเคี้ยวลดหลั่งของสายน้ำเป็นชั้นๆ เกิดเป็นแอ่งน้ำหลายแอ่งที่มีขนาดใหญ่และลึก บางจุดไหลผ่านหน้าผาที่สูงชันเห็นสายน้ำสีขาวโพลนสวยงาม โดยมีทั้งหมด 10 ชั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังน้ำตกด้วยการเดินทางเท้าคอนกรีตที่มีความสะดวกสบายพร้อมกับการสัมผัสธรรมชาติสองข้างทางของธารน้ำตก สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก


      หลังจากเล่นน้ำกันเสร็จแล้วก็เดินทางไปยังที่พัก หลายคนอาจะนึกถึงรีสอร์ทสวย หรูๆ หยุดความคิดนั้นไปได้เลย เพราะที่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพราะฉะนั้นที่พักของเราคือ “โฮมสเตย์” ชุมชนทรายขาวแห่งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมที่พักให้นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แบบสังคมชนบท ได้สัมผัสกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นกับความเป็นกันเองของชาวบ้าน ได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันทำอาหารพื้นบ้านของที่นี่ และนั่งรับประทานอาหารมื้อค่ำด้วยกัน ถือเป็นความสนุกสนานที่หาได้ยากในสังคมเมือง


 ทริปนี้ยังไม่จบ โปรแกรมต่อไปเราจะพาไปชมทะเลหมอกและชมความงามของดาวบนดิน ที่จุดชมวิวเขาลูกช้าง โดยเริ่มออกเดินทางกันตั้งแต่เช้าตรู่ เวลา 05.00 น. ซึ่งความโดดเด่นของการท่องเที่ยวชุมชนทรายขาวอีกอย่างหนึ่ง คือ การนั่ง “รถจิ๊บ” ชมความสวยงามของธรรมชาติ ระหว่างทางเราจะสัมผัสกับการเย็นสดชื่นจากผื่นป่า ได้ยินเสียงนกร้องต้อนรับยามเช้าตลอดสองข้างทาง จุดชมวิวเขาลูกช้างตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร สามารถสัมผัสความงดงามของทะเลหมอกที่มีความสวยไม่แพ้ที่ใด เมื่อม่านหมอกค่อยๆจางลงเราก็เห็นความงามของดาวบนดิน ซึ่งเป็นแสงไฟจากบนท้องถนน หรือตามบ้านเรือน ที่ส่องแสงระยิบระยับ เป็นหย่อมๆ สวยงามมากเลยทีเดียว และที่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งขององค์พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางยมกปาฏิหาริย์ ที่สร้างขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวใจของชาวบ้าน


      หลังจากชมความงามที่จุดชมวิวเขาลูกช้างแล้ว เราเดินทางลงสู่ยอดเขาโดยระหว่างทางจะพบกับความมหัศจรรย์ของหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายงู ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ผาพญางู ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพญางูที่ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองความปลอดภัยให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จากนั้นเดินทางเท้าขึ้นไปทางด้านบนของหน้าผาเล็กน้อยจะเป็นสถานที่ที่ประดิษฐ์สถานของพระพุทธรูปแก่นไม้ลั่นทม อายุกว่า 200 ปี ซึ่งเชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยถูกใช้เป็นที่วิปัสสนาของ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ในอดีตมาแล้ว จากนั้นเดินทางลงมายังชุมชนเพื่อมาชมความงดงามของวัดทรายขาว และ มัสยิดโบราณ ที่มีอายุ 300 กว่าปี จากนั้นได้เดินทางไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นกลุ่มแม่บ้านที่รวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กล้วยเส้นแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มแขก และถ้าเราเดินทางมาในช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะเป็นฤดูผลไม้ เราจะได้เดินชมพร้อมชิมผลไม้สดจากสวน ซึ่งผลไม้ที่โดดเด่นและโด่งดังของที่นี่คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่ได้ชื่อว่าเป็น“ทุเรียนทรายขาวพรีเมี่ยม” ที่มีรสชาติหวานอร่อย กรอบนอกนุ่มใน ฮึ้ม...มีความฟินส์แบบสุดๆไปเลย



          การท่องเที่ยวชุมชนทรายขาวที่นี่เราจะได้สัมผัสถึงวิถีชุมชน 2 วัฒนธรรม พุทธ มุสลิม อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสให้การต้อนรับคนนอกพื้นที่ด้วยความเป็นกันเอง ได้ชมความงดงามของธรรมชาติที่แทบไม่มีการดัดแปลง ซึ่งชาวบ้านที่นี่หวังว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถลบภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านสื่อในสายตาของหลายคน ให้เป็นภาพของความสวยงามและความสงบสุขของพื้นที่แห่งนี้ต่อไป

1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ


ประวัติวันแรงงาน
เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพและความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังรัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 เป็นต้นมา
เหตุผลที่ทำให้ต้องมีวันแรงงานก็เพราะ ในระบบเศรษฐกิจ แรงงานมนุษย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลผลิตต่างๆ ที่ได้ทำในโรงงานอุตสาหกรรม พลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้นด้วยการทุ่มเท แรงกายและแรงใจในการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ที่มุ่งมั่น เพื่อให้เกิดความสำเร็จของงานที่ได้รับมอบหมาย บริษัทจะมีความมั่นคงก้าวหน้า หรือความอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจ การใช้แรงงานย่อมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งการเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ด้วยการให้วันหยุดสำหรับอาชีพนี้ ถือว่าได้รับการเอาใจใส่อย่างแท้จริง แม้ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะยังมีผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งในด้านผลประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการ
ช่วงระหว่าง พ.ศ.2496-2499 มีการตื่นตัวในเรื่องการก่อตั้งองค์การลูกจ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่มีกฎหมายแรงงาน จึงได้มีการจัดตั้งขึ้นในนามของสมาคมกรรมกรไทย และสมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย กรรมการและผู้แทนของสมาคมเหล่านี้ มีโอกาสประชุมกิจกรรมด้านแรงงานในต่างประเทศ และได้ความรู้ว่าหลายประเทศถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น "วันแรงงาน"
คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกวันแรงงาน ประชุมร่วมกันแล้วมีความเห็นว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ควรระลึกถึงแรงงานในประเทศไทย จึงได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้มีการรับรอง และ ในวันที่ 30 เมษายน 2499 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น "วันกรรมกรแห่งชาติ"  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"  และใน ปี พ.ศ.2550 ได้มีพระราชบัญญัติแรงงาน ให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานประจำปีในวันกรรมกรแห่งชาติ
ความหมายวันแรงงาน
วันแรงงานเป็นวันหยุดประจำปีที่มีการเฉลิมฉลองไปทั่วโลก ประเทศส่วนใหญ่ฉลองวันแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม หรือที่เรียกตามสากลว่าเป็นวัน เมย์เดย์ (May Day) เมย์ ซึ่งแปลว่า เดือนพฤษภาคม ซึ่งเมื่อหยุดวันที่ 1 พฤษภาคม ก็คือวันแรกของเดือนนั่นเอง จึงกลายเป็นวันเมย์เดย์ ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะรู้ว่า ถึงเวลาที่พวกเขาจะได้หยุดใช้แรงงานกันแล้ว
วันแรงงานของประเทศไทย
ประเทศไทยเรามีแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งจะมีทั้งบริษัทของไทย และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา ทำให้มีพี่น้องชาวไทยต่างพากันสมัครตามโรงงานต่างๆ ซึ่งแม้จะอยู่ไกลแค่ไหน หากแต่ได้มีโอกาสทำงานก็ยังดีกว่าที่จะตกงานหรืออยู่บ้านเฉยๆ เพราะงานสมัยนี้หายาก แม้แต่วุฒิสูงๆ ยังหางานยาก การได้มีโอกาสทำงานเป็นหนุ่มสาวโรงงาน ที่แม้อาจจะเลือกไม่ได้ หรือไม่มีสิทธิ์เลือก ก็ถือว่าได้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแล้ว และแม้จะมีวันหยุด แต่การที่พวกเขาได้มีโอกาสหยุดวันแรงงาน ก็ถือว่าเป็นการได้ใช้วันหยุดที่คุ้มค่า เพราะอย่างน้อยก็มีคนเห็นความสำคัญของพวกเขาและทำให้เป็นวันหยุดไปโลกได้ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันแรงงานแห่งชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
วันแรงงานรอบโลก
เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ฉลองวันแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี และมีการเรียกวันนี้ว่าวัน May Day หรือ "ในประเทศยุโรป เรียกว่า "วันกรรมกรสากล" ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน
วันที่ใช้จัดงานวันแรงงาน
ในประเทศไทย วันแรงงาน ซึ่งถือเป็นวันหยุดของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งรัฐบาลประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันหยุด และใช้จัดงานรื่นเริงเพื่อเอาใจพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้เป็นกำลังใจในการที่จะทำงานต่อไป

เพิ่มเติม วันที่1พ.ค.2560 สำหรับอาชีพอิสระเข้าประกันสังคมเจ็บป่วยได้วันละ300

https://kaijeaw.com/%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%ae-1%e0%b8%9e%e0%b8%84-%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89-%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%ad%e0%b8%b4%e0%b8%aa/

วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

งานแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรี ครั้งที่ 30

งานแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรีจะจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี กีฬาตกปลาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และจากสภาพภูมิศาสตร์ของหาดที่มีชายฝั่งทะเลยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิด จึงทำให้กีฬาตกปลานี้เป็นกีฬาที่น่าตื่นเต้นท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง


 “การแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรี” ปีนี้เป็นการจัดครั้งที่  30  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7  พฤษภาคม  2560  ณ  หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี การจัดงานนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินสนุกสนานให้กับผู้ที่รักในกีฬาตกปลาแล้ว  ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นและเป็นการระดมทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของอำเภอสายบุรีดีขึ้น  มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น


ปัจจุบันทางเทศบาลเทศบาลตะลุบันได้มีการรณรงค์ดูแลทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยในเกมการแข่งขันประกอบด้วยปลาหลากหลายชนิดจำนวนกว่า 13 ปลาเกม สุดยอดของนักสู้แห่งท้องทะเลสายบุรี เช่น อีโต้มอญ ปลาตระกูลกระโทงทุกชนิด ปลาสาก ปลาอินทรีย์ ปลาช่อนทะเล ปลาตะคองเหลือง ปลากระมง ปลาโฉมงาม ปลาสละ ปลาโอ ปลาเหลืองโพรง  ปลาพิเศษ ปลาตระกูลกะพง และปลาเก๋า รางวัลการแข่งขัน แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทปลาเกม ประเภททีม ประเภทบุคคล และประเภทรางวัลพิเศษ

สำหรับผู้ที่สนใจที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรีครั้งที่ 30 สมัครได้ที่เทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี  จ.ปัตตานี  ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันแข่งขัน  โดยผู้สมัครเสียค่าสมัครทีมละ 2 พันบาท ค่าเช่าเรือ 2 วันเป็นเงิน 4 พันบาท  ค่าอาหารผู้ติดตามนักกีฬาท่านละ 200 บาท และขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมชม  ร่วมเชียร์เป็นกำลังใจให้กับนักตกปลา พร้อมกับสัมผัสความสวยงามของหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และความคึกคัก ความมีชีวิตชีวาให้กับหาดวาสุกรีอีกครั้งหนึ่ง

งานถนนคนเดินปี2560


พิธีเปิดงานถนนคนเดิน เทศบาลนครยะลาร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา และผู้ประกอบการในพื้นที่ 
จัดงานถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประจำปี 2560 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา 


    เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เทศบาลนครยะลาจัดงานนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และยังเป็นการสร้างความสุขให้กับประชาชนโดยทุกครั้งที่ผ่านมามีประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ภายในงานมีการนำสินค้าราคาถูก มีคุณภาพนำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชน ในปีนี้มีสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย สินค้าของชุมชน160 ร้าน และร้านอาหาร 113 ร้าน พร้อมการแสดงจากนักร้อง นักแสดง มากมาย มาร่วมสร้างความสุขให้แก่ประชาชนทุกคืน

     
 คืนวันที่ 28 เมษายน 60 พบกับ “วงบ๊อกเซอร์ + เณรเชษฐ์
 คืนวันที่ 29 เมษายน 60 พบกับ “ชัย สานุวัฒน์
 คืนวันที่ 30 เมษายน 60 พบกับ “วงพาโล


เครดิตภาพ : (ขอขอบคุณภาพจาก นายพุงกะทิ)

วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

โครงการ’ครูอาสาปอเนาะ’ชายแดนใต้ บรรลุเป้าหมาย สอนสายสามัญควบคู่’ศาสนา’

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปรับแนวทางนโยบายการแก้ไขและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สถาบันการศึกษาปอเนาะ จากที่ปกติมีการเรียนการสอนด้านศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมามีการจัดให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้อาสา เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ หรือเรียกว่า ครูอาสาปอเนาะ
ครูอาสาปอเนาะจะถูกส่งไปสอนตามสถาบันการศึกษาปอเนาะที่แจ้งความจำนงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นครูสายสามัญไปช่วยสอนควบคู่กับการเรียนด้านศาสนาอิสลาม หลังดำเนินโครงการจนปัจจุบัน ผู้ปกครองต่างให้การยอมรับ จนมีสถาบันปอเนาะต่างยืนความจำนงขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เล็งเห็นว่า การจัดแผนการเรียนการสอนสายสามัญให้กับนักเรียนปอเนาะต่างๆ มีความสำคัญ สามารถนำวุฒิการศึกษารับรองการจบหลักสูตรการศึกษาชั้น ม.ปลาย หรือวุฒิบัตรผ่านการฝึกด้านอาชีพ ไปสมัครเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้สมัครงานเป็นครูตามโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามต่างๆ ปัจจุบันจะคัดเลือกผู้มีวุฒิการศึกษาสายสามัญ ควบคู่ใบรับรองจบด้านศาสนาแทบทั้งสิ้น
นายอิบรอแหม มะนิน นักเรียนปอเนาะ กล่าวว่า การเรียนเสริมวิชาสายสามัญต่างๆ โดยเฉพาะภาษาไทยนั้นสามารถนำไปสื่อสารระหว่างเพื่อนๆ และคนภายนอกโรงเรียน รวมถึงการนำความรู้ไปช่วยปรับปรุงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีพัฒนาการก้าวทันกับโลกปัจจุบัน เมื่อก่อนจะได้เรียนเพียงด้านศาสนาอิสลามอย่างเดียว พอมีการส่งเสริมการเรียนสายสามัญควบคู่กัน ทำให้มีความรู้และอยู่ในสังคมส่วนรวมได้ดี
นางฮามีด๊ะ สูโรโรจน์ ครูอาสาปอเนาะ สังกัด กศน.อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการสังเกตนักเรียนในวิชาศาสนานั้น ทุกคนจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจจดจ่ออยู่กับการฟัง การท่องจำ เพื่อให้รู้และทราบถึงหลักด้านศาสนาอย่างถ่องแท้ แต่เมื่อถึงวิชาเรียนสายสามัญ เด็กๆ จะมีบุคลิกอีกอย่างตามวัย เหมือนได้ผ่อนคลาย สนุกสนานกับการได้แสดงออกในรูปแบบการทำงานกลุ่มและการออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยเฉพาะการแสดงความคิด หรือการออกมานำเสนอผลงานหน้าชั้นแบบกลุ่ม
“จะเห็นว่าทุกคนก็มีความตั้งใจและสนุกสนานไปกับการได้แสดงความสามารถ ตรงนี้ทุกคนทำได้ดี สามารถแยกระหว่างการวางตัวในวิชาด้านศาสนากับวิชาสายสามัญ การเรียนในสถาบันปอเนาะและเลือกเรียนกับ กศน.จึงมีความสำคัญ จะทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ทั้ง 2 สาย ในระบบเหมือนกัน อีกทั้ง กศน.ยังมีกิจกรรมต่างๆ ไว้ส่งเสริม เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็กๆ นำเอาความรู้จากตรงนี้ไปใช้ในชีวิตและชุมชนที่ตนเองอาศัย
นางอำพร พรหมสุข ครูอาสาปอเนาะ สังกัด กศน.อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การอาสาเข้าร่วมโครงการครูอาสาปอเนาะในช่วงแรกมีความกังวลใจมาก เพราะนับถือศาสนาพุทธ เกรงว่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้ทดลองกลับมีบาปอและมามา เจ้าของสถาบันปอเนาะแห่งนี้ รวมถึงเด็กนักเรียนให้ความร่วมมือและให้การต้อนรับด้วยอัธยาศัยที่ดี มีความเป็นกันเอง ถึงแม้นักเรียนในตอนแรกจะใช้เพียงภาษาท้องถิ่นสื่อสารกัน หลายคนไม่ยอมใช้ภาษาไทย แต่พอได้สัมผัสแล้วเน้นสอนเด็กๆ ให้เข้าใจ ความพยายามใช้ภาษาไทยสื่อสาร เพื่อเป็นการฝึกพูดภาษาไทยไว้ใช้ในยามไปติดต่อสถานที่ราชการ เด็กๆ ทุกคนก็มีความพยายาม จนสามารถพูดคุยภาษาไทยได้ชัดเจนมากขึ้น
“ตรงนี้ยังมีมุมความประทับใจและสนุกสนานปะปนอยู่ด้วย เด็กนักเรียนมักจะมีคำมาแลกเปลี่ยนกันสอนพูดให้ครูสามารถรู้เข้าใจภาษายาวีที่ใช้พูดคุยในชีวิตประจำวัน เช่น “อัสสะลามมุอะลัยกุม” คือ สวัสดี ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่จัดโครงการครูอาสาปอเนาะ เพื่อให้นักเรียนในสถาบันปอเนาะที่ขาดโอกาส หรือพลาดโอกาสได้เรียนในสายสามัญ” นางอำพร กล่าว
นายดลหะ สิบู ผู้บริหารสถาบันปอเนาะศอลาฮุดดีน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่าขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการส่งครู กศน.มาช่วยสอน เด็กๆ เมื่อจบไปแล้วจะได้มีวุฒิการศึกษาใช้สมัครงานหรือศึกษาต่อได้ เด็กนักเรียนเองก็จะมีพัฒนาการที่ดีหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนทั้งศาสนาและสายสามัญควบคู่กัน ยังช่วยให้มีความเป็นอยู่ในสังคมที่มีความถูกต้อง ไม่มีความขัดแย้ง การเรียนควบคู่ทั้งด้านศาสนาอิสลามกับสายสามัญนั้น ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ปกครอง ทุกคนก็บอกว่าดี อยากให้มีการเรียนการสอนอย่างนี้มานานแล้ว
“สมัยนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ทั้งการเป็นโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ หรือครูสอนตามโรงเรียนสอนศาสนา ต่างก็ตามถึงวุฒิการศึกษาสายสามัญด้วยแทบทั้งนั้น จึงเป็นทางออกที่เดินไปด้วยกันได้ดี แบบไม่มีความขัดแย้งใดๆ แต่ก็อยากให้มีการเพิ่มด้านการฝึกอาชีพ ให้มีความหลากหลายวิชาให้เลือกได้มากขึ้น เพราะจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีความรู้มากขึ้น โดยแต่ละรุ่นนักเรียนจะมีความต้องการหลากหลายสาขามากขึ้นด้วย” นายดลหะ กล่าว

สินค้าเศรษฐกิจ จ.ปัตตานี

ลูกหยียะรัง ตราสตรีสะดาวา
ประวัติความเป็นมา
ลูกหยีเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง มีรสเปรี้ยวอมหวาน เปลือกสีดำ เนื้อในสีแดงส้ม ต้นหยีมีมากในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่น ๆ สตรีบ้านบากง หมู่ที่ 6 ตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รวบรวมลูกหยีสด นำมาแปรรูป เป็นลูกหยีทรงเครื่อง ลูกหยีกวน ใช้ตราผลิตภัณฑ์(สตรี)


กระบวนการขั้นตอนการผลิต
1.ลูกหยีสด (ดำ) ตากแดด 1-2 วัน จนแห้ง
2. กระเทาะเปลือกและแคะเปลือกที่ค้างออกให้หมด ตากแดดจนแห้ง(ลูกหยีแดง)
3. แปรรูปเป็นลูกหยีทรงเครื่อง
4. แคะเมล็ดออกให้หมด แปรรูปเป็นลูกหยีกวน
5. บรรจุหีบห่อ จัดจำหน่าย
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
1. ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานคุณภาพ คือ อย. ฮาลาล และเครื่องหมาย มผช.
2. มีรสชาดอร่อย ไม่เผ็ดจนเกินไป เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี
3. จะมีหลายแบบหลายราคาสามารถเลือกซื้อได้
4.สามารถผลิตได้ตามจำนวนที่ต้องการ
5. เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี
ปริมาณการผลิต 150-200 กิโลกรัม/วัน หรือ 3,900 - 5,200 กิโลกรัม/เดือน
ราคา ลูกหยีทรงเครื่องราคา20-35บาท ลูกหยีกวนราคา 20-35 บาท ลูกหยีไม่มีเมล็ดราคา 20-35 บาท
สถานที่จำหน่าย
- 34/2 หมู่ที่ 6 ตำบลสะดาวา ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 01-4792116,09-2942984
- 108 หมู่ที่ 8 ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 09-2942984
- คุณลีกี ปูตะ โอรพันธ์แมนชั่น ซอย 38 ถนนพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โทร. 06-7768505
สนใจสั่งซื้อ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
34/2 หมู่ที่ 6 ตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โทร. 01-4792116,09-2942984



น้ำบูดู เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาทะเล
ประวัติความเป็นมา
น้ำบูดู เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาทะเล นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้เป็นวิธีการเก็บรักษาทรัพยากรซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้ยาวนานชาวบ้านจึงนำปลามาคลุกเกลือหมักไว้รับประทานเป็นเครื่องปรุงรส ใช้เป็นเครื่องจิ้ม นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน/รายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น
กระบวนการขั้นตอนการผลิต นำปลามาคลุกกับเกลือให้ได้ที่แล้วนำมาใส่บ่อหรือไหแล้วปิดให้สนิทหมักไว้ประมาณ 1 ปีขึ้นไป
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น มีแคลเชี่ยม และไอโอดีนสูง
ปริมาณการผลิต 1,500 ขวด/วัน
ราคา ขวด 300 CC ขวดละ 20 บาท ขวด 750 CC ขวดละ 40 บาท
สถานที่จำหน่าย
- 270/2 หมู่ที่ 2 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 073-354508
- 270/2 หมู่ที่ 2 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 01-5991007
- ห้าง BIG C, ศูนย์สาธิตปัตตานี
สนใจสั่งซื้อ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
270/2 หมู่ที่ 2 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

ท่องไปในแดนธรรม-วิหารองค์พ่อจตุคามรามเทพ จังหวัดนราธิวาส


วิหารองค์พ่อจตุคามรามเทพ และ ศาลหลักเมืองนราธิวาส

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนหวาดกลัวกังวล หลายคนต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพื่อผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ที่ต้องประสบพบเห็นอยู่เสมอๆ ขณะเดียวกัน ได้มีสมาชิก กลุ่มปัญจธรรม จุดรูป ๑๖ ดอก อย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดช่วยปกป้องคุ้มครองพี่น้องประชาชนทุกคนในพื้นนี้ ได้อยู่อย่างปกติสุขเหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา และแล้ว...สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้กราบไหว้บูชาขอพรก็ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมา...เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ องค์พ่อจตุคามรามเทพ ได้เสด็จลงมาประทับทรง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่สมาชิกกลุ่มปัญจธรรม เป็นครั้งแรก ที่ จ.นราธิวาส สร้างความแปลกใจแก่กลุ่มสมาชิกเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาสมาชิกกลุ่มปัญจธรรม ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา จึงได้ร่วมกันจัดสร้างเทวสถานขึ้นใน จ.นราธิวาส  เพื่อประดิษฐาน องค์พ่อจตุคามรามเทพ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๗ นิ้ว ประทับนั่งปางมหาราชลีลา ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาขอพร และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตลอดไป ในการประทับทรงครั้งนั้น องค์พ่อจตุคามฯได้บัญชาให้สมาชิกกลุ่มปัญจธรรม จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อแจกจ่ายให้ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ สมาชิกกลุ่มปัญจธรรม และผู้ศรัทธาเลื่อมใสในองค์พ่อจตุคามฯ จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิองค์พ่อจตุคามรามเทพและศาลหลักเมืองจังหวัดนราธิวาส ขึ้น โดยมี นายประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานคณะกรรมการ งานชิ้นแรกที่มูลนิธิดำเนินการ คือ การจัดสร้างวิหารองค์พ่อจตุคามรามเทพ และ ศาลหลักเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นวิหารแห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกเขตวัด และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างด้วยงบประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท บนเนื้อที่กว่า ๑๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่ ถนน นรสุขอนุสรณ์ ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส บริเวณตรงข้ามโรงเรียนเทศบาล ๕

วิหารองค์พ่อจตุคามฯ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบศิลปะสมัยศรีวิชัย เนื้อที่ใช้สอยประมาณ ๑,๓๐๐ ตารางเมตร มี ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานองค์พ่อจตุคามรามเทพ ๔ องค์ ชั้นล่างเป็นห้องแสดงประวัติองค์พ่อจตุคามรามเทพ ห้องวัตถุมงคล ห้องที่ทำการมูลนิธิ และเป็นที่ใช้สอยอื่นๆ แบบวิหารที่สร้างขึ้นนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบได้รับคำแนะนำจากองค์พ่อจตุคามฯ ผ่านร่างทรง รูปแบบที่ออกมาจึงมีความงดงามอลังการเป็นพิเศษ และถูกต้องตามศิลปะสมัยศรีวิชัยทุกประการ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างอาคารวิหาร ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และพิธีเททองหล่อองค์พ่อจตุคามรามเทพ โดย ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๙ ขณะนี้วิหารองค์พ่อจตุคามฯ ได้ก่อสร้างเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง และด้วยเหตุที่การอัญเชิญองค์พ่อจตุคามฯ ขึ้นสู่วิหารจะต้องใช้เครนยก เพราะองค์พ่อมีขนาดใหญ่มาก จึงต้องอัญเชิญขึ้นสู่วิหารก่อน แล้วถึงจะมีการก่อสร้างอาคารวิหารต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการทำงานนั่นเอง ขณะเดียวกัน ศาลหลักเมืองนราธิวาส ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้  ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่เช่นกัน ในส่วนของ เสาหลักเมืองนราธิวาส ได้ใช้  ไม้ตะเคียนทอง สูง ๔ เมตร ซึ่งขณะนี้ได้ประกอบพิธีพร้อมกับองค์พ่อจตุคามฯ และจะได้อัญเชิญไปประดิษฐาน เมื่อสถานที่ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์

เสาหลักเมืองจังหวัดนราธิวาส

นายเสรี อนุกูลพันธ์ รองประธานมูลนิธิองค์พ่อจตุคามรามเทพ กล่าวถึงงานพิธีอัญเชิญองค์พ่อจตุคามฯ เข้าประดิษฐาน ณ วิหารองค์พ่อฯ จะมีขึ้นในระหว่าง วันที่ ๕-๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ นี้ โดยเฉพาะวันที่ ๕ มิถุนายน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. ขบวนอัญเชิญองค์พ่อจตุคามฯ พร้อมกัน ณ บริเวณสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วเคลื่อนขบวนแห่ไปรอบตัวเมืองนราธิวาส  ประกอบด้วยทัพช้าง ทัพเรือ ทัพทหารสมัยศรีวิชัย ฯลฯ ไปจนถึงวิหารองค์พ่อจตุคามฯ
จากนั้น เวลา ๑๓.๐๐ น. ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีอัญเชิญองค์พ่อจตุคามรามเทพ เข้าประดิษฐานในวิหาร พร้อมกับประกอบพิธีเปิดวิหารให้ประชาชนเข้าสักการบูชาองค์พ่อจตุคามฯ ต่อไป ส่วนงานในภาคกลางคืน ทุกๆ คืน จะมีการแสดงหนังตะลุง มโนราห์ และการแสดงของวงดนตรี กรม.ร.๓ พล.นย. ในอนาคต เมื่อการก่อสร้างวิหารองค์พ่อจตุคามฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการมูลนิธิจะได้เปิดให้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ห้องสมุดศึกษาธรรมะ สวนพักผ่อนหย่อนใจ ให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยทั่วกัน จึงใคร่ขอเชิญชวน ผู้ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ไปร่วมพิธีอัญเชิญ องค์พ่อจตุคามรามเทพ เข้าประดิษฐานในวิหารตามวันเวลาดังกล่าว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิองค์พ่อจตุคามรามเทพและศาลหลักเมืองนราธิวาส โทร.๐-๗๓๕๒-๒๕๗๗, ๐๘-๔๘๒๖-๙๖๕๖ หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต ๓ โทร.๐-๗๓๕๒-๒๔๑๑,๐๘-๑๕๙๘-๖๖๒๔

ประเพณีถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

การถือศีลอดเดือนรอมฎอน

                  ในทุกๆ ปี ศาสนิกชนมุสลิมในศาสนาอิสลามจะปฏิบัติภารกิจถือศีลอดเดือนรอมฎอน เป็นการทดสอบความศรัทธาอันแรงกล้าต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ประทานพระบัญญัติแก่มวลมนุษย์ เพื่อฝึกฝนให้มวลมนุษย์รู้จักความอดกลั้นอดทน มีจิตใจหนักแน่น และไม่ท้อถอยอย่างง่ายดายต่อความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ณ เบื้องหน้า

                  เมื่อย่างเข้า เดือนรอมฎอน (رمضان‎)  หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดตลอดช่วงเดือนนี้เป็นเวลา 2930 วัน เป็นการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติข้อที่สี่ในหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติ 5 ประการ  คือ



     1). การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์
                  2). ดำรงละหมาด
                  3). บริจาคทาน (ซะกาต)
                  4). ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และ
                  5). ประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮฺ
          
                  การถือศีลอดนี้ หมายถึงการตั้งใจประกอบศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเครื่องดื่ม อดการบริโภคทุกชนิด พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี จะต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนาและการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ
การกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ไม่ว่าจะด้วย
ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย
                   โดยการปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำผิดนี้ เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย

                    สาระสำคัญของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต และเมื่อได้สัมผัส ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแล้ว การถือศีลอดจึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ถือศีลนั้นรู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา กล่าวคือ ฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้นทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวนนานับประการ ซึ่งผลที่ได้จากความเพียรคือการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่านและพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสูงความสำเร็จ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า


นอกเหนือจากการได้สัมผัสความทุกข์ยากและการอดทนแล้ว การถือศีลอดรอมฎอนยังเป็นกุศโลบายให้มวลมนุษย์รู้จักดำรงชีพด้วยความสมถะและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น แก่นธรรมนี้คือการขัดเกลาจิตใจให้ละเว้นจากความละโมบ และความตระหนี่นั่นเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์
                     ชาวมุสลิมที่จะถือศีลอดได้จะต้องบรรลุศาสนภาวะ มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนจะต้องเริ่มถือศีลอดในปีนั้นๆ เป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่อยู่ในระหว่างการเดินทาง หากมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นสามารถขอผ่อนผันได้โดยเมื่อหายป่วยไข้โดยสมบูรณ์ หรือเสร็จสิ้นการเดินทางจะต้องกลับมาถือศีลอดให้ครบตามจำนวนวันที่ขาดหายไป และผู้ที่ได้รับการยกเว้นเข้าถือศีลอดในเดือนรอมฎอน แต่ให้จ่ายซะกาตประเภทอาหารแก่ผู้ยากไร้เป็นการทดแทน ได้แก่
1. คนชรา
2. คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาไม่หาย
3. หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนที่ให้นมทารก ซึ่งเกรงว่าการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายแก่ทารก
4. บุคคลที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อเขาถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
5. บุคคลที่ทำงานหนัก  บุคคลที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น งานในเหมือง งานในทะเลทราย เป็นต้น


ผู้ที่จะถือศีลอดต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และมีความแน่วแน่ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ความยากลำบากด้วยความสมัครใจตลอดเดือนรอมฎอน ภารกิจที่ผู้ถือศีลอดควรกระทำตลอดช่วงเดือนรอมฎอน คือ การศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอ่านเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถ ปฏิบัติตามพระวัจนะของพระเจ้าได้โดยไม่ผิดเพี้ยน ด้วยคติทางศาสนาว่าเดือนรอมฎอนคือเดือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอ่านให้เป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติไว้ให้มั่นชาวมุสลิมจึงยึดถือว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ การปฏิบัติศาสนพิธีและท่องคำภีร์อัลกุรอ่านในเดือนรอมฎอนนี้จึงปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ




ระยะเวลาการถือศีลอดในแต่ละวันจะดำเนินไปในช่วงรุ่งอรุณจนถึงพลบค่ำ เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวแล้วจึงสามารถ ละศีลอด สามารถรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม และปฏิบัติกิจวัตรได้ตามปกติ แต่ต้องกระตือรือร้นละศีลอดทันทีในเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้ให้เพื่อการรักษาคุณงามความดีของผู้ปฏิบัติ วิธีการละศีลอดที่ชาวมุสลิมยึดถือคือให้รีบละศีลอดก่อนละหมาด และรับประทานผลอินทผลัมและดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นที่สูญเสียไปในระหว่างวัน     

การถือศีลอดจะดำเนินไปตลอดทั้งเดือนรอมฎอน กระทั่งเข้าสู่ 10 คืน
สุดท้ายของเดือน ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่า เอี๊ยะติกาฟ คือ การบำเพ็ญตนเพื่อประกอบศาสนกิจในมัสยิด อาทิ การละหมาด การอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน การขอดุอาอ์ ที่จะต้องปฏิบัติภายในมัสยิดเท่านั้น และไม่สามารถออกจากมัสยิดได้นอกจากเหตุจำเป็นเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอดใน วันอิฎิลฟิตรี หรือ วันอีด คือ วันที่ 1 ของเดือนเชาวาล (เดือน 10 ต่อจากเดือนรอมฎอน) ชาวมุสลิมจะอาบน้ำชำระร่างกาย สวมเสื้อผ้าสวยงาม ทานอาหารเล็กน้อยก่อนจะไปร่วมละหมาดอิฎิลฟิตรี ซึ่งเป็นการละหมาดร่วมกันที่ลานกว้าง จ่ายซะกาต (ฟิตเราะห์) เยี่ยมเยียนญาติมิตรเพื่อให้อภัยและอวยพรให้แก่กันเพื่อเริ่มต้นการดำเนิน ชีวิตในวันใหม่อย่างผาสุก


ผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า การถือศีลอดนั้นกระทำเพียงเฉพาะในเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม ในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดสามารถทำได้ตลอดทั้งปีด้วยการ ถือศีลอดโดยอาสา กล่าวคือ พระวัจนะของศาสดาที่ปรากฏใน (อัลบุคอรี 30: 56) กล่าวว่าการถือศีลอดโดยอาสาเพียงเดือนละ 3 วัน ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมได้เช่นกัน ทั้งยังมีรายละเอียดและข้อกำหนด
เกี่ยวกับการถือศีลอดเพิ่มเติมว่าชาวมุสลิมสามารถถือศีล อดได้ตามช่วงเวลาดังนี้
1. ถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเซาวาล (เดือนที่ 10 ตามปฏิทินอิสลาม)
2. วันขึ้น 9-10 ค่ำเดือนมุหัรรอม (เดือนที่ 1 ตามปฏิทินอิสลาม)
3. ถือได้หลายๆ วันในเดือนซะอบาน (เดือนที่ 8 ตามปฏิทินอิสลาม)
4. วันจันทร์ วันพฤหัสบดี ทุกสัปดาห์
5. วันขึ้น 13-14-15 ค่ำของทุกเดือน
6. วันเว้นวัน

ในทางตรงกันข้าม  วันที่ห้ามถือศีลอด  คือ
1. วันอีดทั้ง 2 คือ วันอีดิ้ลฟิตรีและอีดิ้ลอัฎฮา เพราะกำหนดให้เป็นวันรื่นเริง
2. วันตัซรีก คือวันที่ 11-12-13 เดือนฮัจย์
3. การเจาะจงถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น
4. ถือศีลอดตลอดปี

                    การถือศีลอดของชาวมุสลิมจึงเป็นการปฏิบัติศาสนพิธีที่มีเนื้อหาสาระเพื่อขัดเกลาจิตใจของผู้ปฏิบัติให้ผ่องแผ้ว ด้วยการพากเพียรต่ออุปสรรคและความยากลำบาก เหน็จเหนื่อย เพื่อให้มีจิตใจมุ่งมั่น หนักแน่น และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน และมุ่งเน้นให้สามารถปฏิบัติได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงแต่เดือนรอมฎอนเพียงเท่านั้น อันเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต้องอาศัยความเกื้อกูล และไมตรีจิตต่อกันนั่นเอง



-------------------------------


วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

สถานที่ท่องเที่ยวหมู่บ้านซาไก จังหวัดยะลา




เงาะป่าไม่ได้มีเพียงในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เพราะที่จังหวัดยะลาแห่งนี้ คุณจะได้ทำความรู้จักกับ เงาะซาไกตัวจริงเสียงจริง ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย แต่เดิมนั้นเงาะป่าซาไกกลุ่มนี้ดำรงชีพ ด้วยการหาของป่า ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ล่าสัตว์ด้วยการเป่าลูกดอก และมีอาวุธล่าสัตว์และป้องกันตัวเองที่เรียกว่า กระบอกตุดสำหรับบ้านเรือนของซาไกนั้น นิยมสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาจาก ต่อมากรมประชาสงเคราะห์ได้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรวบรวมชาวซาไกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน จัดหาอาชีพทำสวนยางให้ และได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขอพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้คำว่า ศรีธารโตเป็นนามสกุลชาวซาไกทุกคน แม้ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวซาไกได้เริ่มปรับตัวและผสมผสานกับวัฒนธรรมเมืองมากขึ้น หากหลายคนก็ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมและต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความใสซื่อ ซึ่งการได้มีโอกาสมาเยือนหมู่บ้านซาไกนี้ นับเป็น การเปิดโลกกว้างที่ทำให้เราเข้าใจถึงมิตรภาพความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ความต่างของเผ่าพันธุ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด






ที่ตั้ง : หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปทางเบตงประมาณ 80 กิโลเมตร

...............................................................

รอมฎอนคืออะไร? ทำไมมุสลิมต้องถือศีลอด?



บางคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ที่ชาวมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดประจำปีในช่วงเวลากลางวันของเดือนนี้



1. รอมฎอนคืออะไร?
รอมฎอน เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งยึดตามจันทรคติ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดประจำปีในช่วงเวลากลางวันของเดือนนี้ โดยพวกเขาจะอดอาหารตั้งแต่แสงอรุณขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน

2.ทำไมมุสลิมต้องถือศีลอด?
การถือศีลอดมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา ซื่อสัตย์ มุ่งหวังความใกล้ชิดกับองค์อัลเลาะห์ และเป็นการย้ำเตือนให้ชาวมุสลิมระลึกถึงความลำบากของบุคคลที่ด้อยโอกาสกว่า ดังนั้นในเดือนนี้มุสลิมจึงมักบริจาคให้องค์กรการกุศลและเลี้ยงอาหารแก่ผู้หิวโหย

การถือศีลอดคือการฝึกในการข่มใจตนเอง ทั้งเป็นการชำระร่างกายและจิตวิญญาณ

รอมฎอนเป็นเวลาที่จะปลีกตัวจากความสุขทางโลก และมุ่งเน้นการเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการละหมาดและขอพร ชาวมุสลิมจำนวนมากจะใช้เวลามากขึ้นที่มัสยิดมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ ของปีการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของศาสนาอิสลามเสมือนกับการละหมาดทุกวัน 5 เวลา และการไปแสวงบุญฮัจญ์ที่นครเมกกะห์ เป็นต้น

3. ชาวมุสลิมถือศีลอดอย่างไร?
ชาวมุสลิมจะละเว้นจากการกินและดื่มในตอนกลางวันโดยเริ่มตั้งแต่แสงอรุณของวันใหม่ขึ้นไปจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดทั้งเดือนรอมฎอน การจิบน้ำเพียงนิดเดียวหรือสูบบุหรี่เพียงครั้งเดียวก็ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นใช้ไม่ได้ นอกจากนั้นยังห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันด้วยและชาวมุสลิมถูกส่งเสริมให้ระงับความโกรธ ด่าทอ นินทา และละเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ในเดือนดังกล่าวนี้ชาวมุสลิมยังได้รับการสนับสนุนให้ละหมาดครบ 5 เวลาทุกวัน อ่านคัมภีร์กุรอาน และขอพร รวมทั้งระลึกถึงองค์อัลเลาะห์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการถือศีลอด มุสลิมจะตื่นขึ้นมารับประทานอาหาร ที่เรียกกันว่า ซุโฮร์” (suhoor) ซึ่งคือการรับประทานอาหารก่อนรุ่งอรุณเพื่อเป็นพลังงานให้พวกเขาตลอดทั้งวัน

4. มุสลิมละศีอดอย่างไร?
มุสลิมจะละศีลอดตามประเพณีเสมือนกับศาสดามูฮัมหมัดได้ปฏิบัติไว้เมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมาด้วยการจิบน้ำและรับประทานอินทผาลัมเล็กน้อย

หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว ก็จะรับประทานอาหารที่เตรียมไว้ (เรียกว่าอิฟตาร์ – ifttar) ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ

ทั่วโลกมุสลิม มัสยิดและองค์กรการกุศลจะตั้งเต็นท์เลี้ยงอาหารฟรีสำหรับประชาชนทุกคืนตลอดทั้งเดือนรอมฎอน

ในประเทศอ่าวอาหรับ บรรดาเศรษฐีหรือคนร่ำรวย จะเปิดประตูบ้านของพวกเขาสำหรับคนที่ผ่านไปมาเพื่อเลี้ยงอาหาร ชา กาแฟ และสนทนาร่วมกัน

5. ชาวมุสลิมสามารถได้รับการยกเว้นจากการอดอาหารหรือไม่?
ใช่ มีข้อยกเว้นสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน และคนที่เดินทาง ซึ่งอาจรวมถึงนักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน 

6. เมื่อไหร่เดือนรอมฎอนจะสิ้นสุด?
หนึ่งเดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง ซึ่งเท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่ถ้าไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง


ซึ่งเมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน ที่เรียกว่าวัน อีดฟิตริ


......................................................................