วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องของอีมาน


ความหมายของ การอีมาน  ทางด้านภาษา แปลว่า การเชื่อ
           ส่วนทางด้านศาสนา คำว่า อีมาน แปลว่า  การกล่าวด้วยวาจา เชื่อมั่นด้วยจิตใจ ทำตามด้วยทุกส่วนของร่างกาย เพิ่มด้วยการทำภักดี  ลดลงจากการฝ่าฝืน การศรัทธานั้นไม่อยู่คงที่เสมอไป ทุกครั้งที่มีการทำสิ่งที่ดีก็ยิ่งเพิ่มความศรัทธา และทุกครั้งเมื่อฝ่าฝืนทำในสิ่งที่ชั่ว ความศรัทธาก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน และที่ว่าการศรัทธานั้นอยู่ที่หัวใจมีหลักฐานจากคำตรัสของอัลลอฮ์    ในซูเราะฮ์ อัลฮุจรอต อายะห์ที่ 14 ว่า



“....การศรัทธายังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน...

          และหลักฐานที่ว่าการกระทำรวมอยู่ในชื่อที่เรียกว่า อีมานด้วย ดังที่ อัลลอฮ์ ทรงเรียกการกระทำว่าอีมาน  ในคำตรัสของพระองค์จากซูเราะห์ อัลบะกอรอฮ์  อายะห์ที่ 143 ว่า

และใช่ว่าอัลลอฮ์นั้นจะทำให้การศรัทธาของพวกเจ้าสูญไปก็หาไม่ ...

         หมายความว่า :  การปฏิบัติละหมาดของพวกเขาที่เคยผินไปยังบัยติลมักดิส พระองค์ได้เรียกการทำละหมาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติ อีมาน ในอายะห์นี้

 และมีหลักฐานจากฮะดีษว่า อีมานนั้นมีทั้งที่หัวใจ วาจาและร่างกาย คือ คำกล่าวของท่านร่อซูล     ที่ว่า

(الإِيمَانُ بِضْعٌ وَسَبْعُونَ أَوْ بِضْعٌ وَسِتُّونَ شُعْبَةً  , فَأَفْضَلُهَا قَوْلُ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَأَدْنَاهَا إِمَاطَةُ الأَذَى عَنْ الطَّرِيقِ وَالْحَيَاءُ شُعْبَةٌ مِنْ الإِِيمَان)
(رواه مسلم)

การอีมานนั้นมีเจ็ดสิบกว่าแขนง ที่ประเสริฐสุดคือ การกล่าว    لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ    ต่ำสุด คือ การขจัดอันตรายให้พ้นจากทางสัญจร

และความละอายนั้นเป็นแขนงหนึ่งของการศรัทธา

(บันทึกโดย มุสลิม )

ท่านร่อซูล   ได้กล่าวอีกว่า
(مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ
وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِِيمَانِ)
(رواه مسلم)

 “ใครที่พบเห็นของชั่วใดๆแล้วเขาก็จงทำการขัดขวางความชั่วนั้นด้วยมือของเขา  หากไม่สามารถก็ให้ใช้วาจา
และยังไม่สามารถก็ด้วยใจ และนี่แหละเป็นการศรัทธาที่ต่ำที่สุด

          ซึ่งในฮะดีษบทนี้แสดงให้รู้ว่า การศรัทธานั้นด้วยใจ ด้วยวาจา ด้วยร่างกาย ทุกส่วน และการศรัทธานั้นมีลดมีเพิ่ม
 
และมีหลักฐานที่ว่าการศรัทธานั้นจะเพิ่มโดย การทำความภักดีต่ออัลลอฮ์   คือ คำตรัสของพระองค์ที่อยู่ใน ซูเราะฮ์ อัลอัมฟาล อายะห์ที่  2 ความว่า

 “และเมื่ออายะฮ์ต่างๆของพระองค์ได้ถูกอ่านแก่พวกเขา อายะฮ์เหล่านั้นก็เพิ่มพูลความศรัทธาแก่พวกเขา...

รู่ก่นต่างๆของอีมานตามฮะดีษของญิบรีลอลัยฮิสสลาม มีอยู่ 6  ประการด้วยกัน คือ

1. การศรัทธาต่ออัลลอฮ์
2. การศรัทธาต่อบรรดามลาอิกะฮ์
3. การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์
4. การศรัทธาต่อบรรดาศาสนฑูต
5. การศรัทธาต่อวันปรโลก
6. การศรัทธาต่อการกำหนดลิขิตทั้งดีและชั่วของพระองค์
           และมีหลักฐานบ่งบอกไว้ในอัลกุรอานถึงเรื่องรู่กุ่นต่างๆ  คือคำตรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ที่อยู่ใน ซูเราะฮ์ อัลบะกอรอฮ์ อายะห์ที่ 177 ว่า

หาใช่คุณธรรมไม่การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทิศตะวันออก และทิศตะวันตก แต่ทว่าคุณธรรมนั้น

คือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และบรรดามลาอิกะฮ์  และบรรดานบีทั้งหลาย ...

          และคำตรัสของอัลลอฮ์ ในซูเราะฮ์ อัลกอมัร อายะห์ที่ 49 ความว่า

แท้จริงทุกๆสิ่งนั้นเราสร้างมันมาตามกำหนดลิขิต

           รู่ก่นต่างๆทั้งหมดนี้บรรดารอซูลและหลักศาสนาในแต่ละยุคมีความเห็นตรงกันทั้งหมด เป็นเอกฉันท์ และการศรัทธาของบุคคลนั้นจะยังไม่ครบสมบูรณ์ จนกว่าเขาจะต้องเชื่อมั่นในรู่ก่นต่างๆทั้งหมด และถ้าใครที่ไม่ยอมรับข้อหนึ่งข้อใดของรู่ก่นเหล่านั้น  เขาก็หลุดพ้นออกจากวงจรของอีมานแล้ว สู่แนวทาง (กุฟุร)ของผู้ปฏิเสธศรัทธา ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้พ้นเรื่องนี้ด้วยเถิด

สรุปความหมายของการอีมาน

1. การอีมานต่ออัลลอฮฺ
           การอีมานต่ออัลลอฮ์นั้นหมายความว่า มีความเชื่อมั่นอย่างมั่นคงว่า อัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงครอบครองทุกสิ่งอย่าง ทรงเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นพระองค์จึงมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพเชื่อฟังภักดีแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และพระองค์ทรงมีคุณลักษณะที่เพรียบพร้อมที่สุด หาข้อบกพร่องใดๆไม่ได้เลย  โดยที่จะต้องรักษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

2. การอีมานต่อบรรดามลาอิกะฮ์
          การอีมานต่อบรรดามลาอิกะฮ์ นั้นหมายความว่า        มีความเชื่อมั่นอย่างคงมั่นว่าอัลลอฮ์  มีเหล่ามลาอิกะฮ์ สำหรับพวกเขาอยู่ในโลกของความเร้นลับคอยรับใช้พระองค์ พระองค์ทรงบังเกิดมลาอิกะฮ์มาจากรัศมี พวกเขาไม่กินไม่ดื่ม มีความสามารถจำแลงกายได้  เป็นผู้อยู่ในบรรดาบ่าวที่ได้รับการให้เกียรติ ไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และจะกระทำตามที่ถูกสั่งใช้ ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนของมลาอิกะฮ์นอกจากอัลลอฮ์     เท่านั้น   แต่ละท่านนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์

3. การอีมานต่อบรรดาคัมภีร์ต่างๆ
         การอีมาต่อบรรดาคัมภีร์ คือ การเชื่อมั่นศรัทธาอย่างคงมั่นว่า สำหรับอัลลอฮ์นั้น มีคัมภีร์อยู่หลายฉบับ ที่พระองค์ทรงประทานให้มากับบรรดานบีและร่อซูลของพระองค์ ซึ่งเป็นคำตรัสของพระองค์โดยแท้จริงในนั้นมีทั้งแสงสว่างและทางนำที่ถูกต้อง  อันได้แก่ อัตเตารอฮ์ อัลอินญีล  ซะบูร คัมภีร์เหล่านั้นได้ถูกบิดเบือน และยกเลิกหมด ยกเว้น คัมภีร์อัลกุรอาน เท่านั้นที่พระองค์ทรงรักษาไว้ ปราศจากการบิดเบือนและเสริมแต่ง

4. การอีมานต่อบรรดาร่อซูล
          การอีมานต่อบรรดาร่อซูลนั้นคือการเชื่อมั่นศรัทธาอย่าง หนักแน่น ว่า อัลลอฮ์  นั้นได้ทรงส่งบรรดาร่อซูลมาในทุกประชาชาติ เพื่อทำการเชิญชวนสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ พร้อมทั้งขจัดสิ่งเคารพบูชาอื่นให้หมดไป เชื่อมั่นต่อความมีสัจจะของบรรดาร่อซูล มีความยำเกรง และมีความซื่อสัตย์เป็นที่ไว้ใจได้ พวกเขาได้ทำหน้าที่เผยแพร่อย่างชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานจากอัลลอฮ์ ให้กับมนุษย์ชาติบนโลก ซึ่งบรรดาร่อซูลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดในการเป็นพระเจ้า หรือการที่จะมีส่วนถูกเคารพบูชา หากแต่ว่าพวกเขาเป็นปุถุชนธรรมดาทั่วไป มีเจ็บป่วย มีตาย ต้องรับประทานอาหารและอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องศรัทธาในเรื่องของบรรดาร่อซูลโดยคร่าวๆ และต้องศรัทธาอย่างละเอียด ในรอซูลที่มีเรื่องราวบอกไว้อย่างชัดเจน

5. การศรัทธาต่อวันปรโลก
          การอีมานต่อวันปรโลกนั้น คือ การเชื่อมั่นต่อเรื่องราวของวันกิยามะฮ์ การศรัทธาต่อวันปรโลก เชื่อมั่นอย่างหนักแน่น ว่าอัลลอฮ์  ทรงบอกเล่าเรื่องราวต่างๆไว้ในอัลกุรอาน และท่านรอซูล ได้บอกเรื่องราวไว้ในฮะดีษของท่าน จากสิ่งที่จะมีขึ้นหลังจากที่มนุษย์ได้ตายไปแล้ว เป็นการสอบสวนในกุบูร และการฟื้นคืนชีพ การชุมนุมในทุ่งราบ เรื่องบัญชีบาปบุญ การคิดบัญชีสอบสวน ตราชั่ง สระน้ำ สะพาน  การขอความช่วยเหลือ สวรรค์-นรก  ตลอดจนสิ่งที่อัลลอฮ์ ได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้กับชาวสวรรค์ และชาวนรกทั้งหมด  รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนวันกิยามะห์ ที่เป็นสัญญาณเล็กและสัญญาณใหญ่

6. การอีมานต่ออัลกอดัร
          การอีมานต่อกอดัร คือ การเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหนักแน่นว่า อัลลอฮ์ ทรงรอบรู้สิ่งทิ่เกิดขึ้นแล้วและสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และได้ทรงบันทึกไว้ใน(เลาฮิลมะฮ์ฟูซ )แผ่นจารึก พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงสร้างทุกสิ่งอย่าง ทรงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทุกสิ่ง และพระองค์ทรงกำหนดลิขิตทั้งที่ดีและไม่ดีไว้ ทรงสร้างให้มีขึ้นทั้งทางหลงและทางที่ถูกต้อง ความทุกข์ยากและความหรรษา ซึ่งจุดจบต่างๆและเครื่องยังชีพทั้งหลายทั้งปวง อยู่ในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์ทั้งสิ้น


 ..........................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น