วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2560

การแสดงรองเง็ง


การแสดงรองเง็ง
           รองเง็ง  เป็นศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของไทยมุสลิมในแถบสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเมืองต่างๆของมาเลเซียตอนเหนือ ล้วนเป็นที่นิยมทั่วไปและแพร่ไปถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการเต้นรำที่มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และการแต่งกายคู่ชายหญิง
          กล่าวกันว่า การเต้นรองเง็งสมัยโบราณเป็นที่นิยมในบ้านขุนนางหรือหรือเจ้าเมืองในแถบสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ที่บ้านพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2439-2448) มีการฝึกรองเง็งโดยหญิงสาวซึ่งเป็นข้าทาสบริวารฝึกรองเง็ง เพื่อไว้ต้อนรับแขกเหรื่อในงานรื่นเริงหรืองานพิธีต่างๆเป็นประจำ

ผู้เต้นรองเง็งส่วนใหญ่แต่งกายแบบพื้นเมือง โดย

             ผู้ชาย   สวมหมวกหนีบไม่มีปีก หรือที่เรียกหมวกแขกสีดำ หรือที่ศีรษะอาจจะสวม ชะตางันหรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิมก็ได้ นุ่งกางเกงขากว้างคล้ายกางเกงขาก๊วยของคนจีน ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้โสร่งแคบๆยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกง เรียก ผ้าสิลินังหรือ ผ้าซาเลนดังมักทำด้วยผ้าซอแก๊ะ ถ้าเป็นเจ้านายหรือผู้ดีมีเงินมักเป็นผ้าไหมยกดอกดิ้นทองดิ้นเงิน ฐานะรองลงมาใช้ผ้าไหมเนื้อดีตาโตๆ ถัดมาเป็นผ้าธรรมดา
             ผู้หญิง  ใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอก เรียกเสื้อ บันดงลักษณะเสื้อแบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทองเป็นระยะ สีเสื้อสดสวยและเป็นสีเดียวกับ ผ้าปาเต๊ะยาวอหรือ ผ้าซอแก๊ะ”  ซึ่งนุ่งกรอมเท้า นอกจากนั้นยังมีผ้าคลุมไหล่บางๆสีตัดกับเสื้อที่สวม
เครื่องดนตรี / วิธีบรรเลง
ดนตรีที่ใช้บรรเลงมี รำมะนา ฆ้อง และไวโอลิน ปัจจุบันยังเพิ่มกีตาร์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการให้จังหวะชัดเจนและไพเราะขึ้นกว่าเดิม ดนตรีรองเง็งถ้าประกอบเป็นวงใหญ่จะมีความไพเราะและชวนฟังมาก

รำมะนา 
  ฆ้อง
   ไวโอลิน 

  กีตาร์

              สำหรับวิธีบรรเลงนั้นเป็นเพลงจังหวะรองเง็ง ซึงมีผู้รู้จักและนิยมเต้นส่วนใหญ่ มีจำนวน 7 เพลง คือ เพลงลาฆูดูวอ เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะบีซัง เพลงซินตาซายัง เพลงอาเนาะดีดิ เพลงมะอีนังชวา และเพลงมะอีนังลามา เพลงที่ยืนโรงและรู้จักกันดีมีสองเพลง คือ เพลงลาฆูดูวอและเพลงมะอีนังลามา เป็นเพลงที่เต้นกันมาตั้งแต่โบราณ ส่วนเพลงเพลงมะอีนังชวา ปูโจ้ะบีซัง ลานัง และจินตาซายัง เหมาะแสดงหมู่ ส่วนเพลงลาฆูดูวอและมะอีนังลามา เหมาะสำหรับผู้ชำนาญและแสดงลวดลาย
              การเต้นรองเง็งส่วนใหญ่มีชายและหญิงฝ่ายละ 5 คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่งและหญิงแถวหนึ่ง ยืนห่างกันพอสมควร ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการเต้นแบบนี้ต้องใช้ลีลามือ เท้า และส่วนลำตัว เคลื่อนไหวไปข้างหน้าข้างหลังให้เข้ากับดนตรี อีกประการหนึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่า ความสวยงามและความน่าดูของศิลปะรองเง็งอยู่ที่การใช้เท้าเต้นให้เข้ากับจังหวะ ส่วนการร่ายรำเป็นเพียงองค์ประกอบ
โอกาสที่ใช้แสดง เดิมรองเง็งใช้แสดงในการต้นรับแขกเมืองในงานพิธีต่างๆ ต่อมานิยมแสดงในงานรื่นเริง งานประจำปี

ขนมธรรมเนียมการแสดง
     เมื่อเริ่มการแสดงฝ่ายชายโค้งฝ่ายหญิง การเต้นรองเง็งของไทยมุสลิมเป็นการเต้นที่สุภาพ ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกัน แต่มีความสนุกสนาน ไม่ถึงขั้นจูบกันดังรองเง็งชวา ดังบทพระราชนิพนธ์ข้างต้น
เพลงรองเง็ง
                        เพลงรองเง็งมีผู้รู้จังหวะและนิยมเต้นส่วนใหญ่มีจำนวน  7  เพลง  คือ  เพลงลาฆูดูวอ,เพลงลานัง,เพลงปูโจ๊ะปีซัง,เพลงซินตาซายัง,เพลงอาเนาะดีดิ,เพลงอีนังชวาและเพลงมะอีนังลาวา  เพลงที่ยืนโรงและรู้จักกันดีมี  2  เพลง  คือ  เพลงลาฆูดูวอ และเพลงมะอีนังลาวา  เป็นเพลงที่เต้นกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ส่วนเพลงมะอีนังชวา  เพลงปูโจ๊ะปีซัง  เพลงลานัง  และจินตาซายัง  เหมาะสำหรับแสดงหมู่  ส่วนเพลงลาฆูดูวอ และมะอีนังลามา เหมาะสำหรับผู้ชำนาญ  และแสดงลวดลาย
                        การเต้นรองเง็งส่วนใหญ่มีชาย  และหญิงฝ่ายละ  5  คน  โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งยืนห่างกันพอสมควร  ดังที่กล่าวแล้วว่าการเต้นแบบนี้ต้องใชลีลามือเท้าและส่วนลำตัวเคลื่อนไหวไปข้างหน้าข้างหลังให้กับดนตรี  อีกประการหนึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่า  ความสวยงาม  และความน่าดูของศิลปะรองเง็งอยู่ที่การใช้เท้าเต้นให้เข้าจังหวะ  ส่วนการร่ายรำเป็นการเพียงองค์ประกอบ

เนื้อเพลงและจังหวะการเต้น
         เกี่ยวกับเนื้อเพลงและลักษณะการอธิบายลักษณะการเต้นที่จะแนะนำต่อไปนี้  ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ฝึกรองเง็งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดยะลา  ดังเช่น
         1.เพลงลาฆูดูวอ  เพลงนี้เป็นเพลงท่าเต้น  ถ้าจะแปลก็หมายถึงเพลงที่สองไม่มีความหมายมากมายนัก  จังหวะการเต้นเมื่อดนตรีขึ้นเพลง  ฝ่ายชายจะโค้งฝ่ายหญิง  แล้วสองฝ่ายจะเดินมากลางวงยืนหันหน้าเข้าหากัน  และเริ่มด้วยการเล่นเท้าอยู่กับที่  จากนั้นแสดงลวดลายด้วยการเต้นเท้าเข้าหากัน  เต้นถอยหลัง  และเต้นตามกัน  ฝ่ายหญิงรุกชิดๆกัน  หญิงจะเป็นฝ่ายถอยและหมุนจนเกือบจบเพลง  เพลงจะเปลี่ยนเป็นจังหวะเร็ว  ทุกคู่เปลี่ยนท่าเต้น  ถึงตอนนี้ ใครไม่ชอบจังหวะเร็วจะเลิกก่อนก็ได้ ใครที่ถนัดเต้นก็เต้นต่อไปจนจบเพลง  ความสวย  และความน่าดูของเพลงนี้อยู่ตรงตอนจังหวะเร็วนี้เอง
          2.เพลงลานัง  ความหมายของชื่อเพลงนี้  หมายถึงน้ำที่สะอาดที่ไหลหยด  หรือหมายถึงน้ำตาที่ไหลด้วยความปลื้มปิติ  จังหวะการเต้น  เพลงลานัง  มี  2  จังหวะ  คือจังหวะช้า  และเร็ว  ดนตรีเล่นซ้ำสองเที่ยว  เร็วสองเที่ยว  จังหวะเป็นการเต้นทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน  และนั่งลงในจังหวะเร็วทั้งคู่นั่งสลับกัน ฝ่ายชายตบมือ  ฝ่ายหญิงนาดแขนให้เข้าจังหวะเพลง และหมุนกลับในท่อน  2  ของจังหวะเร็ว  จบจังหวะเร็ว  แล้วขึ้นจังหวะช้าสวนกันไปมา   นั่งสลับจนจบเพลงความสวยงาม  และน่าดูของเพลงนี้อยู่ตรงตอนนั่งและหมุนตัวกลับสลับกัน
          3.เพลงปูโจ๊ะปิซัง  ความหมายชื่อเพลงหมายถึง  ยอดตองเปรียบเหมือนยอดแห่งความรักที่กำลังสดชื่นจังหวะการเต้น  เมื่อดนตรีขึ้นเพลงแล้ว  ฝ่ายชายจะโค้งฝ่ายหญิงให้ตรงกับจังหวะท่าเล่นเท้ากับที่  เมื่อหมดจังหวะเล่นเท้า ฝ่ายชายจะหมุนตัวหันหลังไปคนละฟากกับฝ่ายหญิงพอดี  ถึงจังหวะท่าเล่นเท้ากับที่  ฝ่ายหญิงและชายจะเล่นเท้าพร้อมกัน  จบเพลงจะหมุนตัวเต้นสวนกันไปมา  และมาได้จังหวะเล่นเท้าในระยะชิดกันสลับกันจนจบเพลง   เพลงนี้เป็นเพลงบังคับการเล่นเท้าในไปในตัวถึงตอนเล่นเท้ากับที่จะเต้นไปมาด้วย  ฉะนั้น ผู้จะเต้นเพลงนี้ต้องใช้ความจำบทเพลงด้วย  เพราะเพลงนี้เป็นเพลงบังคับการเต้นให้ถูกตามแบบ  เต้นเปะปะไม่ได้  ความน่าดูของปูโจ๊ะปิซังอยู่ที่จังหวะเล่นเท้า  และการหมุนตัว
         4.เพลงจินตาซายัง  ความหมายของชื่อเพลงนี้  หมายถึง  ความสำนึกในความรักอันดูดดื่ม  จังหวะการเต้นจะเริ่มต้นด้วยเพลงช้า  2  เที่ยว  แล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะเร็ว  ฝ่ายชายนั่งตบมือ  ฝ่ายหญิงเดินวนรอบฝ่ายชาย จบเพลงจังหวะเร็วแล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะช้า  ฝ่ายชาย  และหญิงเปลี่ยนท่าเต้นอยู่กับที่เช่นเดิม  หลังจากนั้นดนตรีเปลี่ยนเป็นจังหวะเร็ว  ฝ่ายหญิงนั่งตบมือ  ฝ่ายชายเดินวนรอบฝ่ายหญิง  จบจังหวะเร็วแล้วก็เต้นจังหวะอยู่กับที่เช่นเดียวกัน  ผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้จนจบเพลง
           5.เพลงอาเนาะดีดิ  ความหมายของชื่อเพลง หมายถึง  ลูกบุญธรรม  หรือลูกสุดที่รักจังหวะการเต้น  เริ่มด้วยเพลงจังหวะเร็ว  ต่างฝ่ายต่างเต้นเข้าหากัน  เมื่อพบกันกลางวงต่างหมุนตัวกลับตรงจังหวะเพลงพอดี  เสร็จแล้วต่างฝ่ายต่างเต้นถอยกลับที่เดิม  เต้นเข้าหากันอีกเมื่อถึงกลางวงต่างหมุนตัวหันหน้าเข้าหากัน  แล้วถอยสลับไปคนละที  เริ่มต้นใหม่เหมือนเดิม
           6.เพลงมะอีนังชวา  ความหมายของชื่อเพลง  หมายถึงแม่นม  หรือพี่เลี้ยงชาวชวา  เพลงและท่ารำนั้นเดิมมาจากชวา จึงเรียนมะอีนังชวา  จังหวะการเต้น  เมื่อเริ่มเพลงฝ่ายชาย และหญิงใช้มือแสดงท่ารำนิดหน่อย  เพลงนี้จังหวะเนิบนาบมาก  ทั้งสองฝ่ายรำเข้าหากันที่กลางวงเป็นครึ่งวงกลม  และถอยหลังกลับ  เท้าเต้น  และมือรำเข้ากลางวงซ้ายทีขวาทีจนจบเพลงความน่าดูของเพลงนี้ตรงเข้าครึ่งวงกลม  และถอยหลังกลับ
           7.เพลงมะอีนังลามา  ความหมายของชื่อเพลง  หมายถึง แม่นม หรือพี่เลี้ยงเป็นเพลงเก่าแก่ (ลามา  หมายถึง  เก่าแก่) แต่บางท่านบอกว่าเพลงนี้ยังมีชื่อ กึมบังจีนาหมายถึงดอกพุดกำลังแย้มกลีบบาน  จังหวะการเต้น  เมื่อดนตรีขึ้นเพลง  ฝ่ายชายจะโค้งคู่เต้นพร้อมกับมอบผ้าเช็ดหน้าให้แก่ฝ่ายหญิง  พร้อมกับขอผ้าคลุมไหล่ของฝ่ายหญิงมาคลุมไหล่ตนเอง  จากนั้นก็วาดลวดลายด้วยการต้อนคู่เต้น  ฝ่ายหญิงจะใช้ผ้าเช็ดหน้าจับสองชายไว้  ขณะเดียวกันก็เต้นหลบ  เพราะฝ่ายชายกำลังต้อน  และเต้นป้อ  ส่งสายตาแบบเจ้าชู้  เพลงนี้ฝ่ายชายที่เต้นเก่ง  และชำนาญจะวาดลวดลายต้อนฝ่ายหญิงน่าดูทีเดียว

                        ถ้าจะแบ่งระดับ   หรือประเภทรองเง็ง  แบ่งได้ดังนี้
                        ก.ประเภทที่  1   แบบผู้ดีตระกูลสูง  จะเน้นความสุภาพ  ความอ่อนช้อย
                        ข.ประเภทที่  2 แบบชนชั้นกลาง   เต้นไม่หยาบโลน  หรือไม่สุภาพจนเกินไป  แต่รักษาศิลปะไว้เต็มที่
                        ค.ประเภทที่  3   แบบชนชั้นต่ำ        ออกหยาบโลน  มิได้เน้นศิลปะเหมือนรองเง็งเมืองมารุตในบทพระราชนิพนธ์ ดังกล่าวข้างต้น

                        หลังสงครามโลกครั้งที่  2  โดยเฉพาะบริเวณสี่จังหวัดภาคใต้  ชาวบ้านขายยางพาราร่ำรวย  เพราะสมัยนั้นราคายางพาราสูงมาก  ตกกลางคืนชาวบ้านสนุกสนานกันด้วยการเต้นรองเง็งในภาคใต้  มีคณะรำวงกันคับคั่ง  ปัจจุบันการเต้นรองเง็ง เป็นที่นิยมของไทยมุสลิม  มักมีการแสดงยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น