เมื่อวันที่ 28 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ได้ปรับแนวทางนโยบายการแก้ไขและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สถาบันการศึกษาปอเนาะ
จากที่ปกติมีการเรียนการสอนด้านศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว
แต่ที่ผ่านมามีการจัดให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้อาสา
เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ
หรือเรียกว่า ครูอาสาปอเนาะ
ครูอาสาปอเนาะจะถูกส่งไปสอนตามสถาบันการศึกษาปอเนาะที่แจ้งความจำนงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นครูสายสามัญไปช่วยสอนควบคู่กับการเรียนด้านศาสนาอิสลาม
หลังดำเนินโครงการจนปัจจุบัน ผู้ปกครองต่างให้การยอมรับ
จนมีสถาบันปอเนาะต่างยืนความจำนงขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เล็งเห็นว่า
การจัดแผนการเรียนการสอนสายสามัญให้กับนักเรียนปอเนาะต่างๆ มีความสำคัญ
สามารถนำวุฒิการศึกษารับรองการจบหลักสูตรการศึกษาชั้น ม.ปลาย
หรือวุฒิบัตรผ่านการฝึกด้านอาชีพ
ไปสมัครเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงการใช้สมัครงานเป็นครูตามโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามต่างๆ
ปัจจุบันจะคัดเลือกผู้มีวุฒิการศึกษาสายสามัญ
ควบคู่ใบรับรองจบด้านศาสนาแทบทั้งสิ้น
นายอิบรอแหม มะนิน นักเรียนปอเนาะ กล่าวว่า การเรียนเสริมวิชาสายสามัญต่างๆ
โดยเฉพาะภาษาไทยนั้นสามารถนำไปสื่อสารระหว่างเพื่อนๆ และคนภายนอกโรงเรียน
รวมถึงการนำความรู้ไปช่วยปรับปรุงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน
ช่วยให้มีพัฒนาการก้าวทันกับโลกปัจจุบัน
เมื่อก่อนจะได้เรียนเพียงด้านศาสนาอิสลามอย่างเดียว
พอมีการส่งเสริมการเรียนสายสามัญควบคู่กัน
ทำให้มีความรู้และอยู่ในสังคมส่วนรวมได้ดี
นางฮามีด๊ะ สูโรโรจน์ ครูอาสาปอเนาะ สังกัด กศน.อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
กล่าวว่า จากการสังเกตนักเรียนในวิชาศาสนานั้น
ทุกคนจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจจดจ่ออยู่กับการฟัง การท่องจำ
เพื่อให้รู้และทราบถึงหลักด้านศาสนาอย่างถ่องแท้
แต่เมื่อถึงวิชาเรียนสายสามัญ เด็กๆ จะมีบุคลิกอีกอย่างตามวัย
เหมือนได้ผ่อนคลาย
สนุกสนานกับการได้แสดงออกในรูปแบบการทำงานกลุ่มและการออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน
โดยเฉพาะการแสดงความคิด หรือการออกมานำเสนอผลงานหน้าชั้นแบบกลุ่ม
“จะเห็นว่าทุกคนก็มีความตั้งใจและสนุกสนานไปกับการได้แสดงความสามารถ
ตรงนี้ทุกคนทำได้ดี
สามารถแยกระหว่างการวางตัวในวิชาด้านศาสนากับวิชาสายสามัญ
การเรียนในสถาบันปอเนาะและเลือกเรียนกับ กศน.จึงมีความสำคัญ
จะทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ทั้ง 2 สาย ในระบบเหมือนกัน อีกทั้ง
กศน.ยังมีกิจกรรมต่างๆ ไว้ส่งเสริม
เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็กๆ
นำเอาความรู้จากตรงนี้ไปใช้ในชีวิตและชุมชนที่ตนเองอาศัย
นางอำพร พรหมสุข ครูอาสาปอเนาะ สังกัด กศน.อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
กล่าวว่า การอาสาเข้าร่วมโครงการครูอาสาปอเนาะในช่วงแรกมีความกังวลใจมาก
เพราะนับถือศาสนาพุทธ เกรงว่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้ทดลองกลับมีบาปอและมามา
เจ้าของสถาบันปอเนาะแห่งนี้
รวมถึงเด็กนักเรียนให้ความร่วมมือและให้การต้อนรับด้วยอัธยาศัยที่ดี
มีความเป็นกันเอง ถึงแม้นักเรียนในตอนแรกจะใช้เพียงภาษาท้องถิ่นสื่อสารกัน
หลายคนไม่ยอมใช้ภาษาไทย แต่พอได้สัมผัสแล้วเน้นสอนเด็กๆ ให้เข้าใจ
ความพยายามใช้ภาษาไทยสื่อสาร
เพื่อเป็นการฝึกพูดภาษาไทยไว้ใช้ในยามไปติดต่อสถานที่ราชการ เด็กๆ
ทุกคนก็มีความพยายาม จนสามารถพูดคุยภาษาไทยได้ชัดเจนมากขึ้น
“ตรงนี้ยังมีมุมความประทับใจและสนุกสนานปะปนอยู่ด้วย
เด็กนักเรียนมักจะมีคำมาแลกเปลี่ยนกันสอนพูดให้ครูสามารถรู้เข้าใจภาษายาวีที่ใช้พูดคุยในชีวิตประจำวัน
เช่น “อัสสะลามมุอะลัยกุม” คือ สวัสดี
ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่จัดโครงการครูอาสาปอเนาะ
เพื่อให้นักเรียนในสถาบันปอเนาะที่ขาดโอกาส
หรือพลาดโอกาสได้เรียนในสายสามัญ” นางอำพร กล่าว
นายดลหะ สิบู ผู้บริหารสถาบันปอเนาะศอลาฮุดดีน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
กล่าวว่าขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการส่งครู กศน.มาช่วยสอน เด็กๆ
เมื่อจบไปแล้วจะได้มีวุฒิการศึกษาใช้สมัครงานหรือศึกษาต่อได้
เด็กนักเรียนเองก็จะมีพัฒนาการที่ดีหลากหลายมากขึ้น
โดยเฉพาะการเรียนทั้งศาสนาและสายสามัญควบคู่กัน
ยังช่วยให้มีความเป็นอยู่ในสังคมที่มีความถูกต้อง ไม่มีความขัดแย้ง
การเรียนควบคู่ทั้งด้านศาสนาอิสลามกับสายสามัญนั้น
ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ปกครอง ทุกคนก็บอกว่าดี
อยากให้มีการเรียนการสอนอย่างนี้มานานแล้ว
“สมัยนี้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ทั้งการเป็นโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ
หรือครูสอนตามโรงเรียนสอนศาสนา
ต่างก็ตามถึงวุฒิการศึกษาสายสามัญด้วยแทบทั้งนั้น
จึงเป็นทางออกที่เดินไปด้วยกันได้ดี แบบไม่มีความขัดแย้งใดๆ
แต่ก็อยากให้มีการเพิ่มด้านการฝึกอาชีพ
ให้มีความหลากหลายวิชาให้เลือกได้มากขึ้น
เพราะจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีความรู้มากขึ้น
โดยแต่ละรุ่นนักเรียนจะมีความต้องการหลากหลายสาขามากขึ้นด้วย” นายดลหะ
กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น