วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

แผ่นดินเดียวกัน เยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะชีวิตต่างวัฒนธรรมที่จังหวัดอุดรธานี

กรมกิจการเด็กและเยาวชนนำเด็กและเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะชีวิตต่างวัฒนธรรมที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2560
เมื่อ 25 เม.ย. 60 เวลา 20.00 น. ที่โรงแรมนาข่าบุรีรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานกล่าวต้อนรับเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม : แผ่นดินเดียวกัน ปี 2560
สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม : แผ่นดินเดียวกัน ปี 2560 เกิดขึ้นจากการที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความตั้งใจที่จะให้เด็ก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา อายุระหว่าง 15-18 ปี จากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล ได้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นสร้างสังคมให้เข้มแข็ง และคนในชาติมีความรักความสามัคคีความเอื้ออาทรสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์บนแผ่นดินเดียวกัน





โดยเด็กและเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เข้าร่วมโครงการ จังหวัดละ 15 คน จะต้องเดินทางจากภูมิลำเนาสู่จังหวัดอุดรธานี เพื่อร่วมกิจกรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน ที่โรงแรมนาข่าบุรีรีสอร์ท จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กในด้านการสร้างสัมพันธภาพ การยอมรับความแตกต่าง การคิดวิเคราะห์เหตุผล การทำงานเป็นทีมและการพัฒนาภาวะผู้นำ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาคและการพักกับครอบครัวรับรองในเทศบาลตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก โดยเด็กจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวรับรองจากเทศบาลตำบลบ้านเชียง 75 ครอบครัว ร่วมกิจกรรมและพบปะกับคณะกรรมการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หน่วยงานสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชนส่วนภูมิภาค เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับเพื่อนๆ และครอบครัวรับรองอย่างเต็มศักยภาพ เปิดใจยอมรับและเรียนรู้ในวิถีชีวิตที่แตกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อาชีพ วัฒนธรรมของชุมชนที่หลากหลาย ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา รวมทั้งงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาค ศึกษาดูงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ในคุณค่าของวัฒนธรรมของไทยนำมาซึ่งความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จบลงด้วยกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนทั้ง 75 คน จะต้องร่วมประชุมสรุปบทเรียนและการประเมินผลความพึงพอใจจากการเข้าร่วมกิจกรรม ณ กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น